เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมยินดี 4 นักวิทยาศาสตร์ไทย คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2567 ปีนี้มีนักวิทยาศาสตร์ที่มีความโดดเด่นในงานวิจัยที่เกี่ยวกับการเลี้ยงกุ้ง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สวทช.

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2567 เครือเจริญโภคภัณฑ์  นำโดย ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนองค์กรและการพัฒนากลยุทธ์ และประธานคณะผู้บริหาร ยุทธศาสตร์ข้อมูลและการสื่อสาร เครือเจริญโภคภัณฑ์  เป็นตัวแทนองค์กร พร้อมด้วย คุณสมเจตนา ภาสกานนท์ ผู้อำนวยการด้านพัฒนาความยั่งยืน สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาลและสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์  ร่วมแสดงความยินดีกับ 4 นักวิทยาศาสตร์ไทย รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2567 โดยมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์  จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 43  ภายในงานได้รับเกียรติจาก คุณศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีพร้อมมอบโล่รางวัล เพื่อเป็นกำลังใจและสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์ – นักวิจัย – ผู้นำกลุ่มนักวิจัย ให้พัฒนางานในระดับ “วิจัยขั้นแนวหน้า” นำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม สามารถช่วยผลักดันประเทศไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ตลอดจนเป็นตัวอย่างที่ดีแก่นักเรียน เยาวชน ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ

ปีนี้มีผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ.2567 จำนวน 2 ท่าน ได้แก่  ศาสตราจารย์ ดร. อัญชลี ทัศนาขจร  ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  “ผู้คิดค้นและระบุหน้าที่สำคัญของยีนและโปรตีนในระบบภูมิคุ้มกันของกุ้ง  เพื่อการพัฒนาการเลี้ยงกุ้งสุขภาพดีและต้านทานโรค” มีผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาระบบภูมิคุ้มกันของกุ้งทะเล  โดยใช้เทคนิคด้านชีวเคมีและชีววิทยาโมเลกุล เพื่อระบุยีนและหน้าที่ของโปรตีนภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองต่อการติดเชื้อ  โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการเลี้ยงกุ้งสุขภาพดีและต้านทานโรค  ที่จะช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโรคระบาด และ  ดร.กัลยาณ์  ศรีธัญญลักษณา-แดงติ๊บ  ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  “ผู้คิดค้นการควบคุมและแก้ไขปัญหาโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำในกุ้งทะเล” ซึ่งเป็นงานวิจัยเพื่อศึกษาสาเหตุของโรค คุณสมบัติและการแพร่กระจายของเชื้อก่อโรค และการตอบสนองของกุ้งต่อชื้อก่อโรค อาทิ โรคกุ้งตายด่วน (EMS) ที่ทำให้ลูกกุ้งและกุ้งวัยอ่อนมีอาการตับวายเฉียบพลัน , โรคเชื้อรา EHP ที่ทำให้กุ้งโตช้าและเจริญเติบโตไม่เท่ากัน , ไวรัสตัวแดงดวงขาวที่ทำให้กุ้งในบ่อเลี้ยงตาย  ซึ่งงานวิจัยนี้จะมีประโยชน์ต่อการนำไปประเมินแก้ไขปัญหาให้เหมาะสมกับการบริหารจัดการการเลี้ยง การพัฒนาสายพันธุ์กุ้งปลอดเชื้อและทนโรคติดเชื้อไวรัส

(ศาสตราจารย์ ดร. อัญชลี ทัศนาขจร)

(ดร.กัลยาณ์  ศรีธัญญลักษณา-แดงติ๊บ)

ขณะที่ผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2567  มีจำนวน 2 ท่าน ได้แก่  รองศาสตราจารย์ ดร.ธีรวิทย์ วิไลประสิทธิ์พร สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) “ผู้คิดค้นและพัฒนาปัญญาประดิษฐ์สำหรับการประมวลผลสัญญาณไฟฟ้าซึ่งวัดได้จากร่างกายมนุษย์ เพื่อการประยุกต์ใช้ทางสุขภาพและการแพทย์”  ซึ่งเป็นงานวิจัยที่มีหลักการทำงานคือ การวัดไฟฟ้าจากร่างกายมนุษย์ โดยวัดตั้งแต่ส่วนหัวลงมา นำเอไอเข้ามาช่วยในการประมวลผลของสมองที่ซับซ้อน เรียกเทคโนโลยีนี้ว่า Brain – Computer Interfaces สามารถนำไปใช้กับผู้พิการที่ไม่สามารถขยับร่างกายได้ แต่ใช้ให้สมองสั่งการลุกนั่งมีเครื่องพยุงคอยช่วยเหลือประกอบกับกล้ามเนื้อ  หรือการนำเอไอไปต่อยอดประมวลผลสัญญาณชีพมนุษย์ ซึ่งวัดได้จากเซนเซอร์แสงแบบสวมใส่ ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการเฝ้าเตือนหรือระวังโรคที่ก่อให้เกิดอันตรายได้ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อิทธิพล จีระพันธ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์กายภาพ (เคมี) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  “ผู้คิดค้นและพัฒนาการประยุกต์ใช้งานเคมีไฟฟ้า เซลล์เชื้อเพลิงไฟฟ้าเคมีชีวภาพ และวัสดุขั้นสูง”  ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ใช้พื้นฐานเรื่องของเคมีไฟฟ้าเป็นหลัก และอีกส่วนคือการใช้เซนเซอร์เพื่อตรวจวัดสารเคมีหรือสารชีวมวล ที่จะบ่งบอกถึงสุขภาวะของตนเอง หรือสารที่อยู่นอกร่างกายที่จะต้องรับเข้ามา อาทิ สารเคมี สารอาหารที่เราจะต้องรับประทานเข้าไป การตรวจวัดเซนเซอร์ในสิ่งแวดล้อม งานวิจัยชิ้นนี้มีเป้าหมายในการนำไปใช้ คือ 1. ด้านชีวการแพทย์ ช่วยในการตรวจสุขภาวะส่วนบุคคล 2. ด้านอาหาร 3. ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งหมดจะต้องอาศัยพลังงานเป็นตัวประกอบ ผ่านอุปกรณ์ที่พึ่งพาพลังงานในตนเองโดยปราศจากแบตเตอรี่ทำให้เกิดความยั่งยืนในการใช้งาน

(รองศาสตราจารย์ ดร.ธีรวิทย์ วิไลประสิทธิ์พร (ซ้าย) , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อิทธิพล จีระพันธ์ (ขวา))