คุณเกรียงชัย บุญโพธิ์อภิชาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL เปิดเผยว่า แนวทางการดำเนินงานในปี 2563 นี้ บริษัทมีเป้าหมายการลงทุนประมาณ 11,500-20,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการเปิดร้านสาขาใหม่ 3,800-4,000 ล้านบาท การปรับปรุงร้านเดิม 2,400-2,500 ล้านบาท สำหรับโครงการใหม่, บริษัทย่อยและศูนย์กระจายสินค้า 4,000-4,100 ล้านบาท และสินทรัพย์ถาวรและระบบสารสนเทศ 1,300-1,400 ล้านบาท ส่วนการลงทุนเปิดสาขาใหม่นั้นจะเปิดเพิ่มอีกประมาณ 700 สาขา และตั้งเป้าว่าจะมีสาขาครบ 13,000 สาขาภายในปี 2564 โดยสาขาใหม่ที่จะเปิดจะเน้นเปิดตามการขยายตัวของชุมชนและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ รวมถึงเมืองท่องเที่ยวและทำเลที่มีศักยภาพอื่น ๆ
สำหรับผลการดำเนินงานประจำปี 2562 บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 22,343 ล้านบาท โดยในรอบปี 2562 ที่ผ่านมา บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวม 571,110 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 คิดเป็นร้อยละ 8.3 แบ่งเป็นรายได้จากการขายสินค้าและบริการ 550,901 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 8.4 จากธุรกิจร้านสะดวกซื้อ รวมถึงจากธุรกิจศูนย์จำหน่ายสินค้าระบบสมาชิกแบบชำระเงินสดและบริการตนเอง ภายใต้ชื่อ “สยามแม็คโคร” รวมถึงการเดินหน้าขยายสาขาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงสินค้าได้อย่างสะดวก ทั้งนี้ รายได้รวมดังกล่าวมาจาก 3 ธุรกิจหลัก ประกอบด้วย ธุรกิจร้านสะดวกซื้อมีสัดส่วนร้อยละ 59, ธุรกิจค้าส่งแบบชำระเงินสดและบริการตนเองมีสัดส่วนร้อยละ 34 และธุรกิจอื่น ๆ ร้อยละ 7
ทั้งนี้ บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรขั้นต้นจากการขายและบริการเท่ากับ 124,838 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 จากปีก่อน จากการเติบโตของรายได้จากการขายของธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ธุรกิจแม็คโคร และธุรกิจสนับสนุนอื่น ๆ และมีอัตรากำไรขั้นต้นในงบการเงินรวมของบริษัทเป็นร้อยละ 22.7 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 22.3 ในปี 2561 สาเหตุหลักมาจากทั้งธุรกิจร้านสะดวกซื้อและธุรกิจแม็คโคร มีสัดส่วนของยอดขายสินค้าที่มีกำไรขั้นต้นสูงเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากจำแนกตามกลุ่มธุรกิจจะพบว่า ในส่วนของกลุ่มธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ที่มุ่งเน้นการขยายสาขาให้ครอบคลุมเพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้า รวมทั้งการปรับปรุงสาขาเดิมและสาขาใหม่ให้มีรูปแบบและสิ่งอำนวยความสะดวกที่สอดคล้องกับพฤติกรรมและรูปแบบการดำเนินชีวิตของลูกค้า โดยในระหว่างปี 2562 มีการขยายสาขา 7-Eleven ทั้งร้านบริษัท ร้าน SBP (store business partner) และร้านค้าที่ได้รับสิทธิช่วงอาณาเขต รวมทั้งสิ้น 724 สาขาตามเป้าหมาย ทำให้ ณ สิ้นปี 2562 บริษัทมีจำนวนร้านสาขาทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 11,712 สาขา แบ่งเป็นร้านบริษัท 5,215 สาขา หรือประมาณร้อยละ 45 เพิ่มขึ้น 321 สาขา ร้าน SBP 5,687 สาขา หรือประมาณร้อยละ 48 เพิ่มขึ้น 351 สาขา และร้านค้าที่ได้รับสิทธิช่วงอาณาเขต 810 สาขา หรือประมาณร้อยละ 7 เพิ่มขึ้น 52 สาขา
ในด้านผลิตภัณฑ์และบริการ บริษัทยังมีการพัฒนาเพื่อมุ่งเป้าเป็นร้านสะดวกอิ่มเต็มรูปแบบ โดยมีการพัฒนาสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งมีการเพิ่มเมนูใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยปี 2562 ที่ผ่านมา มีสัดส่วนของรายได้จากการขายร้อยละ 71.2 มาจากสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และร้อยละ 28.8 มาจากสินค้าอุปโภคไม่รวมบัตรโทรศัพท์ โดยสัดส่วนรายได้จากสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 70.1 ของปีก่อน เป็นสาเหตุมาจากสินค้าประเภทอาหารพร้อมทานและเครื่องดื่มมีอัตราการเติบโตในระดับที่สูง
จากนโยบายการขยายสาขาเพิ่มและการนำเสนอสินค้าเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ส่งผลให้ในปี 2562 ธุรกิจร้านสะดวกซื้อมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการรวม 334,061 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 25,218 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 8.2 ในขณะที่ยอดขายเฉลี่ยของร้านเดิมในปี 2562 มีอัตราการเติบโตเท่ากับร้อยละ 1.7 โดยมียอดขายเฉลี่ยต่อร้านต่อวันเท่ากับ 82,928 บาท มียอดซื้อต่อบิลโดยประมาณเท่ากับ 70 บาท ขณะที่จำนวนลูกค้าต่อสาขาต่อวันเฉลี่ย 1,187 คน นอกจากนี้ ธุรกิจร้านสะดวกซื้อยังมีรายได้อื่นอีกจำนวน 19,920 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1,415 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 มีสาเหตุหลักจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าสิทธิและรายได้ที่เกี่ยวข้องกับค่าสิทธิจากการที่ร้าน SBP มีจำนวนเพิ่มขึ้น รวมถึงรายได้ค่าส่งเสริมการขาย ซึ่งเกิดจากการจัดรายการส่งเสริมการขายร่วมกัน
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ