เครือซีพีมุ่งมั่นเสริมสร้างคุณภาพชีวิตชุมชน เตรียมพร้อมเปิดสำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชนแห่งแรกที่ จ.น่าน ชูเป็นศูนย์รวมความร่วมมือทุกภาคส่วน เดินหน้าเต็มสูบขับเคลื่อนความยั่งยืนภาคเหนือ
เครือเจริญโภคภัณฑ์มุ่งขับเคลื่อนความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมจัดตั้งสำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชน เครือเจริญโภคภัณฑ์ จ.น่าน ขึ้นเป็นแห่งแรก เพื่อเป็นศูนย์รวมของความร่วมมือกับพี่น้องประชาชน เกษตรกร หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา ทุกภาคส่วนในการมีส่วนร่วมเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของชุมชนที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในพื้นที่ จ.น่าน
เมื่อเร็วๆนี้ คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และคณะผู้บริหาร ได้เดินทางไปติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างสำนักงานด้านความยั่งยืนฯ ซึ่งขณะนี้การก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วกว่า 90% คาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการในเดือนพฤษภาคม 2563
คุณบัญชา โชติกำจร ผู้อำนวยการสำนักงานด้านความยั่งยืน และพัฒนาชุมชน เครือเจริญโภคภัณฑ์ จ.น่าน เปิดเผยว่า สำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชน จ.น่านเป็นสำนักงานด้านความยั่งยืนแห่งแรกของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนงานด้านความยั่งยืนระดับภูมิภาค ครอบคลุมในพื้นที่ 4 ลุ่มน้ำ ปิง-วัง-ยม-น่าน ที่เป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำเจ้าพระยา ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงประชาชนชาวไทยในพื้นที่เกษตรกรรม และเป็นความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย ซึ่ง จ.น่านเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีปัญหาเรื่องภูเขาหัวโล้นและหมอกควัน ไฟป่า โดยเครือฯ ได้ร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เข้าไปช่วยฟื้นฟูและแก้ปัญหาในชุมชนตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 5 ปี ผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการสบขุ่นโมเดล, โครงการน้ำพางโมเดล, โครงการค่ายเยาวชนรักษ์พงไพร เป็นต้น และนำไปสู่แนวทางการก่อตั้งสำนักงานแห่งนี้เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ครอบคลุมทุกมิติทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
“สำนักงานแห่งนี้จะทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมของทุกภาคส่วน นอกจากจะเป็นสถานที่แบ่งปันและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ชุมชนแล้ว ยังได้จัดแบ่งพื้นที่ตอบโจทย์การพัฒนาชุมชนในหลากหลายมิติ เช่น โซน Training Courses Achieve Sustainable Development Program (ASDP) จะมีหลักสูตรบ่มเพาะที่ตอบโจทย์ทุกกลุ่มเป้าหมายที่เพิ่มทักษะ ความรู้ ความเข้าใจ และสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมในอนาคต โซน Sustainable Coffee การทำกาแฟเพื่อสังคมที่ยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิตให้เกิดการจ้างงานในชุมชน และเกิดการเติบโตของเศรษฐกิจระดับชุมชน โดยมีสูตรกาแฟที่เป็นเอกลักษณ์ กาแฟของกลุ่มวิสาหกิจสร้างป่า สร้างรายได้บ้านสบขุ่น จ.น่าน”
อีกหนึ่งภาคส่วนที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านความยั่งยืนในภาคเหนือ คือ “เกษตรกร” ซึ่งในพื้นที่ จ.น่าน เครือซีพีได้ขับเคลื่อน “โครงการสบขุ่นโมเดล” ต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 5 ปัจจุบันจัดตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชนสร้างป่า สร้างรายได้บ้านสบขุ่น” เปลี่ยนจากพื้นที่ปลูกข้าวโพดมาปลูกกาแฟ ที่สร้างมูลค่าสูงกว่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลผลิตกาแฟจากวิสาหกิจชุมชนจะนำมาจำหน่ายที่ร้านกาแฟในสำนักงานด้านความยั่งยืนฯ แห่งนี้อีกด้วย
คุณสมบูรณ์ นามวงค์ ผู้ใหญ่บ้านสบขุ่น กล่าวว่า สำนักงานความยั่งยืนฯ จ.น่าน จะเป็นอีกหนึ่งมิติที่ทำให้ชาวบ้านมีความรู้ที่หลากหลายรอบด้าน มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากการสนับสนุนและส่งเสริมจากเครือซีพี ที่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านนำผลผลิตกาแฟมาจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มรายได้ด้วย ซึ่งเครือซีพีได้เข้ามาให้ความรู้และส่งเสริมให้เกษตรกรบ้านสบขุ่นรวมกลุ่มกันปลูกกาแฟ จนปัจจุบันจัดตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชนสร้างป่า สร้างรายได้บ้านสบขุ่น” พร้อมทั้งมีการจัดสร้างโรงแปรรูปกาแฟ
ปัจจุบันมีชาวบ้านเข้าร่วมแล้วจำนวน 101 ราย รวม 129 แปลง โดยส่วนตัวเข้าร่วมเป็นรุ่นที่ 2 ปลูกกาแฟในพื้นที่ 9 ไร่ จำนวน 2,000-3,000 ต้น ทีมงานจากซีพีเข้ามาให้คำแนะนำพาไปศึกษาดูงานการปลูกกาแฟ ซึ่งคาดว่าจะได้เก็บผลผลิตในปีนี้ และจะมีรายได้จากการขายกาแฟเชอร์รี โดยมีแนวโน้มจะเลิกปลูกข้าวโพด เพราะนอกจากผลผลิตจะขายได้ราคาไม่ดีแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องการทำลายป่าด้วย ทั้งนี้ ทางหมู่บ้านจะส่งเสริมให้ชาวบ้านหันมาปลูกกาแฟมากขึ้นเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวมากขึ้น
คุณสามารถ ไชยวงค์ สมาชิกในโครงการสบขุ่นโมเดล และกรรมการวิสาหกิจชุมชนสร้างป่า สร้างรายได้บ้านสบขุ่น เปิดเผยว่า ชาวบ้านมีความตื่นตัวและพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่จะส่งเสริมความยั่งยืนในพื้นที่ที่จะเป็นประโยชน์ต่อชาวน่านและส่วนรวม โดยเฉพาะสำนักงานความยั่งยืนฯ จ.น่านที่เครือซีพีมีความมุ่งมั่นและตั้งใจอย่างจริงใจที่จะส่งเสริมให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยส่วนตัวได้ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการสบขุ่นโมเดลตั้งแต่รุ่นแรกเพราะอยากจะเลิกทำไร่ข้าวโพด
จากการไปศึกษาดูงานในพื้นที่ที่ปลูกกาแฟ ได้เห็นตั้งแต่กระบวนการปลูก มูลค่าของกาแฟ และประโยชน์ในการฟื้นฟูผืนป่ากลับมา ทำให้เกิดความตั้งใจที่จะหันมาปลูกกาแฟแทนข้าวโพด และปีนี้เข้าปีที่ 4 แล้ว จำหน่ายผลผลิตกาแฟงวดแรกเป็นเงินกว่าหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งรู้สึกภาคภูมิใจที่มีรายได้ โดยไม่ต้องไปถางป่า ไม่ต้องใช้สารเคมี และยังได้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นจากร่มไม้ของกาแฟทำให้อากาศสดชื่นขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมทำให้สร้างความเชื่อมั่นจากชาวบ้านในชุมชนมากขึ้น และมีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 4 รุ่น
ที่มา ผู้จัดการออนไลน์