เมื่อเร็วๆนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมสนับสนุนหน่วยงานภาคการศึกษา โรงเรียนชุมชนวัดเกาะเพชร จ.นครศรีธรรมราช ในงานสัปดาห์วิทยาศาตร์ ประจำปี 2567 ภายใต้ชื่องาน “โลกสีคราม วิทยาศาสตร์แห่งมหาสมุทร” พร้อมด้วย ภาคีเครือข่ายในพื้นที่ อาทิ ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ 5 เทศบาลตำบลเกาะเพชร สมาคมประมงพื้นบ้านหัวไทร มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช คณะครุศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์ทั่วไป คณะครู นักเรียน นักศึกษาในพื้นที่ และกลุ่มธุรกิจในเครือซีพี ได้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF และ บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจห้างค้าปลีก โลตัส รวมกว่า 500 คน งานจัดขึ้น ณ โรงเรียนชุมชนวัดเกาะเพชร อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช
ภายในงาน เครือซีพี ร่วมนำนวัตกรรม “ธนาคารปู” จากการดำเนินโครงการด้านความยั่งยืนทางทะเล ผ่านนโยบาย “SEACOSYSTEM เพื่อทะเลไทยที่ยั่งยืน” มาร่วมจัดนิทรรศการให้ความรู้ และสร้างแรงบรรดาลใจแก่เด็กและเยาวชนที่มาร่วมงานสัปดาห์วิทยาศาตร์ ของโรงเรียนชุมชนวัดเกาะเพชร จ.นครศรีธรรมราช เพื่อปลูกฝังให้เห็นความสำคัญของทรัพยากรทางทะเล จุดประกายความคิดอย่างสร้างสรรค์ และสามารถต่อยอดแนวคิดและสิ่งใหม่ๆที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ โดยนวัตกรรมดังกล่าวฯ ได้พัฒนาขึ้นเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาการลดลงของทรัพยากรสัตว์น้ำ ด้วยแนวคิดการใช้นวัตกรรมมาช่วยเพิ่มสัตวน้ำในพื้นที่ เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) พร้อมยังเป็นการส่งเสริมอาชีพรายได้และวิถีชีวิตของชุมชนประมงชายฝั่ง ให้สามารถมีแหล่งอาหารและสร้างอาชีพอย่างยั่งยืนได้ นอกจากนี้ เครือซีพี ยังร่วมเป็นกรรมการตัดสินในการแข่งขันทักษะทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องทะเล ตามนโยบายที่ให้ความสำคัญด้านการศึกษา เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ความสามารถ พร้อมทั้งเข้ามามีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์และปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในอนาคตได้
ทั้งนี้ เครือซีพี ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการด้านความยั่งยืนทางทะเลอย่างต่อเนื่อง ตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals หรือ 17 SDGS) ข้อที่ 14 การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน โดยดำเนินงานครอบคลุมทั้งในอ่าวไทยและอันดามันของประเทศไทย รวม 10 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ตราด สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา กระบี่ ตรัง สตูล ปัตตานี และนราธิวาส โดยมีเป้าหมายการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล ควบคู่ไปกับการพัฒนาอาชีพประมงพื้นบ้าน ใช้เครื่องมือประมงที่เหมาะสม และเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน สร้างสมดุล 3 มิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน