“กิน + อยู่ = ยั่งยืน” Health & Well-being for Sustainability

โดย คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ
ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ

Health & Well-being ต้องบาลานซ์ให้ดีทั้งการกินและชีวิต
นิยาม ‘Health & Well-being’ คือการมีสภาวะทางด้านสุขภาพกาย สุขภาพใจที่แข็งแรงพร้อมกันทั้งหมด

“ผมมองตั้งแต่มิติการจัดสรรเวลาในการจัดการชีวิตที่ดี แบ่งเวลาเป็นสัดส่วนที่เหมาะสม (Allocate Time) คือการใช้เวลาสำหรับการพักผ่อน คุณจะจัดการกับเวลานอนกี่ชั่วโมง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ต่อมาคือการทำงานหรือชีวิตประจำวัน แล้วแต่ว่างานของใครเป็นรูปแบบใด และยังมีการออกกำลังกาย ต้องบาลานซ์ทั้งสามสิ่งนี้”

ขณะที่เรื่องใกล้ตัวสำคัญที่ต้องจัดสรรเพื่อให้เกิดสุขภาวะที่ดีตั้งแต่เริ่มต้น คือ ‘Well Balance Food’ หรือการสร้างสมดุลในการรับประทานอาหาร ผ่านแนวคิดเลือกกินเพื่อส่งเสริมสุขภาพ

“คอนเซ็ปต์เรื่องการกินที่เหมาะสมมีหลายมุมมอง ตั้งแต่คอนเซ็ปต์ Dietary การคุมอาหาร ซึ่งตอนหลังมีบางแนวคิดมองว่าการคุมน้ำหนักโดยกินอะไรน้อยๆ ห้ามกินนั่นนี่อาจจะไม่ได้เป็นสุขภาพที่ดี มาจนถึงคอนเซ็ปต์ Well-being คือการกินต้องมีสัดส่วนอาหารที่เหมาะสม บริโภคอาหารตามหลัก Food Plate Model จัดสัดส่วนอาหารในจานด้วยสูตร ‘2-1-1’ คือในหนึ่งจานมีผักผลไม้ 2 ส่วน กลุ่มข้าว แป้ง ธัญพืช 1 ส่วน แล้วสุดท้ายเป็นเนื้อสัตว์ 1 ส่วน ล่าสุดผลการศึกษาของ FDA (องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา) และ USDA (กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา) ก็แนะนำสูตร 2-1-1 รวมทั้งยังแนะนำปริมาณพลังงานที่ได้รับต่อวันให้อยู่ที่ประมาณ 2,500 แคลอรีต่อวัน เป็นต้น เพราะฉะนั้นถ้าเราออกกำลังกาย มีการนอนหลับพักผ่อนที่ดี รวมถึงดูแลเรื่องการกินที่เหมาะสม สุขภาพกายและใจที่แข็งแรงก็เกิดขึ้นได้”

มองสุขภาวะคนไทยผ่านสายตาผู้ผลิตอาหารชั้นนำของประเทศ
ด้วยภูมิศาสตร์ที่ตั้งของประเทศไทยที่อยู่ในเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตร ทำให้อากาศของประเทศมีลักษณะเป็นแบบร้อนชื้น ซึ่งนั่นเป็นข้อได้เปรียบของประเทศไทย ที่ ถือเป็นความโชคดีของคนไทยที่มีโอกาสเข้าถึง ‘อาหารสุขภาพ’ ได้กินอาหารที่ Healthy อยู่แล้วในระดับหนึ่ง เพราะเป็นประเทศในแถบร้อนที่มีผักมากมายกินกับน้ำพริกได้เลย หรือกินผลไม้ไทยอย่างเดียวก็ได้วิตามินครบทุกหมู่

ข้อได้เปรียบนี้ที่ทำให้สังคมไทยมี ‘วัฒนธรรมการกินเชิงสุขภาพ’ ที่สอดรับกับอากาศเมืองไทยได้ลงตัว ทำให้คนไทยมีโอกาสได้กินอาหารที่เป็นธรรมชาติ พิจารณาโดยภาพรวมนี้ ประเทศไทยจึงเป็นประเทศที่มีโครงสร้าง Well-being ที่ดีอยู่แล้ว

“ล่าสุดน่าเซอร์ไพรส์มาก ผมเข้าฟังสัมมนาหนึ่งเขาบอกว่า อาเซียนเป็นกลุ่มประเทศที่มีโครงสร้างของความเป็นอยู่ด้านการกินอาหารที่ดีที่สุดเลย ขณะที่ประเทศเจริญแล้วส่วนใหญ่จะบริโภคเนื้อสัตว์หรือโปรตีนในปริมาณที่เยอะเกินไป หรือบางประเทศ เช่น อินเดีย ก็จะบริโภคเนื้อสัตว์น้อยเกินไป ส่วนทางเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทย เรามีสุขภาวะที่ดีด้านการกิน เพราะโดยพื้นฐานแล้วอาหารเอเชียมีผักผลไม้เยอะมาก”

ปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากโครงสร้างประเทศที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างสังคมแห่งการกินดีได้ระดับหนึ่งแล้วนั้น อีกจุดสำคัญคือประเทศไทยยังมี ‘อุตสาหกรรมอาหาร’ ที่แข็งแกร่งมากจนสามารถที่จะผลักดันวาระเรื่อง ‘การกินอย่างยั่งยืน’ ขึ้นมาเป็นประเทศแถวหน้าของภูมิภาคนี้ได้

“บางคนอาจไม่สังเกตว่าเราโชคดีที่มีอุตสาหกรรมอาหารที่ใหญ่และแข็งแกร่งมาก จุดแข็งของเราคือ Food Location และในไทยเรามีบริษัทต่างๆ ในอุตสาหกรรมอาหารที่พัฒนาไปไกลและเติบโตมาก ทั้งกลุ่มไก่ กลุ่มหมู ผัก อ้อย น้ำตาล ข้าวโพด ฯลฯ ด้วยผู้เล่นในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ที่ทำให้ต้นทุนอาหารของเราถูกลง เวลาไปเที่ยวต่างประเทศใกล้ๆ กัน อย่างอินโดฯ ฟิลิปปินส์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ ถ้าลองเปรียบเทียบกันดูจะพบว่าอาหารเมืองไทยถูกที่สุดและดีที่สุด ผมว่าส่วนนี้เป็นเรื่องที่คนไทยลืมไปเลย ถึงได้บอกว่าจะไปไหนมาไหนก็ต้องกลับมากินอยู่เมืองไทยดีที่สุด เพราะฉะนั้นเรื่องการกินอย่างยั่งยืนนี่เมืองไทยได้เปรียบมาก คนไทยเราสามารถมีสุขภาวะที่ดีด้วยอาหารที่เรามี”

ทิศทาง CPF สู่ ‘การมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดี’ อย่างยั่งยืน
ด้วยความที่ CPF นับเป็นผู้นำด้านการผลิตอาหารและผลิตภัณฑ์สำหรับบริโภคเพื่อประชากรในสังคม จึงไม่อาจปฏิเสธบทบาทอันสำคัญยิ่งในการมีส่วนร่วมสร้างสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีเพื่อสังคมที่ยั่งยืน โดยมี ‘ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารซีพีเอฟ’ (CPF Food Research and Development Center) ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งประธานคณะผู้บริหาร CPF ได้ถ่ายทอดทิศทาง การนำพาธุรกิจสู่เป้าหมาย ‘สร้างสุขภาพและสุขภาวะ

ที่ดี’ ผ่านการใช้แนวคิดมุมมอง Well-being ด้านอาหาร ในการพิจารณาออกผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพที่ดีจนได้รับความนิยมและถูกพูดถึงจากผู้บริโภคในเชิงคุณค่าและคุณภาพ อาทิ การคำนึงถึงผู้บริโภคที่ต้องการรับประทานอาหารที่มีไขมันน้อย มีตัวเลขรายละเอียดบอกแคลอรี น้ำตาล ไขมัน ที่จะได้รับ วัตถุดิบต้องคำนึงถึงตั้งแต่การเลือกใช้เนื้อสัตว์ที่เป็น Balance Meal หรือมีไขมันมันต่ำ ให้พลังงานไม่สูงมาก รวมถึงอาหารพร้อมรับประทานที่ลดความเค็ม ความหวานก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้

“เราคำนึงถึงการออกผลิตภัณฑ์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ออกสินค้าใหม่ที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ มี Food Healthy มี Animal Welfair Practice ที่ดี มี Environmental System ที่ดี ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือใช้ให้น้อยที่สุดเท่าที่เราทำได้ เราไม่ใช้วัตถุดิบหรือแหล่งทรัพยากรอย่างไม่ระมัดระวัง และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้มีการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมให้มีสุขภาวะที่ดีขึ้น”

ทิศทางที่จะก้าวต่อไปด้านการสร้างสุขภาวะที่ดีผ่านอาหารและการกินดี คือการสร้างผลิตภัณฑ์อาหารที่สอดรับกับธรรมชาติ หรือใช้วัตถุดิบต่างๆ ที่เป็นBio Base แทน Chemical Base ที่สอดรับกับแนวคิด Well-being ของโลก โดยยกกรณี ‘ไก่เบญจา’ เป็นตัวอย่างของอาหารที่ผลิตโดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับธรรมชาติ ตั้งแต่การปรับปรุงฟาร์มเลี้ยงไก่ ที่เป็นการเลี้ยงโดยธรรมชาติ 100% เป็นรายแรกของโลก ต่อมาคือการเปลี่ยนวัตถุดิบอาหารเลี้ยงไก่จากข้าวโพดมาเป็นการให้ไก่กินข้าวกล้องแทน ซึ่งการปรับเปลี่ยนนี้ส่งผลให้ไก่แข็งแรงมากกว่าปกติ และคุณภาพของเนื้อไก่มีโครงสร้างโปรตีนข้างในที่เปลี่ยนไปในทิศทางที่แข็งแรงขึ้น เนื้อไก่ที่ผลิตมาเป็นอาหารป้อนสู่ผู้บริโภคจึงเพิ่มคุณค่าและคุณภาพมากขึ้น

“อุตสาหกรรมอาหารจึงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยสร้างสรรค์การกินดีได้ ผ่านการศึกษาและวิจัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ที่ช่วยสร้างสุขภาวะที่ดีได้ ทั้งอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ ที่มีส่วนช่วยฟื้นฟูและบำรุงร่างกาย ซึ่งเรายังพิจารณาถึงการพัฒนาเพิ่มเติมสารอาหารในกลุ่มอาหารบางจำพวกที่จะมีส่วนผสมบางอย่างที่ทำให้ได้สารอาหารครบถ้วนพอสมควร รวมทั้งอนาคตคือผลิตภัณฑ์ Plant Base (อาหารที่ใช้วัตถุดิบจากพืช) เพื่อสอดรับกับกลุ่มที่ไม่ต้องการกินเนื้อสัตว์มากเกินไป กระทั่งต้องคำนึงถึงการวาง Portion ที่เหมาะกับแต่ละมื้อ ผ่านการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ให้ความสำคัญกับการกำหนดสัดส่วนอาหารที่ตรงตามโภชนาการในสัดส่วน 2-1-1 ในแต่ละเมนู”

อุตสาหกรรมอาหารที่มีส่วนสำคัญในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มุ่งส่งเสริมสุขภาวะที่ดีให้ผู้บริโภค ด้วยแนวคิด You are what you eat ซึ่งเป็นผลงานของศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารที่ทำงานสอดคล้องกับเทรนด์ของผู้บริโภคในระดับโลก ผนวกกับที่มีความสนใจถึงส่วนประกอบทางเคมีของเนื้อสัตว์ ตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และโภชนาการอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ นำมาสู่ความก้าวหน้าในการคิดค้นและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหารของ CPF ที่เอื้อต่อการกินดีอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับเทรนด์ด้านสุขภาพของโลก ที่มุ่งเน้นการมีสุขภาพที่ดีผ่านอาหาร

ความท้าทายของวงการอุตสาหกรรมอาหารว่าต้องลงมือทำคู่ขนานกันระหว่าง การสร้างอาหารกลุ่มสุขภาพที่บาลานซ์ทั้งรสชาติและมีความ Healthy ไปพร้อมกันด้วย เพราะอาหารสุขภาพจะมีข้อจำกัดในเรื่องของการปรุงรส และส่วนผสมอยู่พอสมควร ดังนั้นในฐานะขององค์กรผู้นำด้านการผลิตอาหาร จึงต้องให้ความสำคัญทั้งอาหารสุขภาพและอาหารทั่วไป อีกทั้งยังต้องสร้างสรรค์สิ่งที่มีประโยชน์เพื่อส่งมอบคุณค่าด้านสุขภาวะที่ดีให้กับผู้บริโภค

“เรื่องพวกนี้ไม่ใช่พูดครั้งเดียวจบ ต้องค่อยๆ ปลูกฝังพื้นฐานความรู้ให้คนเข้าใจการกินที่มีสุขภาวะที่ดีผ่านระบบการศึกษา”

อาหารสำเร็จรูปพร้อมกินกับโจทย์ด้าน Health & Well-being
เชื่อว่าการที่คนคนหนึ่งจะมีสุขภาวะที่ดีด้วยการกินดี สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ ความรู้และความเข้าใจเรื่องอาหารกับสุขภาพ ซึ่งตลอดหลายทศวรรษมานี้ความเข้าใจและองค์ความรู้เรื่องอาหารกับสุขภาพในประเทศไทย ค่อยๆ พัฒนาไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น อิงตามหลักการแพทย์ และวิทยาศาสตร์มากกว่าจะเชื่อตามการพูดบอกต่อกันมา ที่สำคัญจนถือเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญ คือเทคโนโลยีและนวัตกรรมในวงการอุตสาหกรรมอาหารที่พัฒนาจนเข้าขั้นอยู่ในระดับมาตรฐาน มีความปลอดภัย ทั้งการปรับปรุง สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ Health & Well-being ในด้านการกินดีจากอาหาร

“ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่ององค์ความรู้ของคนในประเทศไทย เช่น เรื่องพลาสติกกับไมโครเวฟนี้ เหมือนเราเอาเทคโนโลยีเมื่อ 20 ปีที่แล้วมาพูดกัน เป็นความเข้าใจเรื่องยุคก่อนที่เทคโนโลยีจะพัฒนา ทั้งที่พลาสติกมีหลายเกรดมาก วันนี้พลาสติกที่ใช้ทั้งหมดเป็น Food Grade European Standard ซึ่งการทดสอบอย่างมีมาตรฐานและละเอียดทำให้มั่นใจว่าพลาสติกที่วงการอุตสาหกรรมอาหารใช้นั้นทนความร้อนสามารถเข้าไมโครเวฟได้โดยไม่มีอันตราย เรื่องไมโครเวฟก็เช่นกัน มีคนออกมาพูดเยอะ แต่เป็นความเข้าใจเรื่องไมโครเวฟยุคก่อน

“ที่จริงอาหารเข้าไมโครเวฟ รวมทั้งอาหารแช่แข็งไม่ได้ทำให้คุณค่าทางอาหารลดลง เช่น เราอาจจะรู้สึกว่าต้องซื้อเนื้อสดตามแหล่งที่ขาย เราจะไม่ซื้อเนื้อแช่แข็งเพราะรู้สึกว่ามันไม่สด ซึ่งมันเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกที่เราสั่งสมกันมาตั้งแต่เด็ก ทั้งที่จริงแล้วอาหารแช่แข็งมีจุดแข็งเรื่องความปลอดภัย ขณะที่เนื้อสดหากนำออกมาวางทิ้งไว้ไม่นานก็อาจมีเชื้อแบคทีเรียเกิดขึ้นแล้ว”

บรรดาข่าวลือหรือข้อมูลที่ไม่มีข้อเท็จจริงรองรับในด้านอาหารและสุขภาพ สิ่งสำคัญคือการปลูกฝังความรู้พื้นฐานด้านสุขศึกษาและโภชนาการในการกินให้ผู้บริโภคและสังคมมีความเข้าใจในเรื่อง ‘อาหาร’ และการ ‘กินดี’ อย่างถูกต้องในสภาวะปัจจุบัน มีความเข้าใจในเรื่องการกินโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน เกลือแร่ วิตามิน ซึ่งถือเป็นความท้าทายสำคัญหนึ่งของอุตสาหกรรมผู้ผลิตอาหารที่จะทำความเข้าใจกับสังคมทั้งหมด
“เรื่องพวกนี้ไม่ใช่พูดครั้งเดียวจบ ต้องค่อยๆ ปลูกฝังพื้นฐานความรู้ให้คนเข้าใจการกินที่มีสุขภาวะที่ดีผ่านระบบการศึกษา”

ไม่หยุดเดินหน้าผลิตอาหารเพื่อการมีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน
ก้าวย่างวันนี้ของการผลิตอาหารที่คำนึงถึงสุขภาวะที่ดีให้กับสังคม นอกจากที่อุตสาหกรรมอาหารจะคำนึงถึงอาหารจากธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจุบันมีสัดส่วนอาหารกลุ่มสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแล้ว คำถามสำคัญที่ ‘ประสิทธิ์’ ทิ้งท้ายไว้เมื่อมองถึงเป้าหมาย Health & Well-being การกินดีจากอาหาร คือ ‘The End Game’ ของเรื่องนี้เป็นภาพอะไร

“ถ้าปลายทางเป็นภาพที่ใหญ่มาก ก็ยังมีเรื่องที่ต้องทำอีกเยอะ ในระยะยาวเราต้องการให้ CPF สามารถสกัดองค์ความรู้ด้านโภชนาการของอาหารได้ในขั้นสูงขึ้น รวมไปถึงการใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย ในเรื่องนี้จึงต้องใช้เวลาอีก 3-5 ปี ซึ่งเราต้องศึกษากันตั้งแต่วันนี้”

“ถ้าเรามีแนวคิดที่ต้องปรับปรุงพัฒนาตลอดเวลา ทุกอย่างที่ทำ สามารถสร้างคุณค่าให้กับสังคม สิ่งที่ทำดีกับสังคม สิ่งแวดล้อม ดีกับคนที่กิน ผมคิดว่านี่คือความยั่งยืน… และเราในฐานะบริษัทใหญ่ต้องยืนหยัดในเป้าหมายเหล่านี้”

ที่มา:วารสารบัวบาน เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ถึงแนวคิดการสร้างสังคมแห่ง ‘การกินดี’ ในฐานะองค์กรใหญ่ที่ถือเป็นผู้นำด้านการผลิตอาหารและผลิตภัณฑ์สำหรับบริโภคเพื่อประชาชนในสังคม wearecp.comขอนำมาถ่ายทอดสู่ชาวซีพีรับรู้ร่วมกัน