มูลนิธิต่อต้านการทุจริต ผนึกกำลัง กระทรวงวัฒนธรรม เครือเจริญโภคภัณฑ์ และทรูปลูกปัญญา แถลงข่าว “การประกวดวงดนตรีต่อต้านการทุจริต” ประจำปี 2567 ถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนการศึกษารวม 550,000 บาท
วันที่ 4 กันยายน 2567 มูลนิธิต่อต้านการทุจริต ผนึกกำลัง กระทรวงวัฒนธรรม เครือเจริญโภคภัณฑ์ ทรูปลูกปัญญา ด้วยการสนับสนุนจาก บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จัดการแถลงข่าว “การประกวดวงดนตรีต่อต้านการทุจริต” ประจำปี 2567 เปิดโอกาสให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษา หรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และระดับอุดมศึกษา หรือ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวส.) ทั่วประเทศ ส่งผลงานเข้าประกวด รางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนการศึกษารวม 550,000 บาท ณ บริเวณโถง ชั้น 1 อาคารวัฒนธรรมวิศิษฏ์ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร
ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ ประธานกรรมการมูลนิธิต่อต้านการทุจริต กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามูลนิธิต่อต้านการทุจริตได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อร่วมกันปลูกฝังจิตสำนึกให้คนในชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เยาวชน ให้เป็นคนดี มีความซื่อสัตย์สุจริต และร่วมกันรณรงค์การต่อต้านการทุจริต เพื่อสร้างสังคมไทยให้โปร่งใส และไม่ทนต่อการทุจริต ซึ่งการต่อต้านการทุจริตหรือการป้องกันและปราบปรามการทุจริตนั้น มิใช่ภาระหน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นภาระหน้าที่ของประชาชนคนไทยทุกคนที่ต้องร่วมมือร่วมใจกันในการขจัดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันให้หมดสิ้นไป จากแผ่นดินไทย โดยการดำเนินงานตลอด 9 ปี ของมูลนิธิฯ ได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ทำให้การดำเนินงานขับเคลื่อนการต่อต้านการทุจริต ประสบความสำเร็จได้ผลเป็นที่น่าภาคภูมิใจ จนทำให้มูลนิธิต่อต้านการทุจริต ได้รับประกาศจากกระทรวงการคลัง ให้เป็นองค์การสาธารณกุศล ลำดับที่ 988 ตั้งแต่ 23 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป อีกทั้งมูลนิธิฯ มีความมุ่งมั่นให้หน่วยงานต่าง ๆ หรือทุกภาคส่วนร่วมกันสนับสนุนและส่งเสริมดำเนินกิจกรรมต่อต้านการทุจริตเพื่อให้สังคมไทยปลอดจากการทุจริต สำหรับ “โครงการประกวดวงดนตรีต่อต้านการทุจริต” ประจำปี 2567 เป็นการประกวดฯ ที่มีความร่วมสมัย เข้าถึงผู้ชมได้ง่าย และสอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตให้กับประชาชน ผ่านการเลือกใช้ 1 เพลง จากบทเพลงช่อสะอาดต้านทุจริตทั้ง 10 เพลง และเพลงที่แต่งขึ้นมาใหม่อีก 1 เพลง เพื่อปลูกฝังสร้างจิตสำนึกต่อต้านการทุจริตให้กับคนไทยทุกเพศ ทุกวัย ได้ตระหนักถึงการต่อต้านทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งการประกวดครั้งนี้ ได้รับ พระกรุณาธิคุณ จาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศทั้งสองระดับ ถือว่าเป็นเกียรติยศอย่างสูงยิ่งในการจัดการประกวดปีนี้ และยังได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจัดการประกวดอย่างดียิ่ง จาก กระทรวงวัฒนธรรม เครือเจริญโภคภัณฑ์ ทรูปลูกปัญญา และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ได้เห็นความสำคัญให้การสนับสนุนงบประมาณการจัดโครงการประกวดฯ ในปีนี้ โดยผลงานที่ชนะการประกวดจะได้นำไปใช้ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อร่วมกันปลุกจิตสำนึกในการต่อต้านการทุจริตและสร้างสังคมที่โปร่งใส ต่อไป”
นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า “นโยบายกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้นำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ และดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบมาโดยตลอด ได้แก่ การจัดทำแผนส่งเสริมองค์กรคุณธรรม ขับเคลื่อนให้องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนพัฒนาสู่การเป็นองค์กรคุณธรรม รวมถึงจัดกิจกรรมและจัดทำสื่อสร้างสรรค์เสริมสร้างความรู้และทัศนคติเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ส่งผลให้กระทรวงวัฒนธรรมได้รับการประเมินว่าเป็นองค์กรคุณธรรมอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาวธ.ร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ เอกชน และภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนการต่อต้านการทุจริต โดยให้ความสำคัญในการปลูกฝัง และปลุกจิตสำนึก เสริมสร้างทัศนคติ ค่านิยมในความซื่อสัตย์สุจริต จงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนให้มีความตระหนักรู้ถึงผลเสียหายจากการทุจริตและประพฤติมิชอบ และร่วมกันรณรงค์ต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ เพื่อสร้างสังคมไทยที่ไม่ทนต่อการทุจริต
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า วธ.ร่วมกับมูลนิธิต่อต้านการทุจริต เครือเจริญโภคภัณฑ์ ทรูปลูกปัญญา บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และภาคีเครือข่าย จัดโครงการประกวดรณรงค์ต่อต้านการทุจริตในรูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา เช่น โครงการประกวดการรณรงค์ต่อต้านการทุจริตผ่านศิลปะการแสดงพื้นบ้านไทยประยุกต์ในปี 2565 โครงการประกวดละครเพลงต่อต้านการทุจริตในปี 2566 และปีนี้วธ.ได้ร่วมจัด “โครงการประกวดวงดนตรีต่อต้านการทุจริต ประจำปี 2567” ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษา และระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ สร้างสรรค์ผลงานการแสดงในรูปแบบวงดนตรีให้เยาวชนไทย ร่วมสร้างสรรค์ผลงานการต่อต้านการทุจริตในรูปแบบใหม่ ๆ รวมถึงเพื่อให้เยาวชนใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ มีคุณค่าต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม ซึ่งวธ.ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานทุกขั้นตอน ทั้งการสนับสนุนผู้ทรงคุณวุฒิด้านดนตรี ร่วมเป็นกรรมการตัดสิน การสนับสนุนสถานที่ในการประกวดทั้งรอบคัดเลือก และรอบตัดสิน และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทุกช่องทาง รวมทั้งมอบหมายให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศประชาสัมพันธ์และสนับสนุนให้สถานศึกษาเข้าร่วมการประกวดอีกด้วย”
ดร.เนตรชนก วิภาตะศิลปิน หัวหน้าสายงานกลยุทธ์องค์กร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “ทรู โดย “ทรูปลูกปัญญา” รู้สึกยินดีและภาคภูมิใจ ที่ได้รับเกียรติจากมูลนิธิต่อต้านการทุจริต ให้มีโอกาสร่วมสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ในการรณรงค์ต่อต้านการทุจริตตลอด 7 ปีที่ผ่านมา เพื่อปลูกความรู้และปลูกความดี ให้กับเยาวชนและประชาชนคนไทย โดยทรูดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน และยึดมั่นใน “ความซื่อสัตย์และมีคุณธรรม” ซึ่งเป็นหนึ่งในค่านิยมองค์กร เป็นหลักสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้ตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่ของภาคเอกชนที่ต้องมีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน โดยเฉพาะการเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและรณรงค์ปลูกจิตสำนึกให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต รวมทั้งชุมชนและประชาชนทั่วประเทศได้ตระหนักรู้ถึงการมีส่วนร่วม เพื่อเฝ้าระวังและสังเกตการณ์ทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ โดยร่วมดำเนินการจัดกิจกรรมต่อต้านการทุจริตกับมูลนิธิต่อต้านการทุจริตมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การประกวดเพลงช่อสะอาด ต้านทุจริต การประกวดมิวสิควิดีโอต่อต้านการทุจริต การประกวดค่ายเยาวชนช่อสะอาดต้านทุจริต การประกวดศิลปะการแสดงพื้นบ้านต่อต้านการทุจริต การประกวดต่อต้านทุจริตผ่าน TikTok การประกวดต่อต้านการทุจริตผ่านศิลปะการแสดงพื้นบ้านไทยประยุกต์ รวมทั้งการประกวดละครเพลงต่อต้านทุจริต ซึ่งทุกโครงการได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และปีนี้ “ทรู ปลูกปัญญา” ได้ร่วมจัดโครงการประกวดวงดนตรีต่อต้านการทุจริต ประจำปี 2567 พร้อมกับให้การสนับสนุนทางด้านการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของทรู และบริษัทในเครือ ทั้งการเผยแพร่ข่าวสารออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ สื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดกิจกรรมองค์กรเพื่อสังคมร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน และช่วยให้คำปรึกษาในการดำเนินการจัดงานตลอดทั้งโครงการฯ นอกจากนี้ การประกวดรอบชิงชนะเลิศ จะทำการถ่ายทอดสดการประกวดผ่านทางช่องทรูปลูกปัญญา และนำบทเพลงต่อต้านการทุจริตทั้ง 10 เพลง ในรอบชิงชนะเลิศไปเผยแพร่ต่อยอดในช่องทางต่าง ๆ เพื่อสร้างสังคมไทยให้ตระหนักรู้ไม่ยอม ไม่ทน ต่อการทุจริตต่อไป”
พลเอก ธีระเดช ฉัตรเสถียรพงศ์ รองประธานกรรมการมูลนิธิต่อต้านการทุจริต กล่าวว่า “การประกวดวงดนตรี ต่อต้านการทุจริต ประจำปี 2567 เพื่อเชิญชวนเยาวชน มาร่วมกันเปิดเวทีแห่งความซื่อสัตย์ผ่านทางดนตรี ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย แบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ระดับมัธยมศึกษา ต้องเป็นนักเรียนที่ศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษา หรืออาชีวศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และระดับอุดมศึกษา ต้องเป็นนิสิต นักศึกษาในระดับอุดมศึกษา หรืออาชีวศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวส.) โดยสมาชิกในวงต้องอยู่สถานศึกษาเดียวกันทั้งหมด สมาชิกในวงมีได้ไม่เกิน 20 คน (รวมนักร้อง, นักดนตรี, หางเครื่อง, นักเต้น หรือแดนเซอร์) โดยผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศทั้ง 2 ประเภทจะได้รับถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ถ้วยเกียรติยศ ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ ประธานกรรมการมูลนิธิต่อต้านการทุจริต รางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 2 ถ้วยเกียรติยศ จากกระทรวงวัฒนธรรม รางวัลชมเชย ถ้วยเกียรติยศ จากมูลนิธิต่อต้านการทุจริต พร้อมทุนการศึกษารวม 550,000 บาท สมัครประกวด และส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2567 ดาวน์โหลดใบสมัครและรายละเอียดโครงการ ได้ที่ www.acf.or.th, www.m-culture.go.th หรือที่เฟซบุ๊ก แฟนเพจ “มูลนิธิต่อต้านการทุจริต” เฟซบุ๊กแฟนเพจ “ช่อสะอาดต้านทุจริต” สอบถามเพิ่มเติมโทร. 097-289-9246 , 089-139-6065 (วันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 09.00 – 17.00 น.)”