คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อประชาชนและเศรษฐกิจไทย ดังนั้น เพื่อลดทอนผลกระทบที่เกิดขึ้น CPF เปิดตัว ‘โครงการ CPF ส่งอาหารจากใจร่วมต้านภัย COVID-19’ จะส่งอาหารให้กับผู้เฝ้าระวังโรค (ที่ต้องกักตัว 14 วัน) รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ
“แม้ว่าพนักงานของ CPF จะไม่มีใครเป็นผู้ป่วยโควิด-19 แต่มีพนักงานที่อาสาเฝ้าระวังตนเอง 27 คน เบื้องต้น CPF จึงส่งอาหารให้ในช่วงกักตัว และขยายไปที่บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานในช่วงมีการแพร่ระบาด จนตอนนี้จะเปิดให้บุคคลทั่วไปที่เป็นผู้เฝ้าระวัง สามารถลงทะเบียนเข้าโครงการนี้ได้ CPF เข้าหารือกับกรมควบคุมโรค โดยจะส่งและตรวจสอบข้อมูลกับทางกรมฯ”
ทั้งนี้ ทาง CPF มีอาหารให้เลือก 3 ชุด รวม 34 รายการ ได้แก่ 1. อาหารพร้อมทาน 2. ชุดข้าวแกงถุง 3. ชุดอาหารสด เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู ฯลฯ ปัจจุบันมีคำขอเข้าร่วมโครงการ 200 ราย หลังจากการเปิดโครงการมา 1 สัปดาห์ โดยมีโรงพยาบาลที่ส่งคำขอมาแล้ว 10 แห่ง เช่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คาดว่าหลังการเปิดโครงการอย่างเป็นทางการจะมีผู้ส่งคำขอเข้าร่วมหลักพันราย
ขณะที่การรับมือภายในองค์กร จะรับนโยบายกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เช่น ให้พนักงานหลีกเลี่ยงกิจรรมที่มีความเสี่ยง ดูแลสุขภาพพนักงานให้แข็งแรง รวมถึงออกกฎกรณีพนักงานต้องเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง 13 ประเทศ
อย่างไรก็ตาม ในภาคธุรกิจ CPF คาดว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของประเทศไทยลดลง 5% เมื่อเทียบจากต้นปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งปรับตัวลดลง เพราะการขายช่องทางโรงแรมลดลง 50% จากปีก่อน ขณะเดียวกันรายได้ส่วนรายย่อยที่เป็นสัดส่วนใหญ่ ยังเติบโต 5-7% จากปีก่อน เพราะเห็นการซื้อสินค้าตุนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าในกรณีสถานการณ์ดี การระบาดของโรคโควิด-19 จะจบในสิ้นไตรมาส 2/63 และกรณีที่แย่ที่สุด คาดว่าการแพร่ระบาดจะสิ้นสุดในไตรมาส 4 ปีนี้
“การรับมือกับโควิด-19 เราต้องเฝ้าระวัง เพื่อให้มั่นใจว่า ระบบการผลิต คลังสินค้า การกระจายสินค้าปลอดภัย โดยเรามีการตรวจอุณหภูมิพนักงานที่เกี่ยวข้องวันละ 2 เวลา เพื่อดูแล ควบคุมระบบซัพพลายให้มีสินค้าปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังวางแผนเพื่อรองรับภาวะวิกฤต (Crisis) ไว้ทั้งหมดแล้ว” ประสิทธิ์ กล่าว