เอ็มจีเตรียมเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าในรุ่น ZS ในวันที่ 20 มิถุนายนที่จะถึงนี้ แต่ก่อนที่จะได้ทราบรายละเอียดและราคา รวมไปถึงการทำตลาดที่จะได้รับรู้พร้อมกัน ลองมาดูกันว่าก่อนที่จะทำการเปิดตัวนั้นเอ็มจีมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน และการผลิตผลิตยนต์ไฟฟ้านั้นมีพัฒนาการและความเป็นมาอย่างไร ซึ่งเป็นที่รู้กันดีอยู่ว่าเอ็มจีเป็นหนึ่งในแบรนด์ของผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของจีนอย่าง SAIC Motor ดังนั้นการนำเสนอรถยนต์ไฟฟ้าของเอ็มจีนั้นจึงอยู่ภายใต้การดูแลของ SAIC
ปัจจุบัน SAIC จำหน่ายรถยนต์อยู่อันดับ 7 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของประเทศจีน โดยในปี ค.ศ. 2009 SAIC ลงทุนถึงกว่า 20,000 ล้านหยวนเพื่อจัดตั้งบริษัท SEAT เพื่อพัฒนานวัตกรรมรถยนต์ EV โดยโฟกัสอยู่ที่ 3 ประเด็นหลักได้แก่ 1. แบตเตอรี่ 2. มอเตอร์ และ 3. แผงคอนโทรล/ระบบควบคุมไฟฟ้า โดยในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา SAIC มีการเปิดตัวรถยนต์ EV ถึง 11 รุ่น และในปีนี้ SAIC เตรียมเปิดตัวรถ EV โฉมใหม่อย่าง ZS EV พร้อมกันใน 20 ประเทศทั่วโลก
ตลอดระยะเวลาดังกล่าว SAIC มียอดขายรถ EV สะสมมากกว่า 200,000 คัน เฉพาะในปี 2018 ที่ผ่านมา SAIC มียอดการจำหน่ายรถ EV กว่า 100,000 คัน ซึ่งในประเทศจีนมีรถยนต์ EV (HEV/ PHEV/EV) มากถึง 1 ล้านคัน และกว่า 760,000 คัน เป็นรถพลังงานไฟฟ้า (EV) เท่านั้น โดยยังได้ทำการพัฒนาในหลายมิติโดยเฉพาะ Hardware
โดย Part หลักๆ เช่น ระบบส่งกำลัง ทาง SAIC จะเป็นผู้พัฒนาเอง นอกจากนี้ ยังร่วมกับ partner ระดับโลกทำการคิดค้นในส่วนต่างๆ อาทิ Bosch ในส่วนของ Software ของแบตเตอรี่ และมอเตอร์ ทาง SAIC เป็นผู้ดำเนินการและพัฒนาเองทั้งหมด จุดเด่นของรถ EV ของ SAIC มี 3 ประเด็น คือ
1.ประสิทธิภาพสูง โดย รถ EV ของ SAIC จะใช้มอเตอร์เป็นรูปสี่เหลี่ยม ที่แตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ ที่เป็นวงกลม ซึ่งรูปแบบสี่เหลี่ยมจะดีกว่ารูปแบบเดิมถึง 10-15% มีแรงดันสูงกว่า 400 โวลต์ (DC 400 Volt) นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยี S-Pedal (Smart Pedal) ที่ออกแบบมาให้สามารถชาร์จไฟได้ขณะเร่งเครื่องหรือลดความเร็วของเครื่องยนต์ ทำให้ไม่สูญเสียพลังงานโดยเปล่าประโยชน์ เกิดเป็นพลังงานหมุนเวียนขณะขับขี่
1.ความปลอดภัย รถ EV ของ SAIC ผ่านมาตรฐาน ISO 026262 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยระดับโลกที่ใช้กับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า พร้อมทั้ง ASIL หรือ Automotive Safety Integrity ในระดับ Level D ซึ่งเป็นระดับความปลอดภัยสูงสุด นอกจากนี้ ยังได้รับประกาศนียบัตร UL 2580 ซึ่งเป็นเครื่องการันตีถึงมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดของแบตเตอรี่
ซึ่งผ่านการทดสอบในด้านต่างๆ ถึง 8 ด้าน ทั้งการลัดวงจรของระบบไฟฟ้า ภาวะฝุ่น การขีดข่วน แรงอัด การทนต่อการกัดกร่อนด้วยจากละอองน้ำเกลือ แช่น้ำ ไฟ การกระแทก เป็นต้น นอกจากนี้รถ EV ของ SAIC ยังมีการปกป้องแบตเตอรี่แบบ 360 องศา (360 Degree Battery Shield) ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ได้เป็นอย่างดี
2.ความคุ้มค่า รถ EV ของ MG มีระบบส่งกำลังไฟที่มีประสิทธิภาพสูง และแบตเตอรี่ให้กำลังไฟที่มากกว่ารถยนต์กลุ่มเดียวกัน ซึ่งนอกจากนี้ SAIC ยังได้ลงทุนด้านแบตเตอรี่ อะไหล่และชิ้นส่วน โดยการร่วมทุนกับผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ของจีนและทำสัญญาการผลิตและจัดส่งกับซัพพลายเออร์ จึงมี Supply chain ที่ครบถ้วน ดังนั้นผู้ขับขี่จึงมั่นใจได้ว่า รถ EV ของ SAIC นั้นมีความปลอดภัยคุ้มค่าในทุกขั้นตอน
นายจาง ไห่โป กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า รถยนต์ไฟฟ้านั้นสามารถเติบโตได้เร็วกว่าที่หลายคนคาดการณ์ โดย SAIC เริ่มศึกษาเกี่ยวกับเรื่องพลังงานใหม่มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 มาจนถึงทุกวันนี้ จึงมั่นใจได้ว่ารถยนต์ทุกรุ่นที่ออกขายสู่ตลาดในหลายๆ ประเทศ
โดยเฉพาะรุ่น EV นั้นมีเทคโนโลยีที่พร้อม ครบถ้วน และทันสมัย รวมไปถึงโอกาสสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้ากำลังมาถึงแล้ว เหมือนในกรณีของสมารท์โฟนที่มีเทคโนโลยีเข้ามาดิสรัป จนสามารถพลิกโฉมของวงการของโทรศัพท์จากหน้ามือเป็นหลังมือ
ดังนั้น รถยนต์ EV ก็เช่นเดียวกัน รถยนต์พลังงานไฟฟ้าของ MG จะเข้าไทยในเดือนมิถุนายน 2562 และเพื่อลดความกังวลต่างๆ เกี่ยวกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ทาง MG จะร่วมมือกับบริษัท พลังงานมหานคร จำกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ในการสร้างสถานีชาร์จ (Charging Stations) ให้ครอบคลุมและทั่วถึง
ระบบบังคับเกียร์รถไฟฟ้า MG ZS EV ขอบคุณภาพจาก mg.co.uk
ซึ่งบริษัทพลังงานมหานครจะเป็นผู้ดูแลการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า ตั้งแต่จัดเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ การบำรุงรักษา การออกแบบการติดตั้ง ตลอดจนการบริหารจัดการต่างๆ โดยสามารถรองรับการใช้งานให้กับรถยนต์ของลูกค้า MG ได้ผ่านทาง i-Smart function
สำหรับ บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด เป็นบริษัทย่อยของ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เป็นผู้เดินหน้าการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ EA Anywhere วางเป้าหมายติดตั้งสถานีชาร์จให้ครบ 1,000 สถานีครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ (โดย 1 สถานี มีหลายหัวชาร์จ)
โดยปัจจุบันทาง EA ได้ติดตั้งไปแล้วประมาณ 200 สถานี ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญบางจังหวัด ในด้านของสถานีการชาร์จไฟฟ้านั้นได้แบ่งหัวชาร์จไฟฟ้าเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกมีกำลังอยู่ที่ 44KW หรือ Normal Charger โดยเฉลี่ยการชาร์จรถยนต์ขนาด 30kWh จะอยู่ที่ 24 ชั่วโมง และแบบ 150KW หรือ Super/Combo Charger โดยเฉลี่ยการชาร์จรถยนต์ขนาด 30kWh จะใช้เวลาชาร์จเพียง 15-20 นาทีเท่านั้น โดยสามารถวิ่งได้ถึง 200-300 ตามสมรรถนะของรถยนต์
นอกจากการเร่งในการก่อสร้างสถานีชาร์จแล้ว EA ยังพัฒนาในส่วนของ Application ที่เรียกว่า EA Anywhere App โดยผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าจะได้รับการแจ้งเตือนถ้าประจุไฟฟ้าภายในรถยนต์มีกำลังสำรองเหลือน้อย ซึ่งผู้ขับขี่จะสามารถค้นหาสถานีชาร์จที่อยู่ใกล้ที่สุด สถานีนั้นมีว่างอยู่กี่หัวจ่าย และสามารถจองหัวจ่ายผ่าน Application
ซึ่งยังพัฒนาต่อไปถึงด้านการจ่ายค่าไฟโดยสามารถจ่ายผ่านบัญชีธนาคารออนไลน์ หรือ Internet Banking ได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันผู้ที่ขับขี่รถไฟฟ้านำรถไปชาร์จที่สถานีจะเสียค่าชาร์จเฉลี่ยที่ประมาณ 50 บาทต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นการชาร์จในรูปแบบปกติ แต่ถ้าในอนาคตมีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก ก็จะทำการศึกษาและกำหนดค่าชาร์จไฟอีกครั้งหนึ่ง โดยอาจจะคิดตามหน่วยไฟที่แท้จริง เป็นต้น
การเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้าของเอ็มจีในครั้งนี้ต้องบอกก่อนเลยว่านอกจากผลิตภัณฑ์จะได้รับการพัฒนาเป็นอย่างดีแล้ว ยังได้วางรากฐานของสถานีชาร์จไฟฟ้าไว้พร้อมเช่นกัน ตอนนี้ก็เหลือเพียงการเปิดราคาและรูปแบบการติดตั้งสถานีชาร์จในบ้านเท่านั้น ที่จะดึงดูดให้ผู้บริโภคคนไทยให้ความสนใจมากน้อยแค่ไหน