9 ธันวาคม 2567 – เยาวชนคนรุ่นใหม่ One Young World จากเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) นำโดย คุณภัทราภรณ์ พลอยวิเลิศ จาก เครือเจริญโภคภัณฑ์ คุณพาณิภัด หล่อวณิชย์ จาก บมจ.ซีพี ออลล์ คุณธนกร ซื่อสัตย์พาณิชย์ จาก บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร คุณวนิดา ถวิลการ จาก บจก. เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส และคุณนันทิช อัคนิวรรณ จาก บมจ. ซีพีแลนด์ ในฐานะผู้นำแคมเปญ “#FIGHTหมอกควัน: พลังคนรุ่นใหม่ เพื่ออากาศสะอาด… เพื่อพรุ่งนี้ที่ดีกว่า เข้ารับฟังบรรยายเชิงปฏิบัติการ และทดลองเทคโนโลยีระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability System Workshop & Demo) โดยมีคุณภาสกร สาตร์พันธ์ – รองกรรมการผู้จัดการความรับผิดชอบต่อสังคมและความยั่งยืน บมจ. กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (BKP) คุณเชิดชาย ศรีวงษ์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านภูมิสารสนเทศ บมจ. กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (BKP) และคุณนิพนธ์ มุ่ยเรืองศรี ที่ปรึกษาสำนักสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม และสำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ บจก. เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส (CPP) ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นผู้บรรยาย ณ ห้องปฏิบัติการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability Operation Room) บมจ. กรุงเทพโปรดิ๊วส์ จำกัด (BKP) อาคารซีพีทาวเวอร์ สีลม
การอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop & Demo) เริ่มโดยคุณภาสกร สาตร์พันธ์ รองกรรมการผู้จัดการความรับผิดชอบต่อสังคมและความยั่งยืน บมจ. กรุงเทพโปรดิ๊วส (BKP) และคุณเชิดชาย ศรีวงษ์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านภูมิสารสนเทศ บมจ. กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (BKP) กล่าวต้อนรับ และชักชวนให้ เยาวชนคนรุ่นใหม่ One Young World จากเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ตั้งคำถามที่สงสัยเกี่ยวกับระบบตรวจสอบย้อนกลับ และกระบวนการทำงานที่เกี่ยวข้อง โดยน้อง ๆ ได้ตั้งคำถามอย่างหลากหลาย และน่าสนใจ
จากนั้นคุณภาสกร ได้เริ่มบรรยายจุดเริ่มต้นของระบบตรวจสอบย้อนกลับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว โดยระบุว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้พัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อร่วมแก้ปัญหาเหตุการณ์เขาหัวโล้น ที่จังหวัดน่าน ผ่านระบบตรวจสอบ เพื่อรับรองว่าการรับซื้อข้าวโพดเป็นไปอย่างโปร่งใส ไม่รับซื้อจากเกษตรกรที่บุกรุกพื้นที่ป่า หรือพื้นที่เขา โดยสาเหตุการบุกรุกป่า และการเผาแปลง มักมาจากพื้นที่ภูเขาสูง ไม่มีเอกสารสิทธิ์ โดยเฉพาะเมื่อเกษตรกรปลูกในพื้นที่ไม่เหมาะสม ผลผลิตต่อไร่ต่ำ รายได้ต่ำ จึงทำให้เกิดการขยายพื้นที่เพาะปลูก และทำลายป่า
“ซีพีเป็นที่แรกที่ริเริ่มระบบนี้มา 10 ปี แล้ว เราจะให้ผู้เล่นที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน ทั้งเกษตรกร และพ่อค้าคนกลาง มาลงทะเบียนตัวตน พร้อมเอกสารสิทธิ ข้อมูลนี้ยังเป็นฐานข้อมูล ที่เรานำมาใช้แสดงตำแหน่งที่ตั้งแปลงผ่านเทคโนโลยีดาวเทียม เพื่อตรวจหาพื้นที่เผา ผ่านการแสดงจุดความร้อน ป้องกันไม่ให้เกิดการรับซื้อจากพื้นที่ป่า พื้นที่เขา และพื้นที่เผา นอกจากนี้ยังป้องกันฝุ่น PM. 2.5 ในอีกทางหนึ่งอีกด้วย” คุณภาสกรกล่าว
นอกจากนี้คุณภาสกร ยังระบุว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดย บมจ. กรุงเทพโปรดิ๊วส (BKP) ยังจัดทำโครงการ “คู่ค้าข้าวโพดพันธมิตร พิชิตหมอกควัน” ร่วมกับคู่ค้า หรือพ่อค้าคนกลาง กำกับดูแลเพื่อจูงใจเกษตรกร ให้ลด ละ เลิกการเผาแปลง และใช้เทคโนโลยีแอปพลิเคชั่นระบบตรวจสอบย้อนกลับ แอปพลิเคชั่นฟ.ฟาร์ม และหน้าเว็ปไซต์ซีพีเอฟ เพื่อรับข้อมูลร้องเรียนการเผาอีกด้วย
จากนั้นคุณเชิดชาย ศรีวงษ์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านภูมิสารสนเทศ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) ได้แสดงหน้าจอแสดงผลระบบตรวจสอบย้อนกลับ และห้องระบบตรวจสอบย้อนกลับ ที่มีเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียม และบล็อกเชนเป็นหัวใจสำคัญ ร่วมกับระบบฮอตสปอต (Hotspot) และเบิร์น สการ์ (Burn Scar) เป็นเทคโนโลยีสนับสนุน บ่งบอกจำนวนแปลงพื้นที่เกษตร อัตราการเผา ข้อมูลคู่ค้า เพื่อช่วยเป็นข้อมูลตัดสินใจการรับซื้อข้าวโพด
“เทคโนโลยีดาวเทียมเป็นข้อมูลวิทยาศาสตร์ ที่ทำให้เราเห็นภาพทั้งโลก บวกกับบล็อกเชน ที่รักษาข้อมูลอย่างโปร่งใส เข้าไปแก้ไขไม่ได้ ข้อมูลจึงเชื่อถือได้ โดยสามารถแสดงให้เห็นถึงแปลงที่เผาผ่านระดับสีเป็นรายแปลงเพื่อนำไปสู่การลงพื้นที่ตรวจสอบ นอกจากนี้ยังระบุห่วงโซ่ส่วนของคู่ค้าว่ารับซื้อจากแปลงไหน และส่งไปขายโรงงานไหนบ้าง” คุณเชิดชายกล่าว
ด้านคุณนิพนธ์ มุ่ยเรืองศรี ที่ปรึกษาสำนักสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม และสำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ บจก. เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส (CPP) ระบุว่า โดยสรุประบบตรวจสอบย้อนกลับมี 6 ขั้นตอน เริ่มจาก 1. การขึ้นทะเบียนคู่ค้าเกษตรกรและการวาดขอบเขตแปลงเพาะปลูก 2. การใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมตรวจสอบพื้นที่เพาะปลูก 3. การตรวจสอบแผนที่แนวป่าย้อนหลังถึงปี 2020 4. การติดตามจุดความร้อนในแปลงเพาะปลูก 5. การตรวจสอบพื้นที่ที่เกิดการเผาและหักออกจากพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด 6.การคำนวณปริมาณการรับซื้อจากพื้นที่ที่ถูกหักออกจากการเพาะปลูก
“ระบบตรวจสอบย้อนกลับยังเป็นกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเกษตรกร ผ่านการรับรองจากองค์กรภายนอก ไม่เพียงพิสูจน์ความโปร่งใสการรับซื้อ และขายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด แต่ยังสร้างการรับรู้ และขับเคลื่อนวิถีการเกษตรที่ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน” คุณนิพนธ์กล่าว
ขณะที่คุณภัทราภรณ์ พลอยวิเลิศ ตัวแทนเยาวชนคนรุ่นใหม่ One Young World จากเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ระบุว่า รู้สึกดีมากที่ได้เยี่ยมชม ห้องปฏิบัติการตรวจสอบย้อนกลับ และเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ เทคโนโลยีบล็อกเชน และภาพถ่ายดาวเทียม ในการตรวจสอบกระบวนการผลิต ซึ่งช่วยให้ข้อมูลมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ตลอดทุกขั้นตอน ตั้งแต่แปลงเพาะปลูกจนถึงมือผู้บริโภค
“เทคโนโลยีเหล่านี้ทำให้มั่นใจได้ว่าแหล่งผลิตที่รับซื้อ ไม่มีการทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น การเผาในพื้นที่การเกษตร เป็นต้น ซึ่งสิ่งนี้เป็นส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาหมอกควัน การเผาพื้นที่ทางการเกษตร ไม่บุกรุกพื้นที่ป่า และส่งเสริมความยั่งยืนในระยะยาว” คุณภัทราภรณ์กล่าว
ก่อนหน้านี้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้ Kick-off เปิดตัวแคมเปญ “#FIGHTหมอกควัน: พลังคนรุ่นใหม่ เพื่ออากาศสะอาด… เพื่อพรุ่งนี้ที่ดีกว่า” เพื่อร่วมรณรงค์แก้ไขปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมประกาศความร่วมมือ 3 ข้อประกอบไปด้วย 1. หยุดเผาในพื้นที่การเกษตร สร้างเครือข่าย FIGHT Team ในพื้นที่ภาคเหนือ ร่วมกับเยาวชนในชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาไฟป่า 2. ส่งเสริมการตรวจสอบย้อนกลับในภาคเอกชน ผลักดันให้สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมมีแหล่งผลิตที่ปลอดการเผา เพื่อให้ผู้บริโภคสนับสนุนสินค้าที่รักษาสิ่งแวดล้อม และ 3. ระดมทุนเพื่อแก้ปัญหาหมอกควัน ชวนทุกคนร่วมบริจาคผ่านมูลนิธิป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่า และฝุ่นควัน จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสนับสนุนโครงการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
หลังจากนี้ในเดือนธันวาคม 2567 ต่อเนื่องถึงกุมภาพันธ์ 2568 เยาวชนคนรุ่นใหม่ One Young World จากเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) จะเดินสายพบปะ และรณรงค์แคมเปญในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ ร่วมกับตัวแทนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ หน่วยงานภาครัฐ และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง