วันที่ 28 มิถุนายน 2567 : รัฐบาลจัดงาน “THACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024” งานประชุมซอฟต์พาวเวอร์ระดับนานาชาติครั้งแรก โดยมีคุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ คุณแพทองธาร ชินวัตร ประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ร่วมคิกออฟขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศอย่างเป็นทางการ โอกาสนี้ ท่านประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ ได้ร่วมเวทีโชว์วิสัยทัศน์ในหัวข้อ “โอกาสประเทศไทยกับความมั่นคงอาหาร” มีคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้าร่วมรับฟังกันอย่างเนืองแน่น ภายใน ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ฮอลล์ 1- 2 ซึ่งท่านประธานอาวุโส ได้กล่าวชื่นชมนายกรัฐมนตรีและคุณแพทองธาร ที่มีความมุ่งมั่นชัดเจนในการดำเนินนโยบายซอฟต์พาวเวอร์สร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ และยินดีให้คำปรึกษากับรัฐบาล เพราะเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะพัฒนาเศรษฐกิจและทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี พร้อมกันนี้ยังได้เสนอการพัฒนาระบบชลประทาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถประเทศในการผลิตสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญมากเพราะเป็นอาหารของมนุษย์
ท่านประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ กล่าวว่า ประเทศไทยเต็มไปด้วยโอกาสเพราะเป็นเมืองเกษตรกรรม ที่มีทั้งข้าว พืชสวน และสมุนไพร ที่ทั่วโลกมีความต้องการและสามารถนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตอาหาร รัฐบาลควรมีนโยบายส่งเสริมการปลูกสมุนไพรให้ปลอดภัยและมีคุณภาพสูงสุด นอกจากนี้ยังมีทุเรียนที่มองว่าตลาดส่งออกทุเรียนยังสามารถเติบโตได้อีก โดยเฉพาะในตลาดจีนที่มีประชากรถึง 1,400 ล้านคน โดยเชื่อว่าแม้จะมีการขยายพื้นที่ปลูกในเวียดนาม ลาว เขมร ก็ไม่เพียงพอที่จะรองรับตลาดนี้ ดังนั้นรัฐบาลควรมีนโยบายส่งเสริมเรื่องของพันธุ์พืชรวมไปถึงการบริหารจัดการ อุตสาหกรรมการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยต้องส่งเสริมตลอดทั้งกระบวนการไปจนถึงการขนส่งจนถึงมือผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับประเทศ แต่อาจจะต้องมีการแก้ไขกฏหมายและการจัดตั้งกองทุนเข้าไปช่วยสนับสนุน ซีพียังเห็นโอกาสด้วยว่าในอนาคตอาหารจะต้องเป็นอาหารสำเร็จรูป มีประโยชน์เหมาะสมกับผู้บริโภคแต่ละคน เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่มีคอเลสเตอรอลสูง โดยใช้อาหารแทนยา และต่อไปประเทศไทยจะต้องไม่ทำแค่เฉพาะเรื่องการปลูกข้าว แต่ต้องคำนึกถึงการทำอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทำเป็นอุตสาหกรรมข้าวสุกสำเร็จรูปเหมือนกับการทานขนมปังในยุโรป อีกตัวคือ ถั่วเหลืองที่สามารถทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ปัจจุบันแม้จะมีการศึกษาเรื่องเซลแต่ยังเป็นเรื่องที่ใช้ระยะเวลากว่าจะสำเร็จ ทั้งนี้ การปลูกถั่วเหลืองยังมีต้นทุนสูงและมีการใช้ยาฆ่าแมลงมาก ดังนั้นควรมองถึงการตัดต่อยีนส์ ไม่ใช่เพื่อการเพิ่มผลผลิต แต่ทำเพื่อลดการใช้ยา ซึ่งในต่างประเทศอย่างในสหรัฐอเมริกามีการทำมานานแล้วหลาย 10 ปี จึงอยากฝากรัฐบาลว่าจะทำอย่างไรเพื่อออกกฏหมายรองรับกับการเปลี่ยนแปลงในยุคนี้
ท่านประธานอาวุโส ย้ำด้วยว่า น้ำเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทย จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาระบบชลประทาน เพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอต่อการเพาะปลูก เนื่องจากประเทศไทยมีภูมิอากาศเหมาะสมต่อการปลูกพืชได้ทั้งปี ถ้ามีน้ำเพียงพอจะทำให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว แต่การทำระบบชลประทานจะต้องคำนึงถึงการเก็บน้ำ การใช้ประโยชน์ การบริหารจัดการน้ำตลอดกระบวนการ รวมไปถึงการส่งน้ำไปถึงชาวบ้านเพื่อทำเกษตรกรรม โดยมองว่าการลงทุนเรื่องน้ำเป็นการลงทุนที่ดีที่สุด และอาจจะให้ผลกำไรที่ดีกว่าการขายไฟฟ้า พร้อมยกตัวอย่างการทำเรื่องน้ำไม่ใช่การขุดบ่อเล็กๆ แต่ต้องทำเป็นบึงขนาดใหญ่ บนบึงสามารถใช้โซล่าเซลผลิตไฟฟ้าสะอาด ในน้ำมีการเลี้ยงปลาโดยหาพันธุ์ปลาที่มีมูลค่าสูง พร้อมฝากรัฐบาลเรื่องการสร้างคน เพื่อเข้ามาบริหารรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น การศึกษาจึงเป็นเรื่องใหญ่ แต่หากสร้างคนไม่ทันให้ดึงคนเก่งจากทั่วโลกมาทำงานและสอนคนไทยแทน อีกทั้ง ยังมองว่าคนไทยเป็นคนเก่ง รู้จักบุญคุณและมีความเสียสละ ซึ่งเป็นความดีพื้นฐาน อีกเรื่องที่สำคัญคือเราต้องยกย่องสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ตาม มีการเปลี่ยนแปลงอีกหลายด้านที่จะทำให้เกิดโอกาสในการสร้างงานอย่างมหาศาล เช่น เรื่องเทคโนโลยี ที่ต่อไปคนทั่วโลกจะมีหุ่นยนต์เป็นของตัวเอง การสร้างหุ่นยนต์จะมีจำนวนที่มากกว่ารถยนต์
“ถ้ารัฐบาลชุดนี้ออกกฏหมายใหม่ ทำเรื่องชลประทาน สร้างคนให้เหมาะสม ถ้าทำไม่ทันก็เชิญคนเก่งมาก่อนมาสอนคนไทย ผมมองว่าเต็มไปด้วยโอกาส ซึ่งผมเชื่อมั่นว่ารัฐบาลชุดนี้จะนำประเทศไทย ให้มีเศรษฐกิจที่รุ่งเรือง ประชาชนอยู่ดีกินดี ผมยินดีให้คำปรึกษารัฐบาล เพราะผมมีความเชื่อมั่นในรัฐบาลชุดนี้ที่จะนำประเทศไทยไปสู่ความก้าวหน้า”