ยิ่งเป็นผู้ใหญ่ก็ยิ่งคิดถึงวัยเด็ก ‘ธุรกิจของเล่น’ เติบโตดี เพราะผู้ใหญ่หลายคนยังสนุกกับความเป็นเด็ก สร้างรายได้กว่า 1.9 หมื่นล้านบาทและยังสามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนได้ พร้อมๆ กันกับที่ของเล่นไทยสามารถสร้างมูลค่าการส่งออกได้ถึง 8 พันล้านบาท เรามาชวนทำความรู้จักเทรนด์ ‘Kidult’ และสำรวจธุรกิจของเล่นไทยที่กำลังไปได้ดี
รู้จักเทรนด์ ‘Kidult’ ผู้ใหญ่ที่ยังสนุกกับความเป็นเด็ก
เมื่อหลายปีก่อนผู้ใหญ่ที่ชอบเล่นของเล่นมักถูกมองไม่ดี แต่ไม่ใช่อีกแล้วสำหรับตอนนี้ เพราะเทรนด์ ‘Kidult’ ที่มาจากคำว่า Kid (เด็ก) + Adult (ผู้ใหญ่) หรือผู้ใหญ่ที่ยังสนุกกับความเป็นเด็ก ที่หมายความถึงผู้ใหญ่ที่ยังสนุกกับของเล่นหรือของสะสมที่หลายคนอาจจะมองว่าเหมือนกับของเล่นเด็ก
เพราะหลายๆ คนตอนยังเป็นเด็กก็อาจจะไม่มีสิทธิหรือไม่มีเงินเพียงพอจะซื้อของเล่นได้ตามที่ตัวเองต้องการ ทำให้เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ มีความสามารถ มีโอกาสได้เลือกซื้อของเล่นด้วยตัวเอง ประกอบกับ ‘ของเล่น’ หรือ ‘ของสะสม’ ใหม่ๆ ที่กลายเป็นกระแสอย่าง ‘Art Toy’ ก็ทำให้มีผู้ใหญ่หันมาสนใจของเล่นหรือของสะสมมากยิ่งขึ้น
กระแส Art Toy ดันของเล่นไทยไปต่อ
‘กรมพัฒนาธุรกิจการค้า’ วิเคราะห์ว่า กระแส Art Toy พุ่งสูงจากความน่าสนใจในการนำเอาศิลปะจากดีไซเนอร์นักวาดรูปมาผสมกับการตลาดยุคใหม่อย่างการจำกัดจำนวนการผลิตในแต่ละรุ่น สร้างคุณค่าให้สินค้าเป็นที่ต้องการ การบรรจุสินค้าอยู่ในกล่องสุ่มที่ผู้ซื้อต้องลุ้นว่าจะได้ตัวหายากหรือ Secret หรือไม่
โดยดีไซเนอร์นักวาดการ์ตูนของไทยก็ได้เข้าไป มีส่วนสำคัญในการสร้าง Art Toy ที่สะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นไทยและสากล จนกลายเป็นที่ต้องการของ Kidult ในระดับโลกด้วยเช่นกัน
ประกอบกับ Influencer ที่เข้ามาอยู่ในกระแส ทำให้คนทั่วไปอยากจะมีตามบ้าง กลายเป็นกระแสนิยมในตลาดเกิดนักสะสมรุ่นใหม่และเก่า สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าตลอดเวลา และนำไปสู่วงจรการเติบโตอย่างเข้มแข็งในธุรกิจของเล่นในประเทศไทย
ไทยมีธุรกิจ ‘ของเล่น’ เป็นพันแห่ง
และล่าสุด ‘กรมพัฒนาธุรกิจการค้า’ ได้รายงาน บทวิเคราะห์ธุรกิจ พบว่า ‘ธุรกิจของเล่น’ ที่จดทะเบียนจัดตั้งมีจำนวนมากกว่าพันแห่งในประเทศไทย และมีทุนจดทะเบียนมากกว่า 5 พันล้านบาท โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
‘ธุรกิจของเล่น’ มีนิติบุคคลในประเทศไทย 1,093 ราย
- ธุรกิจผลิต 238 ราย
- ธุรกิจขาย 855 ราย
‘ธุรกิจของเล่น’ มีมูลค่าทุนจดทะเบียนกว่า 5,692 ล้านบาท
- ธุรกิจผลิต 2,909 ล้านบาท
- ธุรกิจขาย 2,782 ล้านบาท
‘ธุรกิจของเล่น’ แบ่งเป็น
- บริษัทจำกัดจำนวน 935 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 5,517 ล้านบาท
- ห้างหุ้นส่วน 158 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนทั้งหมด 175 ล้านบาท
ที่น่าสนใจ คือ ก่อนหน้านี้ ‘ธุรกิจของเล่น’ เองก็เจอปัญหาเหมือนหลายๆ ธุรกิจในช่วงโควิด-19 แต่ตอนนี้กลับมาพลิกฟื้นได้อย่างรวดเร็ว เพราะหลายปัจจัย โดยเฉพาะต่างชาตินิยมสั่งซื้อของเล่นจากผู้ผลิตไทยเพราะมีคุณภาพที่ดีเยี่ยม
จนในปี 2566 สามารถส่งออกไปสู่ต่างประเทศได้หลายประเทศ สร้างมูลค่าการส่งออกได้มากถึง 8,776 ล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นต่อเนื่อง เพราะไทยมีข้อได้เปรียบด้านความสมบูรณ์และคุณภาพของวัตถุดิบอย่างไม้และยางพาราที่นิยมนำมาใช้ในการผลิตของเล่น
ธุรกิจของเล่นโตเด่น จัดตั้งธุรกิจเพิ่ม 69% รายได้รวมเกือบสองหมื่นล้าน
นอกจากนั้น ‘กรมพัฒนาธุรกิจการค้า’ ยังพบว่า ‘ธุรกิจของเล่น’ เติบโตโดดเด่น ทั้งสายการผลิตและการขาย ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 มีการจัดตั้งธุรกิจของเล่นใหม่ 57 ราย แบ่งเป็นผลิต 50 ราย และขาย 7 ราย ทั้งหมดเป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) มูลค่าทุนจดทะเบียนรวม 67 ล้านบาท
เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลย้อนหลัง 2 ปี พบว่า ในปี 2566 มีการจัดตั้งธุรกิจของเล่นจำนวน 120 ราย เพิ่มขึ้น 69% จากปี 2565 ขณะที่มูลค่าทุนจดทะเบียน 2,736.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% จากปี 2565
ตลอดปี 2566 ธุรกิจของเล่นสร้างรายได้รวม 19,677 ล้านบาท ทำกำไร 467 ล้านบาท
และ ‘กลุ่มขายของเล่น’ พลิกฟื้นธุรกิจพร้อมสร้างกำไรได้อย่างโดดเด่นจากขาดทุนในปี 2564
- ปี 2564 ขาดทุน 42.25 ล้านบาท
- ปี 2565 กำไร 83.58 ล้านบาท
- ปี 2566 กำไร 175.07 ล้านบาท
สำหรับการลงทุนของต่างชาติใน ‘ธุรกิจของเล่น’ มีมูลค่าการลงทุนในไทย 10,068 ล้านบาท โดยประเทศที่เข้ามาลงทุน มากที่สุด 3 อันดับ คือ
- ฮ่องกง มูลค่าการลงทุน 989 ล้านบาท
- จีน มูลค่าการลงทุน 784 ล้านบาท
- ญี่ปุ่น มูลค่าการลงทุน 541 ล้านบาท
จิ๋วแต่แจ๋ว ธุรกิจของเล่น ไซส์เล็กโตดี
‘อรมน ทรัพย์ทวีธรรม’ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เล่าว่า “ข้อมูลที่น่าสังเกตคือ ธุรกิจขนาดเล็ก (S) เป็นกลุ่มที่มีการจัดตั้งธุรกิจมากที่สุด จำนวน 1,024 ราย แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและโอกาสของ SME ในธุรกิจของเล่นที่ยังเปิดกว้างให้ธุรกิจขนาดเล็กเข้ามาลงทุนช่วงชิงตลาด
โดยจำนวนนี้เป็นกลุ่มขายมากถึง 804 ราย และผลิต 220 ราย สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันที่จะเห็นได้ว่าตลาดของเล่นมีการซื้อขายอย่างคึกคักทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ”
ที่มา Brand Inside