วิเคาระห์อุตสาหกรรมไทยจะคว้าโอกาส ในวันที่โลกแบ่งขั้ว (Decoupling) รุนแรงขึ้นอย่างไร

Close-up of male hands using laptop in home.

ไทยจะคว้าโอกาสจากโครงสร้างการค้าโลกที่เปลี่ยนไปได้ นโยบายส่งเสริมการส่งออกและการปรับตัวของภาคธุรกิจจะต้องสอดคล้องกับบริบทเฉพาะของสินค้าแต่ละประเภท

ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์รุนแรงขึ้น เร่งการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ (Decoupling)

ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และการเมืองระหว่างประเทศรุนแรงขึ้นจากความไว้วางใจกันระหว่างประเทศที่ลดลง โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ และจีน ที่มีแนวโน้มรับมือกับความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ผ่านการพึ่งพาตนเองหรือประเทศพันธมิตรมากขึ้น และกีดกันไม่ให้ประเทศที่มองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงเอาเปรียบและแข่งขันทัดเทียมกันได้ นโยบายระหว่างประเทศในระยะข้างหน้าจึงหันมาเน้นการกีดกันการค้าการลงทุนเพื่อส่งเสริมความมั่นคงของประเทศ โดยเฉพาะการสร้างความแข็งแกร่งของห่วงโซ่การผลิตภายในประเทศและเครือข่ายชาติพันธมิตรเพื่อรักษาระเบียบระหว่างประเทศ นำไปสู่การชะลอกระแสโลกาภิวัตน์และทำให้โลกแบ่งขั้วมากขึ้น

รูปแบบการค้าโลกกำลังเปลี่ยนไป ประเทศเป็นกลางจะมีโอกาสได้ประโยชน์

SCB EIC ศึกษาผลกระทบจากแนวโน้มการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจที่จะรุนแรงขึ้นโดยแบ่งกลุ่มประเทศในโลกออกเป็น 3 กลุ่มตามความใกล้ชิดกับสหรัฐฯ และจีน ผ่านเกณฑ์การจัดกลุ่มประเทศจากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ พบว่าหลังการแบ่งขั้วเศรษฐกิจ รูปแบบการค้าระหว่างประเทศจะเปลี่ยนไป กลุ่มประเทศที่มีขั้วเศรษฐกิจต่างกันจะพึ่งพาการค้าระหว่างกันลดลงและหันมาพึ่งพาประเทศที่มีบทบาทเป็นกลาง (Neutral stance) มากขึ้น ประเทศไทยซึ่งรักษาบทบาทเป็นกลางในเกมภูมิรัฐศาสตร์โลกจะได้รับประโยชน์จากการเบี่ยงเบนทางการค้าและการลงทุน (Trade and investment diversion) จากกลุ่มประเทศที่แบ่งขั้วกันมากขึ้น

ธุรกิจไทยแต่ละประเภทจะได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน

แม้ในภาพรวมการส่งออกไทยมีโอกาสได้รับประโยชน์จากรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนไป แต่ภาคการผลิตของไทยจะได้รับผลกระทบแตกต่างกัน SCB EIC ประเมินผลกระทบภาคอุตสาหกรรมไทยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม (1) กลุ่มที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ โดยสินค้าที่จะได้รับประโยชน์สูงสุด ได้แก่ คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์และส่วนประกอบ (2) กลุ่มที่มีความเสี่ยง ทั้งจากผลกระทบที่สหรัฐฯ หันไปนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่แข่งในภูมิภาคมากขึ้น หรือการแข่งขันรุนแรงกับประเทศที่เป็นกลางอื่น ๆ เช่น สิ่งทอ และอุปกรณ์ไฟฟ้า

ไทยจะคว้าโอกาสนี้ได้ ต้องมีนโยบายส่งเสริมการส่งออกและการปรับตัวธุรกิจเชิงรุก

บางอุตสาหกรรมอาจได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่การผลิตโลก แต่อาจเผชิญความเสี่ยงและการแข่งขันสูง ทั้งนี้ไทยจะสามารถคว้าโอกาสจากโครงสร้างการค้าโลกที่เปลี่ยนไปได้นโยบายส่งเสริมการส่งออกและการปรับตัวของภาคธุรกิจเชิงรุกจะต้องสอดคล้องกับบริบทเฉพาะของสินค้าแต่ละประเภทที่อาจได้หรือเสียประโยชน์แตกต่างกัน แบ่งได้ 4 กลุ่ม คือ

1)  กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตเก่ง แต่แข่งขันสูง : นโยบายภาครัฐควรเน้นพัฒนาความสามารถในการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม และความได้เปรียบในการแข่งขัน ขณะที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัวชูจุดแข็งของสินค้าและเจาะตลาดเป้าหมาย รวมถึงวางกลยุทธ์เพิ่มส่วนแบ่งตลาด และปรับสินค้าให้ทันเทรนด์โลก

2)  กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตเก่ง และการแข่งขันไม่สูง : นโยบายภาครัฐควรสนับสนุนให้ผู้ส่งออกเปิดตลาดใหม่กระจายความเสี่ยง และยกระดับกระบวนการผลิตตามมาตรฐานความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ขณะที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัวลดความเสี่ยงจาก Climate change และลงทุนพลังงานหมุนเวียน

3)  กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตไม่เก่ง แต่การแข่งขันไม่สูง : นโยบายภาครัฐควรให้สิทธิประโยชน์จูงใจให้ดำเนินธุรกิจเดิม แต่ลงทุนเพิ่มศักยภาพการผลิต มุ่งตลาดส่งออกที่มีอยู่ ขณะที่ภาคธุรกิจควรปรับตัวเพิ่มศักยภาพเทคโนโลยีการผลิตและสร้างความเข้าใจในตลาดขั้วสหรัฐฯ และขั้วจีนเพื่อเข้าถึงความต้องการของตลาดได้ดีขึ้น

4)  กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตไม่เก่ง และแข่งขันสูง : นโยบายภาครัฐควรช่วยให้ธุรกิจเปลี่ยนผ่านไปยังภาคการผลิตที่มีศักยภาพในการเติบโตบนห่วงโซ่การผลิตใหม่ได้ ขณะที่ภาคธุรกิจควรเร่งปรับตัวสู่ห่วงโซ่การผลิตใหม่และหาพันธมิตรด้านเทคโนโลยีสนับสนุน

ท่ามกลางความขัดแย้งยังมีโอกาสที่ไทยจะคว้าประโยชน์ได้ หากภาครัฐและภาคธุรกิจตระหนักถึงโลกที่กำลังเปลี่ยนไปรวดเร็วและปรับตัวเชิงรุก เพื่อให้การส่งออกไทยอยู่รอดได้ทั้งในสถานการณ์ “โลกรวมกันเราก็อยู่” หรือแม้ “โลกแยกหมู่ไทยก็ยังรอด”

อ่านเพิ่มเติม 

ที่มา ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)