GDP ไทยไตรมาส 2 เร่งตัวขึ้น 2.3% คาดทั้งปีโต 2.5% / กุ้งไทยรอทวงคืนตลาดสหรัฐ ลุ้นประกาศใช้ AD กับ 4 ประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ / ‘จีน’ ครองแชมป์สิทธิบัตร Gen AI ‘เทนเซ็นต์’ ยักษ์อินเทอร์เน็ตมีมากสุด

ทันทุกข้อมูลข่าวสารเศรษฐกิจการลงทุน กับ CP Business Watch
สำนักเศรษฐกิจและการลงทุนของเครือฯ (Economic and Investment Center) ขอนำเสนอ ข่าว บทความ และบทวิเคราะห์เชิงลึกที่เป็นประโยชน์แก่ผู้บริหารและพนักงานในเครือฯ เพื่อเสริมการตัดสินใจด้านธุรกิจและการลงทุนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจแนวโน้มเศรษฐกิจมหภาค และการลงทุน เพื่อใช้ประกอบการวางแผนกลยุทธ

เศรษฐกิจไทย

GDP ไทยไตรมาส 2 เร่งตัวขึ้น 2.3% คาดทั้งปีโต 2.5%

  • ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/67 ขยายตัว 2.3% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 1.6% ในไตรมาส 1/67 เมื่อรวมครึ่งแรกของปี 2567 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.9% เมื่อเทียบแบบไตรมาสต่อไตรมาส ขยายตัวจากไตรมาส 1/67 0.8% (QoQ_SA)
  • ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น มาจากการอุปโภคภาครัฐบาล, การส่งออกสินค้าและบริการ, การอุปโภค, การผลิตสินค้าอุตสาหกรรม, สาขาที่พักแรมและการบริการด้านอาหาร, สาขาการขายส่งและการขายปลีก, และสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า แม้ว่าการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐปรับตัวลดลง, สาขาการก่อสร้างและเกษตรกรรมปรับตัวลดลง
  • สภาพัฒน์ปรับเปลี่ยนคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 โดยคาดว่าจะขยายตัว 2.3-2.8% (ค่ากลางการประมาณการ 2.5%) จากก่อนหน้านี้ ช่วงคาดการณ์อยู่ระหว่าง 2.0-3.0%
  • ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงปี 2567 เป็นความเสี่ยงจากภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง และมาตรฐานสินเชื่อที่มีความเข้มงวดมากขึ้น, ผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรม, และความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก ในด้านความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการค้า (เดอะสแตนดาร์ด

เกษตรกรรม

กุ้งไทยรอทวงคืนตลาดสหรัฐ ลุ้นประกาศใช้ AD กับ4ประเทศผู้ผลิตรายใหญ่

  • นายเอกพจน์ ยอดพินิจ นายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมกุ้งไทยเจอโรคกุ้งรุมเร้ากว่า 10 ปี ซ้ำเอกวาดอร์โอเวอร์ซับพลาย ผลิตกุ้งออกสู่ตลาดโลกจำนวนมากถึง 1,200,000-1,500,000 ตัน โดยที่มีต้นทุนต่ำจากการที่มีพื้นที่เลี้ยงค่อนข้างมาก จึงสามารถปล่อยเลี้ยงบางได้ ทำให้ไม่ค่อยเกิดปัญหาเรื่องโรค
  • อุตสาหกรรมกุ้งไทยประสบปัญหาโรคระบาด 4 โรคหลัก ที่พบบ่อยในประเทศไทย  คือโรคตัวแดงดวงขาว (WSSV) โรคตายด่วน (EMS) โรคขี้ขาวอีเอชพี (EHP) และโรคแคระแกร็น (IHHNV)
  • ด้วยผลกระทบจากการระบาดของโรค โดยเฉพาะ EMS ทำให้ตั้งแต่ปี 2555 ปริมาณผลผลิตกุ้งไทยลดลง คาดการณ์ว่าปี 2567 นี้ ผลผลิตกุ้งไทยจะผลิตได้ประมาณ 300,000 ตัน หรือลดไปถึงมากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณที่เคยทำได้มากที่สุด ที่ 640,000 ตัน เมื่อปี 2553
  • ปัจจัยบวกสำหรับกุ้งไทย เมื่อประเทศคู่แข่ง 4 ประเทศ อย่าง เอกวาดอร์ อินเดีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ถูกกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ พิจารณาไต่สวนเพื่อใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (AD, CVD) สินค้ากุ้ง ที่จะประกาศผลปลายปีนี้
  • หากผลสอบสวนออกมาว่าทั้ง 4 ประเทศ มีการทุ่มตลาดส่งออกกุ้งไปยังตลาดอเมริกาอย่างไม่เป็นธรรม โดนเรียกเก็บภาษี AD,CVD สูงถึง 10% ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสสำหรับกุ้งไทย (กรุงเทพธุรกิจ)

เทคโนโลยี

‘จีน’ ครองแชมป์สิทธิบัตร Gen AI ‘เทนเซ็นต์’ ยักษ์อินเทอร์เน็ตมีมากสุด

  • “องค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก” หรือ “ไวโป” (WIPO) เปิดข้อมูล “สิทธิบัตรปัญญาประดิษฐ์” โดยเฉพาะ “เจเนอเรทีฟ เอไอ” (Generative AI : GenAI) ข้อมูลเดือน เม.ย.2567 พบว่า “จีน” เป็นประเทศที่ครองสิทธิบัตร GenAI มากที่สุดถึง 2,074 สิทธิบัตร
  • บริษัทเทนเซ็นต์ (Tencent) ครอบรองสิทธิบัตร GenAI ไว้มากที่สุดถึง 2,074 สิทธิบัตร โดยวางแผนที่จะเพิ่มความสามารถ GenAI ให้กับผลิตภัณฑ์ของตัวเอง เช่น WeChat รองลงมา คือ บริษัทผิงอัน อินชัวรันซ์ กรุ๊ป ครอบครอง 1,564 สิทธิบัตร โดยมุ่งเน้นไปที่โมเดล GenAI สำหรับธุรกิจประกันและการประเมินความเสี่ยง และ บริษัทไป่ตู้ ครอบครอง 1,234 สิทธิบัตร ไป่ตู้ ถือเป็นหนึ่งในผู้เล่นรายแรกๆและเพิ่งเปิดตัวแชทบอท AI ที่ใช้โมเดลภาษาขนาดใหญ่ หรือ LLM ตัวล่าสุด ERNIE 4.0
  • ขณะที่ไอบีเอ็ม ยักษ์เทคโลกติดอันดับ 5 ครอบครองสิทธิบัตร GenAI จำนวน 601 สิทธิบัตร และ“อัลฟาเบท” ของ กูเกิล และไมโครซอฟท์ ยักษ์เทคชั้นนำของสหรัฐ ครอบครองมากกว่า 400 สิทธิบัตร
  • เทคโนโลยี GenAI ถูกคิดค้นขึ้นมากที่สุดที่ใดนั้น อันดับ 1 คือที่ จีน รองลงมา คือ สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐเกาหลีญี่ปุ่น อินเดีย สหราชอาณาจักร และเยอรมนี (กรุงเทพธุรกิจ)