เราคงสังเกตได้ว่าประเทศไทยที่เราอาศัยอยู่ร้อนขึ้นทุกวัน ๆ เพราะทั้งโลกกำลังเข้าสู่ “ภาวะโลกเดือด” ที่ทำให้รู้สึกว่าการต้องใช้ชีวิตนอกบ้านในช่วงกลางวันเป็นความทรมานอย่างหนึ่ง ทั้งโลกจึงต้องระดมสมองหาวิธีให้โลกไม่ร้อนเกินไปกว่านี้
สาเหตุของโลกเดือดมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) โดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่ปล่อย GHG ปริมาณมหาศาลในแต่ละปี เรื่องสิ่งแวดล้อมจึงไม่ใช่แค่วาระแห่งชาติของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นวาระของโลก ทำให้ไทยจะมีการยื่นร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ พ.ร.บ. Climate Change ในกลางปีนี้ที่มีเป้าหมายให้ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ได้ภายในปี 2065 ซึ่งจะต้องกระทบกับการดำเนินการของภาคเอกชนมากน้อยต่างกันไป
ทำไมต้องปล่อย GHG เป็นศูนย์?
ก่อนจะเข้าเรื่อง พ.ร.บ. Climate Change มาท้าวความกันสักหน่อยว่าจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทั้งโลกต้องใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอยู่ตรงไหนกัน
การปล่อย GHG เป็นศูนย์และความพยายามลดภาวะโลกร้อนเป็นความรับผิดชอบร่วมกันทั้งโลก จากข้อตกลงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กลายมาเป็นข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่เริ่มมาจากการประชุม COP21 ในประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี 2015
ใจความหลักของข้อตกลงปารีส พูดง่าย ๆ คือ ทุกประเทศจะต้องช่วยกันรักษาค่าเฉลี่ยอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้น เกินกว่า 1.5-2 องศาเซลเซียส จากปี ค.ศ. 1850 – 1900 ทำให้แต่ละประเทศต้องกำหนดนโยบายและมาตรการเพื่อลด GHG และต้องจัดส่งทุกปี
สภาพอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงอย่างเข้มข้นขึ้นทุกวัน โดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ประเมินว่า ถ้าทั่วโลกจะบรรลุเป้าหมายไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกิน 1.5- 2 องศาเซลเซียส จะต้องลดการปล่อย GHG อย่างน้อย 22% ในปี ค.ศ. 2030 เทียบกับปี ค.ศ. 2015 ทำให้ทั้งโลกต้องลด GHG อย่างเร่งด่วนซึ่ง พ.ร.บ. Climate Change นี่เองที่จะขับเคลื่อนให้ไทยสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2065
พ.ร.บ. Climate Change กระทบใครบ้าง?
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงใน 14 อุตสาหกรรมที่มีมูลค่า 6.5 ล้านล้านบาท หรือ 37% ของ GDP จะต้องเผชิญกับต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มสูงขึ้นจากการประเมิน คาร์บอนฟุตพริ๊นต์ ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อย GHG และระบบภาษีคาร์บอน
อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ลองมาดูกันว่าอุตสาหกรรมไหนจะอยู่ในระยะไหนกันบ้าง
- ระยะที่ 1 ประกอบด้วยภาคขนส่ง สาธารณูปโภค โลหะและอโลหะ มีมูลค่าอุตสาหกรรมรวม 1.71 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10% ของ GDP
- ระยะที่ 2 ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ยางและพลาสติก การขุดเจาะปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ เหมืองถ่านหิน และ กระดาษและเยื่อกระดาษ มีมูลค่าอุตสาหกรรมรวม 1.77 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10% ของ GDP
- ระยะที่ 3 ประกอบด้วยเกษตรและปศุสัตว์ อาหารและเครื่องดื่ม คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ไฟฟ้า มีมูลค่าอุตสาหกรรมรวม 3.02 ล้านล้านบาท คิดเป็น 17% ของ GDP
- ส่วน GDP อีก 63% จะไม่ได้รับผลกระทบ
ภาคธุรกิจจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน?
ภาคธุรกิจจะได้รับผลกระทบในการดำเนินงานจากการเปลี่ยนแปลง 3 ข้อหลัก
จัดทำบัญชี GHG ภาคบังคับ
การเปลี่ยนแปลงหลักจะเกิดขึ้นจากการที่หน่วยงานรัฐจะมีอำนาจในการขอข้อมูลการปล่อย GHG จากเดิมที่การตรวจวัดระดับการปล่อย GHG เป็นความสมัครใจของธุรกิจและจะเผยแพร่ในรายงานประจำปีของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น
ในข้อนี้จะกระทบกับ 5 กิจกรรมที่ต้องรายงาน GHG ได้แก่ การใช้เชื้อเพลิง การผลิต การเกษตร ป่าไม้และการใช้ประโยชน์จากที่ดิน และการจัดการของเสีย
ธุรกิจที่ต้องรายงานจะเผชิญกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นในรูปแบบค่าใช้จ่ายในการจ้างที่ปรึกษาเพื่อวัดระดับ GHG และประเมินคาร์บอนฟุตพริ๊นต์ขององค์กร (CFO) เป็นประจำปีละ 1 ครั้ง โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 30,000 บาท บวกกับการประเมินคาร์บอนฟุตพริ๊นต์ผลิตภัณฑ์ (CFP) ที่ต้องประเมิน 2 ปี 1 ครั้ง
ในส่วนนี้ ภาครัฐอาจมีมาตรการสนับสนุนค่าใช้จ่ายผ่านการให้เงินสนับสนุนหรือนำค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีได
กองทุนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ปัจจุบันหน่วยงานของรัฐสนับสนุนโครงการลด GHG ของภาคธุรกิจได้ผ่านเครื่องมือที่อยู่ในอำนาจของหน่วยงานต่าง ๆ เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการยกเว้นภาษีผ่าน BOI การให้เงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าของกรมสรรพสามิต และสนับสนุนโครงการพลังงานหมุนเวียนผ่านกองทุนพัฒนาไฟฟ้าที่ให้เฉพาะหน่วยงานรัฐ
การมีกองทุนฯ จะช่วยให้การสนับสนุนการลด GHG ครอบคลุมมากขึ้นในทุกอุตสาหกรรมทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน กองทุนฯ ยังมีบทบาทในการสนับสนุนการลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีส่วนสำคัญในการลด GHG ซึ่งประเทศไทยตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 68% ในปี ค.ศ. 2040 และ 74% ปีค.ศ. 2050
กลไกกำหนดราคาคาร์บอน
ในเรื่องกลไกกำหนดราคาคาร์บอนมี 2 อย่างที่จะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม คือ ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading System: ETS) และภาษีคาร์บอน
ETS เป็นตลาดคาร์บอนภาคบังคับที่ใช้ในสหภาพยุโรปที่กำหนดให้ผู้ประกอบการที่ปล่อบ GHG จะต้องส่งมอบสิทธิในการปล่อย GHG ต่อรัฐบาลทุกปี สิทธินี้จะมาจากการซื้อขายหรือประมูลกันระหว่างผู้ประกอบการ
ส่วนภาษีคาร์บอน ภาคอุตสาหกรรมต้องเสียภาษีตามปริมาณ GHG ที่ประเมินจากวัฏจักรในการผลิตและส่งสินค้า จัดเก็บได้ทั้งสินค้าที่ผลิตภายในประเทศและสินค้านำเข้า เหมือนกับมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนยุโรป (EU-CCBAM)
อย่างหนึ่งที่น่ากังวลอยู่ที่การนำมาตรการทั้ง ETS และภาษีคาร์บอนมาปรับใช้ด้วยกันจะทำให้เกิดต้นทุนที่ทับซ้อนสำหรับภาคธุรกิจ ควรกำหนดให้ค่าใช้จ่ายจาก ETS หรือภาษีคาร์บอนสสามารถนำไปลดหย่อนค่าใช้จ่ายของอีกมาตรการหนึ่งได้
ผู้ประกอบการจะเตรียมรับมือยังไงดี?
จากผลกระทบที่พูดทำให้รัฐบาลจะเข้ามามีส่วนดูแลกับมาตราการลด GHG ของธุรกิจอย่างเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น กลายเป็นมาตรฐานใหม่ที่ภาคเอกชนจะต้องทำตาม ทำให้มีหลายข้อที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมรับมือไว้ก่อนจะดีกว่า แม้คาดว่าร่างพ.ร.บ. Climate Change จะต้องใช้ระยะเวลา 1 – 2 ปี เพื่อพิจารณาในรายละเอียด
รายงานประเมิน GHG เป็นมาตรฐานใหม่ เหมือนงบการเงิน
อย่างที่พูดถึงไปแล้วว่าธุรกิจอาจถูกขอข้อมูลการประเมินคาร์บอนฟุตพริ๊นต์ขององค์กรและผลิตภัณฑ์ที่จะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ แม้ว่าตอนนี้จะมีการรายงานแต่ก็เป็นแบบสมัครใจ แต่ในอนาคตการรายงานการตรวจวัด GHG อาจกลายเป็นข้อบังคับเหมือนการรายงานงบการเงิน โดยมีชื่อว่า IFRS S1 และ S2 ที่จัดทำโดย International Sustainability Standards Board (ISSB)
ไม่ใช่แค่ในไทยเท่านั้น แต่มาตรฐานนี้อาจถูกนำมาใช้ในหลายประเทศ ปัจจุบัน สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น แคนาดาและออสเตรเลียก็กำลังศึกษาแนวทางอยู่เช่นเดียวกัน ยิ่งทำให้มีน้ำหนักขึ้นไปอีกว่ากลุ่มธุรกิจอาจต้องมีหน้าที่รับิดชอบเพิ่มมาอีกหนึ่งอย่าง นั่นก็คือรายงานการตรวจวัด GHG
ผู้ประกอบการเลี่ยงไม่ได้ ยังไงก็ต้องลด GHG
ผู้ประกอบการไม่สามารถหลีกเลี่ยงการลด GHG ในกระบวนการผลิตการดำเนินงานได้ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น รวมทั้งยังอาจจะสูญเสียการแข่งขันกับธุรกิจคู่แข่งที่ปล่อย GHG ได้ต่ำกว่าอีกด้วย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยแนะนำให้เตรียมตัวเอาไว้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ในระยะสั้น อาจเริ่มด้วยการใช้คาร์บอนเครดิตที่มีมาตรฐานรับรอง เช่น T-VER (องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก) VCS (VERRA) Gold Standard หรือซื้อใบรองรองพลังงานหมุนเวียน (REC) เพื่อลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากเชื้อเพิลงฟอสซิล
ส่วนในระยะยาว อาจต้องมีการลงทุนในการปรับเปลี่ยนกระบวนการการใช้พลังงานหรือนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาช่วยเพื่อลด GHG ไม่ว่าจะเป็นเปลี่ยนจากเครื่องจักรที่ใช้พลังงานฟอสซิลมาใช้เครื่องจักรพลังงานไฟฟ้า เปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรือ Hybrid ในการขนส่ง ใช้พลังงานหมุนเวียน ใช้วัสดุรีไซเคิล ไปจนถึงการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ อย่างเช่น Carbon Capture Utilization and Storage เชื้อเพลิงไฮโดรเจน
รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของนโยบาย
เพราะเราอยู่กำลังเผชิญกับภาวะโลกเดือดทำให้การลด GHG กลายเป็นวาระเร่งด่วน นโยบายสิ่งแวดล้อมจะเข้มงวดมากขึ้นตลอดเวลา ทำให้อีกหนึ่งโจทย์ของธุรกิจคือการติดตามกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง
อย่างการติดตามนโยบาย EU-CBAM ที่จะมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบในปี 2026 และจะขยายประเภทสินค้ามากขึ้น หรือมาตรการ US-CBAM ที่วุฒิสภากำลังพิจารณาอยู่ที่จะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว
ทั้งหมดที่พูดถึงมานี้ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของภาคเอกชนนับตั้งแต่ตอนนี้ไปที่จะต้องเตรียมตั้งรับให้ดีกับความเปลี่ยนแปลงนโยบายสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น ขณะที่รัฐบาลมีความรับผิดชอบใหญ่ต่อข้อตกลงปารีส ภาคธุรกิจเองก็ต้องปรับตัวและค้นหา Know-How เพื่อจะยืนอยู่ได้ท่ามกลางภาวะที่ต้นทุนสูงขึ้น ต้องคอยจับตาดูกันไปว่า นโยบายของรัฐจะเปลี่ยนแปลงยังไงบ้าง แล้วการดำเนินงานภาคธุรกิจจะมีหน้าตาแตกต่างจากเดิมยังไงเมื่อไทยต้องเป็น Net Zero ให้ได้ภายในอีก 41 ปีข้างหน้านี้
ที่มา – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย