เศรษฐกิจโลกชะลอตัว เศรษฐกิจไทยโตช้า แต่ ‘ธุรกิจเฮลท์แคร์’ ยังมีโอกาส เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติ และคนไทย 32 ล้านคนที่อายุเกิน 40 ปีแล้ว รายงายล่าสุดจาก finbiz by ttb สะท้อนโอกาสของอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ไทย ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและเศรษฐกิจไทยโตช้า แต่ทำไมถึงเป็นแบบนั้น อ่านสรุปจาก Brand Inside
เศรษฐกิจโลกชะลอ เศรษฐกิจไทยโตช้า
ตอนนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจโลก คือ ชะลอตัว : IMF บอกจะขยายตัวแค่ 3.2% เพราะความท้าทายจากภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลก ทำให้ต้นทุนการค้าโลกพุ่งสูง แม้เงินเฟ้อจะมีแนวโน้มดี แต่ดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง และแต่ละประเทศเจอกับปัญหาจีนระบายสินค้าไปทั่วโลก ทำให้ SME แต่ละประเทศอยู่ยากขึ้น
สถานการณ์เศรษฐกิจไทย คือ เติบโตช้า : คาดเติบโต 2.5% แต่กำลังซื้อจะชะลอลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ที่เจอปัญหาหนี้ครัวเรือนเรื้อรัง-ดอกเบี้ยสูง เบิกจ่ายงบล่าช้า ท่องเที่ยวฟื้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้เติบโตช้าและต่ำกว่าศักยภาพ
สถานการณ์นี้กลายเป็นปัจจัยที่ท้าทายต่อการเติบโตของทุกอุตสาหกรรม แต่ก็เป็นโอกาสสำหรับธุรกิจบางอย่าง เช่น ‘เฮลท์แคร์’
ธุรกิจเฮลท์แคร์ เติบโตดีสวนกระแสเศรษฐกิจ
สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ธุรกิจเฮลท์แคร์ยังมีโอกาส คือ
1) กลุ่มเป้าหมายสำคัญของตลาดบริการทางการแพทย์ไทย คือ ‘นักท่องเที่ยวต่างชาติ’ คาดว่าจะเข้ามาประเทศไทยประมาณ 33 ล้านคนในปีนี้
โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวตะวันออกกลางมีสัดส่วนรายจ่ายการแพทย์ที่สูง อีกกลุ่มคือ แรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย จำนวน 2.6 ล้านคน ซึ่งมีประกันตนในสัดส่วน 40%
2) โครงสร้างประชากรไทยช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป ปัจจุบันมีจำนวน 32 ล้านคน แต่ในปี 2031 คาดว่ากลุ่มวัยนี้จะเพิ่มจำนวนเป็น 37 ล้านคน .
จะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้กลุ่มธุรกิจกายภาพบำบัดเติบโต เพราะได้รับแรงหนุนจากโรคเรื้อรังที่ต้องอาศัยการรักษาอย่างต่อเนื่อง เช่น โรคออฟฟิศซินโดรม
ธุรกิจเฮลท์แคร์เติบโตแค่ไหนในปีนี้
– ปี 2024 คาดว่าตลาดบริการทางการแพทย์เอกชนจะมีรายได้เติบโต 4.4 แสนล้านบาท
– รายได้ 72% ของตลาดมาจากโรงพยาบาลเอกชน (พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 75% ตามด้วยภาคตะวันออก 8%)
เทรนด์ธุรกิจที่น่าจับตามีอยู่ 3 กลุ่ม คือ โรงพยาบาลเฉพาะทาง คลินิกเฉพาะทาง และห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ เพราะมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะส่งผลให้คลินิกและโรงพยาบาลเอกชนทั่วไปจะอยู่ยากขึ้น
ดังนั้น เฮลท์แคร์ จึงเป็นเทรนด์เฉพาะทางที่กำลังมาแรง ธุรกิจการแพทย์เฉพาะทางจะกินส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น โดยเติบโตได้ดีกว่า 15% ต่อปี หากเทียบกับในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา
เมื่อเทียบรายได้ระหว่างโรงพยาบาลเอกชนที่เน้นลูกค้าต่างชาติกับเน้นกลุ่มคนไทยแล้ว พบว่าช่องว่างของรายได้จะห่างกันเรื่อย ๆ อย่างเห็นได้ชัด จึงเป็นโอกาสของธุรกิจที่มีกลุ่มลูกค้าเป็นชาวต่างชาติ
ท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ธุรกิจแห่งอนาคตของไทย?
แม้กลุ่ม Hospitality จะเป็นจุดแข็งของประเทศไทย แต่ในเมื่อการขยายตลาดในประเทศมีข้อจำกัด ทำให้ H2H Model หรือ Hospitality to HealthCare กลายเป็นโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจ
โดยควรเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าต่างชาติมากขึ้น และผูกอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ไปกับการท่องเที่ยว ในนามของ การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำไปปรับใช้ได้ ดังนี้
- โฟกัสคุณภาพของนักท่องเที่ยวมากกว่าจำนวน โดยเน้นไปที่กลุ่มต่างชาติเกษียณอายุ และกลุ่มคนทำงาน Digital Nomad (อาชีพยุคใหม่สำหรับคน Work From Anywhere) ประมาณการรายจ่ายต่อหัวอยู่ที่ 80,000-120,000 บาทต่อทริป
- ออกแบบ Customer Journey และวางแผน Medical Tourism Supply Chain อย่างรอบด้าน เช่น ส่งต่อข้อมูลของเราให้กับบริษัททัวร์, แอปพลิเคชัน หรือ Medical Agent จัดเตรียมการเดินทางและการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างประเทศ ในขณะที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลหรือคลินิกเฉพาะทาง ต้องจัดเตรียมที่พักและโปรแกรมการท่องเที่ยวรองรับญาติผู้ป่วยที่เดินทางมาด้วยกัน
ดังนั้น finbiz by ttb จึงระบุว่า เมื่อมองไปข้างหน้า การวางโมเดลธุรกิจในอนาคตจะเป็นไปในรูปแบบ Subscription คือระบบสร้างรายได้หมุนเวียนเพื่อสร้างกลุ่มลูกค้ารายได้ประจำให้กับธุรกิจ
โดยสร้างความต้องการใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มความถี่ในการเข้ารับบริการ เช่น Tele-Medicine บริการการแพทย์ทางไกล รวมทั้งศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นอีกแนวทางที่สามารถสร้างรายได้หมุนเวียนให้กับธุรกิจในระยะยาว และด้วยระบบดูแลสุขภาพของไทยติดอันดับ Top 5 ของโลก และมีต้นทุนค่ารักษาพยาบาลที่สามารถแข่งขันได้
นอกจากนี้ โรงพยาบาลไทยยังมีมาตรฐานระดับโลก บุคลากรทางการแพทย์ที่เก่งและมีการบริการที่ดี จึงมั่นใจได้ว่าประเทศไทยมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะเป็น Medical Hub ได้อย่างแน่นอน
ที่มา BrandInside