เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้รับเกียรติเป็นวิทยากรพิเศษ ขึ้นกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “How to Reshape Thailand’s Education for the Future” บนเวที THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2024 ฟอรัมเศรษฐกิจระดับชาติจัดขึ้น ณ พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน ภายใต้ธีม “BRAVE NEW WORLD เศรษฐกิจไทย ไล่กวดโลกใหม่” ระหว่างวันที่ 13-15 พฤศจิกายน งานนี้มีวิทยาการผู้เชี่ยวชาญทั้งในไทยและต่างประเทศกว่า 40 ท่านร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์เกี่ยวกับเทรนด์ใหม่ ๆ ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยในอนาคต พร้อมทั้งมีผู้แทนจากองค์กร นักวิชาการ และเยาวชนรุ่นใหม่เข้าร่วมฟังอย่างคึกคัก สะท้อนถึงความร่วมมือในการผลักดันการศึกษาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน
บรรยากาศก่อนเริ่มเวทีเป็นไปอย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง คุณศุภชัยได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับคุณนครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและบรรณาธิการบริหาร บริษัท เดอะสแตนดาร์ด จำกัด ทั้งสองได้พูดคุยถึงประเด็นที่เป็นประโยชน์หลากหลายด้าน เพื่อสร้างไอเดียใหม่ ๆ ในการพัฒนาประเทศ
เมื่อขึ้นเวที คุณศุภชัยได้หยิบยกถึงการจัดอันดับของ “IMD World Talent Ranking 2024” ซึ่งประเทศไทยอยู่ที่ลำดับ 47 จาก 67 ประเทศ และยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยย้ำว่า การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาประเทศ ท่ามกลางยุคที่เทคโนโลยีมีบทบาทในทุกภาคส่วน การปรับปรุงระบบการศึกษาให้ทันสมัยเป็นภารกิจเร่งด่วน ประเทศไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ยังนำเสนอแนวทาง SI Transformation Model สำหรับการปฏิรูปการศึกษาใน 5 มิติ ได้แก่ Transparency: ให้โรงเรียนมีการประเมินผลแบบ School Grading และชี้วัดผลสัมฤทธิ์ที่มุ่งพัฒนาศักยภาพผู้เรียน Market Mechanism: ส่งเสริมกลไกตลาดผ่านความร่วมมือทุกภาคส่วน รวมถึงสื่อที่มีคุณภาพ Leadership & Talents: ส่งเสริมบทบาทครูในฐานะโค้ช พร้อมทั้งเพิ่มค่าตอบแทน Child Centric / Empowerment: ส่งเสริมการเรียนรู้เชิงปฏิบัติแบบ Action-Based Learning และการตั้งคำถามด้วยตัวเอง และ Technology: เปิดโอกาสให้นักเรียนเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมนวัตกรรม
นอกจากนี้ คุณศุภชัยได้เสนอแนวทาง 14 ข้อในการพัฒนาการศึกษาให้รองรับการเปลี่ยนแปลงในปี 2030 โดยมีรายละเอียดสำคัญดังนี้ 1) พัฒนาระบบบริหารจัดการโรงเรียนให้มีความโปร่งใส 2) กำหนดให้วิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์เป็นวิชาบังคับในหลักสูตร 3) จัดหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ปลอดภัยและพร้อมใช้งานสำหรับนักเรียนทุกคน 4) ปรับโรงเรียนทุกแห่งให้เป็น Learning Center 5) ปรับตัวชี้วัดของบุคลากรทางการศึกษาโดยเน้นผลสัมฤทธิ์ในด้านศักยภาพและคุณธรรมของเด็ก 6) ภาครัฐควรสนับสนุนผู้ผลิตเนื้อหาคุณภาพในช่วง Prime Time ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ 7) เตรียมบุคลากรจำนวน 3 ล้านคนให้มีทักษะด้านดิจิทัล 8) ส่งเสริมการสร้างสตาร์ทอัพให้ได้ 20,000 รายภายในปี 2027 9) ปรับการสอนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โดยเน้นการค้นคว้า วิจัย และพัฒนา 10) ผลักดันมหาวิทยาลัยให้มุ่งเน้นการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม 11) สร้างความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนา ICT Talent ให้มีอยู่ในทุกโรงเรียน 12) ปรับเพิ่มค่าตอบแทนให้ครูเทียบเท่าวิชาชีพอื่น เช่น หมอและวิศวกร 13) สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียน ด้วยการพัฒนาผู้อำนวยการและครูใหญ่ 30,000 คนให้มีบทบาทเสมือนพ่อแม่คนที่สองของเด็ก และ 14) เปลี่ยนโรงเรียนให้เป็น “Smart School” ที่มีระบบรักษาความปลอดภัย พร้อมนำเทคโนโลยี AI มาช่วยเพิ่มศักยภาพการเรียนรู้
โดยมุ่งเน้นการปรับโครงสร้างและนโยบายที่โปร่งใส เช่น การบรรจุวิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ให้เป็นวิชาบังคับ การจัดหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่เพียงพอและปลอดภัยสำหรับนักเรียน การพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะด้านดิจิทัล และการสนับสนุน Smart School ที่มีมาตรการรักษาความปลอดภัยและการใช้ AI เพื่อส่งเสริมศักยภาพการเรียนรู้ นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ (Learning Center) ยกระดับคุณภาพบุคลากรทางการศึกษา และปรับตัวให้พร้อมรับมือกับยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
การปาฐกถาครั้งนี้ได้สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เข้าร่วมงานเห็นถึงความจำเป็นของการศึกษาในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย คุณศุภชัยได้กล่าวสรุปว่า “การปฏิรูปการศึกษาเป็นภารกิจของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และสังคม ซึ่งต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างอนาคตที่ดียิ่งขึ้น” สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของซีอีโอเครือซีพีในการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาไทย ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างเยาวชนที่มีทักษะและศักยภาพพร้อมรับมือกับอนาคตในยุคดิจิทัล