Financial Literacy 101 – ความรู้ทางการเงิน 101 เข้าใจ และใช้เป็น ลงทุนสู่ความยั่งยืน

โดย : ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนองค์กร และการพัฒนากลยุทธ์เครือเจริญโภคภัณฑ์

ในโลกที่หมุนเร็วและเต็มไปด้วยความท้าทาย การมี “ความรู้ทางการเงิน”  หรือ “Financial Literacy” กลายเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เราก้าวพ้นจากอุปสรรคต่าง ๆ ได้อย่างมั่นคง โรงเรียนหลายแห่งทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงเรื่องนี้และเดินหน้าปรับหลักสูตรเพื่อเตรียมนักเรียนให้มีทักษะการเงินที่แข็งแกร่ง

สหรัฐฯ และแคนาดา  ได้เปิดโลกแห่งเรียนรู้ให้เข้าถึงวิชาความรู้ทางการเงิน ตั้งแต่ระดับมัธยม ที่โรงเรียน Capital City Public Charter School ในกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เปิดวิชา “พีชคณิตขั้นสูง เพื่อประยุกต์ใช้ด้านการเงิน” ซึ่งไม่ใช่แค่การคำนวณธรรมดา แต่ยังครอบคลุมไปถึงการลงทุน การกู้ยืม การจัดการสินเชื่อ และดอกเบี้ย หลักสูตรนี้มุ่งเตรียมนักเรียนให้พร้อมจัดการเรื่องการเงินอย่างมั่นใจ นับเป็น 1 ในโรงเรียนใน 30 รัฐของสหรัฐฯ ที่ผลักดันแนวทางการสอนเช่นนี้

ข้ามไปที่แคนาดา นักเรียนมัธยมในรัฐออนแทรีโอต้องผ่านการทดสอบความรู้ทางการเงินด้วยคะแนนไม่น้อยกว่า 70% เพื่อจบการศึกษา หลักสูตรนี้ครอบคลุมถึงการป้องกันตนเองจากการฉ้อโกงทางการเงินอีกด้วย การเรียนรู้เช่นนี้จึงไม่ใช่แค่การเก็บออมแบบพื้นฐาน แต่ยังเกี่ยวข้องกับการบริหารความเสี่ยงทางการเงินอย่างรอบคอบ

Financial Literacy 101 หรือ ความรู้ทางการเงิน 101 ถือเป็นวิชาพื้นฐานทุกคนต้องเรียนรู้ เพื่อ“เข้าใจ และใช้เป็น” ซึ่งจะนำทางรอดในยุคผันผวนเช่นปัจจุบัน  “ทักษะด้านการลงทุน” และ “ความปลอดภัยทางการเงิน”  ไม่ใช่แค่ “การสอนให้เก็บออม” หรือ “ไม่ใช้ของสิ้นเปลือง” ตามที่เราคุ้นชินกัน และเลือกเด็กเล็ก และเยาวชน เป็นกลุ่มเป้าหมาย เนื่องจาก ทักษะด้านการเงิน จำเป็นต้องใช้เวลาสำหรับบ่มเพาะ และฝึกปฏิบัติ

“เข้าใจ และใช้เป็น” จึงเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญของ “การรู้เท่าทันการเงิน (Financial literacy)”  ซึ่งการรู้เท่าทันทางการเงินนั้น ไม่เพียงต้องมี “ความรู้” แต่ต้องมี “ทักษะ” ที่เท่าทัน คือ การนำความรู้นั้นไปใช้ให้สำเร็จด้วยเช่นกัน ข้อหลังนี้จำเป็นต้องใช้ทัศนคติเชิงบวกอย่างมาก เพื่อให้ผู้คนไม่รู้สึกว่า เป็นเรื่องยาก หรือเสียเวลา และควรเป็นวิชาบังคับในหลักสูตรการศึกษา ทั้งนี้เพื่อให้ไปถึงสิ่งที่เรียกว่า สำนึกทางการเงิน (monetary sense)ตามที่ได้กล่าวข้างต้น

การรู้เท่าทันทางการเงิน ในประเทศไทย เป็นสิ่งที่ได้รับการตอกย้ำมากขึ้น โดยเฉพาะหลังวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ซึ่งส่งผลกระเทือนทั้งสังคม และปัจเจกอย่างถึงที่สุด อย่างไรก็ตาม แม้ระยะเวลาจะผ่านไปเกือบ 30 ปี จนทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจฟื้นตัวระดับหนึ่ง แต่ไม่มีใครปฏิเสธความจริงที่ว่า ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมยัง “ชักหน้า ไม่ถึงหลัง” และเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

ย้อนหลังไปไตรมาสแรกของปีนี้ ข้อมูลสถานการณ์ “หนี้ครัวเรือนไทย”โดยบริษัท ข้อมูลเครดิต แห่งชาติ จำกัด หรือ “เครดิตบูโร” พบว่า มีหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 13.6 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 3 จากปีที่ผ่านมา ในจำนวนนี้เป็น “หนี้เสีย” มากถึงร้อยละ 8 หรือ 1.09 ล้านล้านบาท มากที่สุด คือ หนี้เสียเช่าซื้อรถยนต์ 2.38 ล้านบาท เติบโตขึ้นต่อเนื่องร้อยละ 32  ส่วนหนี้เสียบัตรเครดิตอยู่ที่ 6.3 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 14.6 “เครดิตบูโร” กังวลว่า สถานการณ์นี้น่ากังวล สะท้อนความอ่อนแอทางการเงินของสังคมไทย

นอกจากนี้รายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า คนไทยส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ไม่อาจสร้างรายได้ถึงร้อยละ 67 ขณะที่หนี้ที่อาจสร้างรายได้มีเพียงร้อยละ 17 และคนไทย 1 ใน 5 คนหรือร้อยละ 23 มีหนี้เสีย

แม้ “การลดรายจ่าย เพิ่มรายได้” จะเป็นวลีที่ท้าท้ายผู้คนในสังคมไทย ณ ขณะนี้ โดยเฉพาะเมื่อ รายได้ลดถอยลง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เป็นปัจจัยความไม่แน่นอนที่ปัจเจกนั้นไม่สามารถควบคุมได้

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่า “การรู้เท่าทันทางการเงิน” ไม่มากก็น้อย ย่อมเป็น “เบาะรองรับความผันผวน” ประคับคองให้สถานการณ์ไม่เลวร้ายจนถึงที่สุด อย่างน้อยก็ให้ “ชักหน้า และถึงหลัง” บ้าง

            “การรู้เท่าทันทางการเงิน จึงไม่ใช่แค่การบริหารเงินในกระเป๋า ทว่า มันคือ ทักษะบริหารความเสี่ยงของชีวิต”

คำถามต่อมา คือ เราจะเริ่มให้ผู้คนเข้าถึงการรู้เท่าทันทางการเงินได้อย่างไร นั่นเป็นเหตุผลที่ผู้เขียนไฮไลท์ตัวอย่างในต่างประเทศไว้เริ่มแรกของบทความนี้ ด้วยความเชื่อที่ว่า การปลูกฝังความรู้ และทักษะแต่เยาว์วัย ย่อมทำให้พวกเขามีภูมิคุ้มกัน รับมือความเสี่ยงได้ดีขึ้น ตรงกับแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการพัฒนา (The Organization for Economic Co-operation and Development) ที่ระบุองค์ประกอบความสำเร็จไว้ 3 ปัจจัย คือ 1.การมีความรู้ทางการเงินที่ดี (Financial knowledge) 2. การมีพฤติกรรมทางการเงินที่ดี (Financial behavior) 3.การมีทัศนคติทางการเงินที่ดี (Financial attitude)

ตามกรอบนี้ ผู้เขียนจะขอเสนอ “แนวปฏิบัติประการ” เพื่อความสำเร็จทั้ง 3 ปัจจัยข้างต้น ให้ผู้คนทุกวัยนำไปใช้ เสมือนวิชาการรู้เท่าทันทางการเงิน 101 (Financial literacy 101)

  1. “เป้าหมายชีวิตเป้าหมายทางการเงิน”

การกำหนดเป้าหมายในชีวิต จะทำให้เรารู้ว่า เราต้องการใช้ชีวิตแบบไหน นั่นทำให้เราวางแผนถูกว่า เราควรบริหารจัดการเงินอย่างไร เพื่อตอบเป้าหมายชีวิตที่ต้องการ สามารถจำแนก ปัจจัยพื้นฐาน (need) และ ความต้องการ (want) ได้อย่างสมดุล โดยการกำหนดเป้าหมาย ควรทำทั้งระยะสั้น กลาง และยาว  เช่น ระยะยาว-การกำหนดระยะเวลาการเกษียณอายุ เป็นจุดตั้งต้น และหาคำตอบว่าเราควรมีเงินใช้จ่าย หลังเกษียณอายุเท่าใด และมาจากแหล่งใด เป็นต้น นอกจากนี้ การทำเป้าหมายต้องชัดเจน และเฉพาะเจาะจง เช่น “ฉันจะออมเงิน 100,000 บาทภายใน 3 ปี” แทนการพูดว่า “ฉันจะออมเงิน” เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้เราเห็น “ลู่ทาง” ไปสู่เป้าหมายให้ชัดเจนขึ้น

  1. “ออมเงิน” ทำได้ เริ่มให้ไว

จุดเป้าหมายของการวางแผนทางการเงิน มักมาจาก การออม เป็นจุดเริ่มต้น ซึ่งการตั้งเป้าหมายไม่ใช่เรื่องยาก แต่ความสม่ำเสมอ เป็นเรื่องท้าทาย ผู้เขียนเห็นว่า การออมเงินควรทำตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะภาระค่าใช้จ่ายยังไม่มาก โดยอาจหักร้อยละ 10-15 จากรายได้ เป็นเงินออม และแบ่งประเภทของการออมอย่างชัดเจน เช่น การออมเงินเพื่อการศึกษา เป็นต้น ทั้งนี้ ควรออมเงินขั้นต่ำเท่ากับค่าใช้จ่ายที่เราต้องใช้ 6 เดือนเป็นลำดับแรก โดยถือว่าเป็นเงินก้อนฉุกเฉิน กรณีเราเผชิญปัญหากับการขาดที่มาของแหล่งรายได้ ซึ่งจะช่วยผ่อนภาวะ “ตึงเครียด” ทางการเงิน และเป็นระยะเวลาที่เราจะสามารถ “พลิกฟื้น” ความตึงเครียดดังกล่าวได้

  1. “เปลี่ยนการออม เป็นการลงทุน”

ผลสำรวจ “ทักษะการใช้เงินของคนไทย” ของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า มิติของการออมนั้น มีสัดส่วนที่สูง หรือร้อยละ 87.5 ทว่าส่วนมากเป็นการออมเงินสด หรือบัญชีสำหรับการออม ขณะที่คนไทยที่ออมผ่านการลงทุนมีเพียงร้อยละ 2.6 ซึ่งถือว่าน้อยมากจนน่าตกใจ ทั้งที่ในปัจจุบันทักษะด้านการออม และการลงทุน (Savings and Investment) กลายเป็นเรื่องเดียวกัน ตามข้อเท็จจริงที่ว่า “เงินทำงานได้” และมีผลิตภัณฑ์การลงทุนมากมาย ที่สามารถช่วยให้เรากระจายความเสี่ยงของการลงออมได้ดีขึ้น อาทิ ตราสารหนี้ พันธบัตร หุ้น อสังหาริมทรัพย์ หรือประกันชีวิตควบคู่การลงทุน (Unit Linked) เป็นต้น

“เงินงอกเงยได้” แท้จริงแล้ว คือ การประกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้นทุกปี ขณะที่มูลค่าของเงินในอนาคตค่อยๆ ลดลง อาทิ สมมติว่าในอดีตเงิน 100 บาท สามารถซื้อกาแฟได้ 10 แก้ว (ราคาแก้วละ 10 บาท) ทว่าปัจจุบัน สมมติว่ากาแฟเฉลี่ยแก้วละ 20 บาท เท่ากับว่า เราสามารถซื้อกาแฟได้เพียงครึ่งนึง หรือ 5 แก้วเมื่อเทียบกับในอดีต เป็นต้น การทำให้เงินงอกเงยได้ จะช่วยให้เรามีเงินเพิ่มขึ้น จนชนะเงินเฟ้อได้ด้วยตัวของมันเอง

อย่างไรก็ตาม การลงทุนต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจ ทั้งอัตราดอกเบี้ย ระดับราคา การกระจายการลงทุน และความเสี่ยง ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาการลงทุนให้ดี โดยปัจจุบันเราสามารถพิจารณาการลงทุนผ่าน “ดัชนีความยั่งยืน (Sustainability Index)” ซึ่งเป็นดัชนีที่ชี้วัดว่าบริษัทต่างๆ ดำเนินการผ่าน “แนวคิดการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน หรือ ESG- Environment, Social, และ Governance โดยหากบริษัทใดได้รับการจัดอันดับที่ดี ย่อมแสดงให้เห็นว่า บริษัทดังกล่าวดำเนินงานอย่างโปร่งใส ไม่ลืมคุณภาพของสังคม และสิ่งแวดล้อม การพิจารณานี้สามารถเป็น “ภูมิคุ้มกัน” นักลงทุนเวลาเลือกลงทุนได้

  1. “เป็นหนี้ได้ แต่ต้องไม่เป็นหนี้เสีย (Debt Management)

การเป็นหนี้ ไม่ใช่เรื่องไม่ดี แต่ความท้าทายอยู่ที่ว่า เราจะบริหารหนี้ให้เกิดสภาพคล่องได้อย่างไร ผู้เขียนเห็นว่า เริ่มแรก เราควรสร้างงบประมาณ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับหนี้ เพื่อให้เราสามารถวางแผนการใช้จ่าย จนรู้ว่าจะสามารถชำระหนี้ได้อย่างไร สิ่งนี้ทำให้รู้ว่าเรา “รับไหว” หรือไม่ นอกจากนี้ต้องมีแผนสำหรับการจัดการหนี้ควบคู่กันไป เช่น ชำระหนี้ให้ตรงเวลา, พิจารณาการรีไฟแนนซ์ และสร้างเงินสำรองฉุกเฉิน เป็นต้น

  1. “ภาษีจัดการให้ดี เงินออมเพิ่ม”

การยื่น และเสียภาษีให้ถูกต้อง เป็นหน้าที่ของพลเมืองไทย อย่างไรก็ตาม สิทธิประโยชน์ทางภาษี ยังเป็นคุณประโยชน์ที่สามารถทำให้เราลดหย่อนได้ ผู้เขียนเห็นว่า การจัดการภาษีที่ดี ทำให้ผ่อนคลายภาระทางภาษีได้ ซึ่งเป็นผลให้เราสามารถแปรผันค่าใช้จ่ายดังกล่าว เป็นเงินออม หรือเงินลงทุนได้มากขึ้น

การจัดการภาษี ควรเริ่มจากการวางแผน ภาษี กล่าวคือ เราต้องสามารถจำแนกประเภทของรายได้ และค่าใช้จ่ายที่นำไปหักลดหย่อน โดยเฉพาะสิทธิตามกฎหมายของการลดหย่อนภาษี และศึกษาทางเลือกการลดหย่อนภาษีผ่านการลงทุน อาทิ การลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) เป็นต้น

“Financial Literacy 101” จึงเปรียบเสมือนตำราเล่มแรกที่จะพาเราไปสำรวจและสร้างความเข้าใจในเรื่องการเงิน ตั้งแต่การตั้งเป้าหมาย การออม การลงทุน ไปจนถึงการจัดการหนี้และภาษี เพราะความรู้เหล่านี้ไม่ใช่เพียงแค่ข้อมูลในตำราเรียน แต่เป็น “ทักษะชีวิต” ที่ช่วยให้เราตัดสินใจได้อย่างมั่นใจ พร้อมรับมือกับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ บทความนี้จึงหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นให้ทุกคนหันมามองเห็นความสำคัญของการรู้เท่าทันทางการเงิน และพร้อมที่จะใช้ความรู้นี้เพื่อสร้างชีวิตที่มั่นคงและยั่งยืนในทุกย่างก้าว