เมื่อต้นปีที่ผ่านมา People Matter สื่อของสิงคโปร์ ได้รายงานบทสัมภาษณ์ คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ถึงแนวทางของเครือซีพีที่จะปรับเปลี่ยนไปสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล
คุณศุภชัย กล่าวว่า วิสัยทัศน์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการสร้าง “คุณค่า” อย่างแท้จริง และการก้าวขึ้นสู่การเป็นฮับทางเทคโนโลยีในระดับภูมิภาค โดยเครือฯ มุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกชุมชนและสังคมของทุกประเทศที่เครือฯ เข้าไปดำเนินธุรกิจ ภายใต้วิสัยทัศน์ของ “การเป็นผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านอาหารสำหรับร่างกายกายและจิตใจ ที่สามารถส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะที่ดีสำหรับผู้บริโภคทุกคนทั่วโลก”
ในยุค 4.0 นี้ การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงต้องสร้างความมั่นใจว่า การดำเนินธุรกิจของซีพีสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ และตอบโจทย์ความต้องการในอนาคตของธุรกิจ ซึ่งเครือฯ มุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำของการเปลี่ยนแปลง จึงต้องมุ่งเน้นในการขยายผลและพัฒนาใน 4 ด้านหลัก ได้แก่
1. การส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีชีวภาพ ด้านอาหารและสุขภาพ, หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์, ระบบอัตโนมัติ และระบบโลจิสติกส์
2. การปรับสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต, ระบบการบริหารจัดการ, การตลาด และการบริการลูกค้า
3. การพัฒนาพนักงานที่มีความสามารถ และการสร้างระบบนิเวศต่าง ๆ ภายในองค์กร เพื่อสร้างบุคลากรที่เป็นทั้งคนเก่งและคนดี รวมถึงผู้นำที่เข้มแข็ง มีความสามารถ และมีจริยธรรมคุณธรรม ตลอดจนการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ ที่จะก่อให้เกิดวัฒนธรรมองค์กร ที่ทำให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้มีโอกาสแสดงความสามารถได้อย่างเต็มที่
4. การปลูกฝังค่านิยมหลัก 6 ประการ (หลักการสามประโยชน์, ความรวดเร็วและมีคุณภาพ, ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย, การยอมรับความเปลี่ยนแปลง, การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ, ความซื่อสัตย์และมีคุณธรรม) ภายในองค์กร เพื่อส่งเสริมให้พนักงานมีจิตสำนึกในเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งหมายถึงการเติบโตไปพร้อม ๆ กันของประเทศ สังคม และบริษัท
ทุกวันนี้ เทคโนโลยีมีความสำคัญต่อการพัฒนาธุรกิจและการลงทุนในอนาคต เครือเจริญโภคภัณฑ์กำลังเดินตามยุทธศาสตร์และโรดแม๊ปที่วางไว้ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจของเครือฯ เติบโตบนพื้นฐานของความยั่งยืน โดยจะมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการปฏิบัติงานและการบริหารจัดการให้เป็นระบบดิจิทัล ซึ่งรวมถึงงานด้านการขายที่จะเพิ่มแรงกระตุ้นต่อประสิทธิผลของงานและประสิทธิภาพของพนักงานด้วย
เครือเจริญโภคภัณฑ์มีธุรกิจหลัก 3 ด้าน คือ การเกษตรและอาหาร, ค้าปลีกและจัดจำหน่าย และอุตสาหกรรมการสื่อสารโทรคมนาคม โดยขยายสายธุรกิจครอบคลุมด้านเกษตรอาหาร ค้าปลีกและจัดจำหน่าย โทรคมนาคมและสื่อ อีคอมเมิร์ชและดิจิตอล การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ยานยนต์และอุตสาหกรรม การเงินและการลงทุน และเภสัชกรรม ด้วยระบบนิเวศทั้งหมดของเครือฯ ที่มีอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม จึงจำเป็นต้องผันตัวเองไปสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล
การปรับเปลี่ยนองค์กรใหญ่ ๆ ขนาดนี้จะต้องเจอกับอะไรบ้าง
คุณศุภชัย กล่าวว่าเครือเจริญโภคภัณฑ์มีเครือข่ายพันธมิตรและพนักงานรวมกันกว่า 300,000 คน แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงระดับนี้เป็นงานยาก กระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ได้ทำไป เป็นเรื่องที่ไม่เพียงเกี่ยวข้องเฉพาะกับโครงสร้างขององค์กร หรือความสามารถและศักยภาพที่แตกต่างกัน แต่ยังเกี่ยวพันไปถึงการเปลี่ยนความคิดรูปแบบเดิม ๆ ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างมุมมองใหม่ ๆ เข้าไปในทุกภาคส่วนขององค์กร
“ก็ต้องยอมรับว่า เราต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการผนึกกำลังคน โดยเรามุ่งเน้นในการสรรหาและพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถแบบที่เรียกได้ว่าดีที่สุด เพื่อรองรับการเติบโต เรายังมุ่งเน้นไปในเรื่องของงานวิจัยและพัฒนามากขึ้นด้วย ตลอดจนถึงการลงทุนกับสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพทางด้านเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ พร้อม ๆ ไปกับการพัฒนาความสามารถของบุคลากรในประเทศ และการผนึกกำลังกันของบุคลากรที่มีความสามารถจากบริษัทต่าง ๆ ในเครือทั่วโลก”
ซีพีใช้กลยุทธ์อะไรในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงองค์กร
คุณศุภชัยกล่าวอีกว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ครอบคลุมถึงนวัตกรรม หุ่นยนต์ และการปฏิวัติทางดิจิทัล ที่สอดคล้องกับเทรนด์ของโลก ที่มีการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงมาใช้เพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ ดังนั้น ถ้าพูดถึงเรื่องของกลยุทธ์ สิ่งแรกที่เห็นคือ เรากำลังมองหาธุรกิจใหม่ ๆ ซึ่งใช้เทคโนโลยีและแพลตฟอร์มเป็นหลัก ประการที่สองคือ การเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบดิจิทัล ทั้งหมดที่กล่าวมาก็คือ ความเกี่ยวพันกับการปรับเปลี่ยนกระบวนการทางธุรกิจไปสู่ระบบดิจิตอล รวมถึงเรื่องของคนและการผนึกกำลังกัน
เราต้องดึงทุกหน่วยธุรกิจและผู้บริหารระดับสูงเข้ามาอยู่ในลูปเดียวกัน เพื่อให้ทุกคนเข้าใจภารกิจและเป้าหมายของเครือฯ ต่อการเป็นฮับทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นการบ้านที่เราทำมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และคนของเราต่างมีส่วนร่วมในการถ่ายทอดเป้าหมายองค์กรไปตามลำดับชั้น เพราะตอนนี้เรามี KPI ที่แน่นอนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบดิจิตอล ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการดำเนินงาน
สำหรับองค์กรขนาดใหญ่อย่างซีพี เมื่อต้องมีการเปลี่ยนแปลง ก็จำเป็นต้องปรับวิสัยทัศน์ให้สอดคล้องกับสิ่งที่ผู้คนคิด ตั้งเป้าหมาย กำหนดเป้าหมายหรือ KPI ที่แสดงให้เห็นว่า เรากำลังปรับไปในทิศทางที่ถูกต้อง และการเปลี่ยนแปลงนี้สอดคล้องต้องกันกับนโยบายด้านความยั่งยืน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการดำเนินธุรกิจของเรา
“โมเมนตัมมีขนาดใหญ่มาก แต่การเปลี่ยนแปลงก็มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง เรามีวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้นการลงมือทำ เพราะปูมหลังเรามาทางด้านการผลิตและการบุกเบิก แต่เมื่อคนของเราเข้าใจว่า ‘ทำไม’ เราต้องทำแบบนี้ เขาก็จะรับได้ เพราะที่ซีพี การทำความเข้าใจวัตถุประสงค์ของการทำงานเป็นเรื่องสำคัญมาก”
ทำไมความยั่งยืนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งกับซีพี เครือฯ มีแนวทางปฏิบัติด้านความยั่งยืนที่แตกต่างจากขอบเขตของกิจกรรม CSR ทั่วไปที่องค์กรอื่น ๆ ปฏิบัติกันหรือ
คุณศุภชัยได้กล่าวอีกว่าเราอยู่ในยุคที่ขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่ คนมีความรู้ความสามารถ และองค์กรที่เน้นความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน องค์กรไหนที่มุ่งแสวงหาผลกำไร โดยไม่มีเป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ชัดเจน ก็เท่ากับตั้งอยู่บนความล้มเหลว ดังนั้น เมื่อพูดถึงการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ความยั่งยืนจะต้องเป็นรากฐานของผลประโยชน์ร่วมกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เพื่อรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
สำหรับเรา ภารกิจและค่านิยมต้องเดินไปด้วยกัน เรามีความเชื่อมั่นอย่างลึกซึ้งว่า ทุกภาคส่วนของสังคมจะต้องทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างความสมดุลในความกลมกลืนกันของปัจจัยทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคมในประเทศและโลกของเรา เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ในเครือซีพีเอง เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงเกิดขึ้น เพราะเรามุ่งมั่นสร้างประโยชน์ให้กับสังคมไทยและประเทศที่เราเข้าไปดำเนินงาน
เรามีค่านิยมหลัก 6 ประการ ที่ฝังรากลึกอยู่ในการดำเนินธุรกิจทั่วโลกของเรา ในคนของเรา และในแนวทางของการดำเนินธุรกิจของเรา ซึ่งเป็นจุดศูนย์รวมของความมุ่งมั่นสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ทำให้ธุรกิจของเราเติบโตจากจิตวิญญาณและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งประกอบด้วย หลัก 3 ประโยชน์, ความเร็วและคุณภาพ, การทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย, การยอมรับการเปลี่ยนแปลง, นวัตกรรม และความเป็นนำหนึ่งใจเดียวและความซื่อสัตย์
หลัก 3 ประโยชน์เป็นหัวใจหลักของแนวทางการทำธุรกิจของเครือฯ ที่เรายึดมั่นว่าต้องสร้างประโยชน์ในสามระดับ อย่างแรกคือ ประเทศที่เราดำเนินธุรกิจ อย่างที่สองคือ ประชาชนในประเทศที่เราเข้าไปดำเนินธุรกิจ และอย่างที่สามคือ องค์กรและบุคลากรของเรา
หลักการนี้ทำให้องค์กรของเราเติบโต และเป็นเครื่องยืนยันว่า การดำเนินงานของเครือเจริญโภคภัณฑ์ และพนักงานของเราทั้งในประเทศไทยและในทุกประเทศที่เราดำเนินธุรกิจ ไม่เพียงมีส่วนช่วยให้ธุรกิจของเราเติบโต แต่ยังช่วยให้สังคมโดยรวมเติบโตไปพร้อม ๆ กันด้วย
“ปรัชญาในการดำเนินธุรกิจของเราตั้งอยู่บนหลักการที่ว่า ทุกที่ที่เราดำเนินธุรกิจ ประเทศจะต้องได้รับประโยชน์เป็นอันดับแรก จากนั้นจึงเป็นประชาชนของประเทศนั้นได้ประโยชน์ แล้วจึงเป็นบริษัทของเราที่จะได้ประโยชน์ตามมา ซึ่งนี่เป็นสิ่งเดียวที่ทำให้เราเติบโตได้อย่างยั่งยืน”
หากย้อนเส้นทางของการเป็นผู้นำของตัวเอง คุณคิดว่าได้เรียนรู้อะไรบ้าง ตลอดหลายปีที่ผ่านมา?
คุณศุภชัยได้ตอบคำถามเพิ่มเติมว่าตั้งแต่ผมเริ่มทำธุรกิจโทรคมนาคมและสื่อเมื่อหลายปีก่อนจนถึงตอนนี้ ในฐานะซีอีโอ ผมได้เห็นการเปลี่ยนแปลงมากมาย การอยู่ในธุรกิจโทรคมนาคม ผมเห็นการขึ้นและลงของเทคโนโลยี ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เพราะมันผลักดันให้คุณยอมรับการเปลี่ยนแปลง และยังปลูกฝังความกล้าหาญในตัวคุณที่จะก้าวไปข้างหน้าอีกด้วย
การเปลี่ยนแปลงนั้นน่ากลัวเสมอ แต่ปัจจัยที่เกิดจากความกลัวนี้ก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะมันทำให้คุณมีความกล้าที่จะย้ายจากจุด A ไปยังจุด B
และถ้าคุณเกาะเกี่ยวกับคุณค่าที่เกิดจากการมองบวกและความกล้า คุณก็จะสามารถเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นธรรมชาติของการทำธุรกิจ การเป็นผู้นำสอนผมว่าคนเราต้องตั้งเป้าหมาย ต้องมีสิ่งที่ตั้งตารอ และต้องเรียนรู้อยู่เสมอ ซึ่งผู้นำจะต้องนำด้วยการเป็นตัวอย่าง
“ผมเชื่อว่า การสอนคนไม่ใช่เรื่องของการบรรยาย แต่หมายถึงการเป็นแบบอย่างที่ดี ผมยังได้ข้อสรุปด้วยว่าการทำงานร่วมกันเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดพลัง เครือเจริญโภคภัณฑ์เคยทำงานแบบระบบสั่งการจากหัวหน้า แต่เราได้เปลี่ยนตัวเอง ให้เป็นองค์กรที่ทำงานร่วมกันและเป็นระบบมากขึ้น นี่เป็นการเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากร และให้คนมองเห็นภาพรวมขององค์กร หน่วยธุรกิจ และหน้าที่การทำงานส่วนย่อย ๆ เราต้องการให้พนักงานของเราได้มองเห็นว่า พวกเขาสามารถสร้างผลกระทบได้อย่างไร ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม”
เรื่อง: peoplemattersglobal
ที่มา: noozup