คุณสุชาติ วิริยะอาภา รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อมและพลังงาน ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ ตระหนักดีถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดทั้งพลังงานและน้ำ จึงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างเป็นระบบ เพื่อสนับสนุนแผนการใช้ทรัพยากรและลดความเสี่ยงของธุรกิจ ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยในปี 2562 บริษัทฯสามารถลดปริมาณการดึงน้ำมาใช้ต่อหน่วยการผลิตได้ 6% หรือ 9 ล้านลูกบาศก์เมตร และสามารถลดปริมาณการดึงน้ำโดยรวมได้ 36%เมื่อเทียบกับปีฐาน 2558 ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายปี 2568 ที่กำหนดไว้ 30%
“ซีพีเอฟ เดินหน้าตามแผนการลดปริมาณการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 และมีการดำเนินงานทุกธุรกิจ จนถึงปัจจุบันเราดำเนินงานได้เกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ และจะมีการทบทวนเป้าหมายอีกครั้งหลังการประเมินผลการดำเนินงานในปีนี้”คุณสุชาติ กล่าว
สำหรับการใช้ทรัพยากรน้ำของ ซีพีเอฟ เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพโดยใช้เทคโนโลยีการบำบัด การนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ และการแบ่งปันให้ชุมชน เช่น ธุรกิจฟาร์มเลี้ยงกุ้งของบริษัทฯ ที่บางสระเก้า จังหวัดจันทบุรี และฟาร์มร้อยเพชร จังหวัดตราด เป็นโครงการนำร่องในการติดตั้งเทคโนโลยีการบำบัดน้ำ เช่น ระบบไบโอฟลอค (Bio-Floc) ซึ่งเป็นการเติมจุลินทรีย์ลงในน้ำเพื่อบำบัดสารละลายไนโตรเจนที่เกิดจากของเสียที่กุ้งขับถ่ายออกมา ช่วยลดการเปลี่ยนถ่ายน้ำระหว่างการเลี้ยงกุ้งลงถึง 70% เทียบกับการเลี้ยงกุ้งโดยทั่วไป รวมถึงการนำเทคโนโลยี Ultra Filtration (UF) มากรองน้ำที่ผ่านการบำบัดแลว หมุนเวียนนำกลับมาใช้เลี้ยงกุ้งได้มากกว่า 90% และกำลังเดินหน้านำความสำเร็จดังกล่าวไปขยายผลในฟาร์มอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ดำเนินธุรกิจสัตว์น้ำ
อีกหนึ่งตัวอย่าง คือ การนำเทคโนโลยี UF และ Reverse Osmosis มาใช้ในการกรองน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว เพื่อหมุนเวียนกลับมาใช้ในเครื่องทำระเหย (Evaporator) ในระบบทำความเย็น ที่โรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูปหนอกจอก ซึ่งสามารถทดแทนน้ำจากแหล่งภายนอกได้ถึง 216,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ลดค่าใช้จ่ายได้กว่า 1.7 ล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้ ธุรกิจอาหารสัตว์ การเลี้ยงสัตว์บก และธุรกิจอาหาร ยังช่วยลดการดึงน้ำจากธรรมชาติ โดยมีการนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วหมุนเวียนกลับมาใช้ในกิจกรรทที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิต เช่น รดน้ำต้นไม้ ล้างพื้นถนน และล้างโรงเรือนเลี้ยงสัตว์กว่า 30 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 21% ของการดึงน้ำมาใช้ทั้งหมด
ในส่วนของการแบ่งปันน้ำให้ชุมชน ธุรกิจสุกรได้นำน้ำที่ผ่านการบำบัดจากระบบผลิตก๊าซชีวภาพไปกระจายส่งเป็น “น้ำปุ๋ย” ให้แก่ชุมชนรอบฟาร์มกว่า 447,000 ลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่การเกษตร 3,650 ไร่ ช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ช่วยลดต้นทุนการเพาะปลูก และสร้างความมั่นคงให้กับชุมชน
“การใช้ทรัพยากรน้ำและการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ นอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพใช้น้ำของบริษัทฯ แล้ว ยังช่วยลดการดึงจากธรรมชาติและสามารถหมุนเวียนน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้มากขึ้น”คุณสุชาติ กล่าว
คุณสุชาติ กล่าวต่อไปว่า ซีพีเอฟ ยังประเมินความเสี่ยงด้านน้ำด้วยเครื่องมือ Aqueduct Water Risk Atlas 3.0 ซึ่งพัฒนาโดย World Resources Institute และเป็นเครื่องมือที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เพื่อลดความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำจากสถานที่ตั้งของธุรกิจบริษัทและธุรกิจของคู่ค้า ช่วยในการเลือกสถานที่ตั้งของธุรกิจและการทำแผนจัดการน้ำได้อย่างเหมาะสม
บริษัทฯ ยังสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนเพื่อรับฟังข้อเสนอแนะเกี่ยวกับใช้น้ำ รวมถึงการส่งบุคลากรลงพื้นที่เพื่อสนับสนุนคู่ค้าธุรกิจในการจัดทำแผนรองรับความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำ และผลกระทบจากภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นกับชุมชนโดยรอบทั้งปัจจุบันและในอนาคต
ที่มา สยามรัฐ