23 กันยายน 2567 – จากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2065 รัฐสภาจึงมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสู่การเป็นรัฐสภาสีเขียว (Green Parliament) โดยมีคณะกรรมการดำเนินงานขับเคลื่อนไปสู่รัฐสภาสีเขียว (Green Parliament) ได้จัดงานประกาศเจตนารมณ์รัฐสภาสีเขียวมุ่งสู่การเป็น Net Zero ภายในปี ค.ศ.2032 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยมีภาครัฐและภาคเอกชนร่วมเวทีแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงาน ภายใต้หัวข้อ ประโยชน์และผลกระทบของเศรษฐกิจไทยที่จะได้รับในการมุ่งสู่ Net Zero โดยมี คุณเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ สมาชิกวุฒิสภา คุณสมเจตนา ภาสกานนท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืน สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาลและสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และความยั่งยืน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) คุณพนาสันต์ สุจริตพานิช ผู้ช่วยประธานคณะผู้บริหารงานกลาง บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ร่วมเวทีเสวนา และมี ร.อ.นพ. ยงยุทธ มัยลาภ นายกสมาคมเวชศาสตร์วิถีชีวิตและสุขภาวะไทย เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ณ อาคารรัฐสภา
คุณสมเจตนา ภาสกานนท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืน สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาลและสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า เครือซีพี โดยซีอีโอศุภชัย เจียรวนนท์ ได้กำหนดเป้าหมายความยั่งยืนและแนวทางร่วมกันในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2030 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ซึ่งเครือฯ มีพนักงานทั้งในประเทศและต่างประเทศกว่า 450,000 คน จึงมุ่งผนึกกำลังทุกกลุ่มธุรกิจของเครือฯ ดำเนินการกำหนด KPI พร้อมลงมือปฏิบัติร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมในการไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ นอกจากนี้ยังร่วมมือกับพันธมิตรและซัพพลายเออร์ตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายร่วมกันด้วย และมองว่ายังมีโอกาสจากธุรกิจใหม่ เช่นเรื่องการใช้พลังงานหมุนเวียน และผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนที่สามารถต่อยอดทางธุรกิจได้
“สิ่งที่สำคัญคือความร่วมมือของทุกภาคส่วน ในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ร่วมกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมไปถึงประชาชนทุกคน ซึ่งขณะนี้ทุกคนต้องตระหนักว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่วิกฤตที่ทุกคนต้องเข้าใจ ทำอย่างไรให้องค์กรต่างๆ ตระหนักถึงความสำคัญเรื่องนี้ เพราะสุดท้ายเรื่องนี้จะส่งผลถึงศักยภาพในการแข่งขันของประเทศด้วย ทุกองค์กรควรร่วมมือกัน โดยเฉพาะวันนี้รัฐสภาได้จัดงานนี้ขึ้นถือเป็นบทบาทที่สำคัญในการสร้างหมุดหมายร่วมกัน และจะทำให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ประเทศได้ตั้งไว้ร่วมกัน”
ด้านคุณเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ สมาชิกวุฒิสภา มองว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นภัยใหม่ที่เกิดขึ้นกับโลก เช่น ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เปรียบเสมือนสัญญานเตือนที่ทุกคนต้องตระหนักเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา ซึ่งรัฐสภามีบทบาทสำคัญในการผลักดันกฎหมายให้ทุกภาคส่วนลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง ในขณะเดียวกันมองว่าการปลูกฝังเยาวชนเป็นสิ่งสำคัญเพื่อร่วมสร้างโลกให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต
ส่วนธุรกิจด้านพลังงาน ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และความยั่งยืน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) มองว่าธุรกิจด้านพลังงานต้องปรับตัว จากพลังงานสะอาดเป็นพลังงานสีเขียว โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจคือต้องใช้การลงทุนเพิ่มเติม พร้อมมองว่าพลังคนรุ่นใหม่ที่เป็นผู้บริโภค เป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดกลุ่มธุรกิจต่างๆ ให้ไปสู่เป้าหมายความยั่งยืน
ขณะที่กลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพ คุณพนาสันต์ สุจริตพานิช ผู้ช่วยประธานคณะผู้บริหารงานกลาง บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในธุรกิจสุขภาพ สิ่งที่สามารถทำได้เพื่อเป้าหมายความยั่งยืน คือการมุ่งให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณขยะในโรงพยาบาล ให้ความสำคัญกับการก่อสร้างอาคารที่เหมาะสมกับการใช้งาน เป็นต้น