ทันทุกข้อมูลข่าวสารเศรษฐกิจการลงทุน กับ CP Business Watch
สำนักเศรษฐกิจและการลงทุนของเครือฯ (Economic and Investment Center) ขอนำเสนอ ข่าว บทความ และบทวิเคราะห์เชิงลึกที่เป็นประโยชน์แก่ผู้บริหารและพนักงานในเครือฯ เพื่อเสริมการตัดสินใจด้านธุรกิจและการลงทุนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจแนวโน้มเศรษฐกิจมหภาค และการลงทุน เพื่อใช้ประกอบการวางแผนกลยุทธ
เศรษฐกิจญี่ปุ่น
‘หุ้นญี่ปุ่น‘ ดิ่งหนักอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ของดัชนี
- ดัชนีนิกเกอิ ปิดตลาดที่ระดับ 35,909.70 จุด ร่วงลง 2,216.63 จุด หรือ -5.81% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค. หุ้นทุกกลุ่มปรับตัวลง นำโดยกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ กลุ่มประกัน และกลุ่มธนาคาร
- มีสาเหตุมาจาก นักลงทุนวิตกกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจเผชิญภาวะถดถอย หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตที่อ่อนแอ และตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานที่สูงเกินคาด
- ในขณะที่ตลาดกำลังวิตกกังวลเรื่องเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย แต่แบงก์ชาติญี่ปุ่นขึ้นดอกเบี้ยมาอยู่ที่ 0.25% ส่งผลให้ตลาดหุ้นโตเกียวร่วงแรงกว่าที่อื่น
- อย่างไรก็ดี ในช่วงตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวลงหนัก แต่ผลตอบแทนของ กองทุนหุ้นญี่ปุ่น ยังทำผลงานเป็นบวกมากกว่า 10% จังหวะเช่นนี้อาจมีแรงขายทำกำไรออกมาก่อน จนกว่ามีปัจจัยใหม่ กลับมาหนุนพื้นฐานให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่น เป็นขาขึ้นรอบใหม่ (กรุงเทพธุรกิจ)
เศรษฐกิจอินเดีย
เศรษฐกิจอินเดียแข็งแกร่ง ดันตลาดหุ้นคึก คาดกำไร บจ.ปีนี้ เติบโต 9.3%
- บลจ. พรินซิเพิล เผยตลาดหุ้นอินเดียรับเศรษฐกิจที่เติบโตแรงและยังได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาล คาด GDP ปี 2567 – 2568 เติบโตไม่ต่ำกว่า 7% ต่อปี
- ปัจจุบันอินเดียมีประชากรรวม 1,420 ล้านคน เป็นอันดับ 1 ของโลก และมีอัตราขยายตัวของประชากรเฉลี่ย 0.5% ต่อปี โครงสร้างประชากรส่วนใหญ่อายุน้อย ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการผลักดันการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางจากการเพิ่มขึ้นของรายได้
- ขณะที่การเลือกตั้งภายในอินเดียที่นายเรนทรา โมดี คว้าชัยชนะเป็นสมัยที่ 3 และได้ร่วมมือกับพรรคพันธมิตรเพื่อครองเสียงข้างมากในสภา จะทำให้การดำเนินนโยบายภาครัฐและการพัฒนาประเทศมีความต่อเนื่องได้
- รัฐบาลอินเดียมีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานผ่านโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการผลิต และได้ใช้เทคโนโลยีมาพัฒนารูปแบบการทำงานให้เป็นดิจิทัลมากขึ้นเพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว (กรุงเทพธุรกิจ)
เศรษฐกิจไทย
4 ปี วิกฤตกองทุนน้ำมันขาดสภาพคล่องหนัก ติดลบอ่วมทะลุแสนล้าน
- วิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่าฐานะกองทุนล่าสุด ณ วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ยังคงติดลบ 111,663 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีน้ำมัน ติดลบ 64,066 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม ติดลบ 47,597 ล้านบาท
- โดย สกนช. ได้วางแผนรับมือกับการชำระหนี้คงค้างในงวดถัดๆ ไป โดยตามข้อกำหนดใน 2 ปีแรกของเงินกู้อนุมัติให้สามารถชำระเพียงดอกเบี้ยเท่านั้นได้ และต้องทยอยจ่ายคืนภายใน 5 ปี
- อย่างไรก็ตาม สกนช. มีหน้าที่ทำรูปแบบให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น ขณะที่ขั้นตอนการลดการชดเชยนั้น พยายามจะทำให้น้อยลงกว่านี้ที่ชดเชยอยู่ 40 สตางค์ แต่ต้องไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนไปมากกว่าเดิม
- หากสิ้นสุดกำหนดมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล วันที่ 31 ตุลาคม 2567 แล้ว ต้องติดตามสถานการณ์ราคาเชื้อเพลิงตลาดโลกช่วงปลายปีว่าจะมีผลกระทบต่อราคาน้ำมันในประเทศหรือไม่ เนื่องจากเป็นช่วงที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามฤดูกาลที่เข้าสู่ฤดูหนาวในต่างประเทศ ทำให้มีความต้องการเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น
- ขณะที่ คุรุจิต นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน เคยออกมาระบุว่า ขณะนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีภาระหนี้จากการอุดหนุนราคาพลังงานกว่าแสนล้านบาทแล้ว ไม่ต่างจากหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่แบกค่า Ft กว่า 130,000 ล้านบาท ซึ่งรวมๆ แล้วมากกว่า 220,000 ล้านบาท (เดอะสแตนดาร์ด)