ซีพีเอฟ ประกาศจัดการอาหารส่วนเกินและขยะอาหารในกระบวนการผลิตเป็น 0 ในปี 2573

บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ประกาศนโยบายการจัดการอาหารสูญเสียและขยะอาหาร (Food Loss & Food Waste Policy) ในกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน โดยกำหนดเป้าหมายสำคัญในการลดอาหารส่วนเกินและขยะอาหารเป็น 0 ในปี 2573

ภายใต้นโยบายดังกล่าว ซีพีเอฟ มุ่งมั่นสนับสนุนเป้าหมายความยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ข้อ 12 ว่าด้วยเรื่องการมีแบบแผนการผลิตและการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งส่วนหนึ่งของเป้าหมายมุ่งลดขยะอาหารของโลก 50% ในระดับค้าปลีกและผู้บริโภคภายในปี 2573 เป้าหมายในส่วนของซีพีเอฟจะลดการสูญเสียอาหารจากกระบวนการผลิตในห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการสูญเสียอาหารในกระบวนการผลิต การลดอาหารส่วนเกิน และขยะอาหารในกระบวนการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯให้เป็น 0 ในปี 2573 เช่นเดียวกัน ทั้งในประเทศไทยและกิจการในต่างประเทศ

คุณวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ ตระหนักดีถึงการสูญเสียอาหารและขยะอาหารที่เกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่คุณค่าการผลิตอาหารตั้งแต่ โรงงานอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ กระบวนการผลิตอาหาร รวมทั้งการขนส่ง การจัดเก็บ บรรจุภัณฑ์ และสุดท้ายคือผู้บริโภค ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและสูญเสียโอกาสในการเข้าถึงแหล่งอาหารของผู้ด้อยโอกาสในสังคม

ซีพีเอฟ ได้นำแนวทางการรายงานและการจัดการการสูญเสียอาหารและขยะอาหารที่พัฒนาโดยองค์กรสากล เช่น องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations : FAO) สภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (World Business Council for Sustainable Developmet : WBCSD) และสถาบันทรัพยากรโลก (World Resources Institute : WRI) มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท เพื่อสร้างคุณค่าต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

“การผลักดันให้เกิดการบริโภคที่ยั่งยืน เพื่อลดการสูญเสียอาหาร ถือเป็นความรับผิดชอบของทุกภาคส่วน ทั้งระดับตัวบุคคล สถาบันและองค์กร เพราะ1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตมาทั่วโลก จะถูกทิ้งทำลายไปโดยเปล่าประโยชน์ ดังนั้นการบริหารจัดการอย่างจริงจังตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรมอาหาร ถึงผู้บริโภค จึงเป็นเรื่องความสำคัญอย่างมาก ในการใช้ทรัพยกรของโลกที่มีอย่างจำกัด ให้เกิดมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อโภชนาการและสุขอนามัยที่ดี สร้างการเข้าถึงอาหารและลดการเหลื่อมล้ำ ทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาการจัดการขยะอาหารของโลกที่ต้นเหตุ” คุณวุฒิชัย กล่าว

สำหรับแนวทางปฏิบัติของ ซีพีเอฟ เพื่อให้มั่นใจว่าการบริหารจัดการการลดสูญเสียอาหาร อาหารส่วนเกิน และขยะอาหารสอดคล้องกับหลักการการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 3 แนวทางหลัก คือ 1.การลดการสูญเสียอาหาร อาหารส่วนเกิน และขยะอาหารตั้งแต่ต้นทางการผลิต ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่คุณค่าของการผลิตอาหาร 2.สนับสนุนการนำอาหารส่วนเกินและขยะอาหาร (ที่เกิดระหว่างกระบวนการผลิต การขนส่ง ธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจร้านอาหาร โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อลดการสูญเสีย และเพิ่มมูลค่า ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และ 3.การสร้างความตระหนักและส่งเสริมด้านการบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน เพื่อลดการสูญเสียและอาหารส่วนเกินและขยะอาหาร ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย เช่น ลูกค้า คู่ค้า พนักงาน และเกษตรกร ผ่านการสื่อสาร การให้ความรู้และการรณรงค์

นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ยังมีนโยบายที่สนับสนุนเป้าหมายการลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารหลายด้าน เช่น จัดหาอย่างยั่งยืน และแนวปฏิบัติสำหรับคู่ค้าธุรกิจและแนวทางปฏิบัติด้านบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน เป็นต้น โดยมีการ

สนับสนุนทางเทคนิคและอบรมให้กับคู่ค้าและผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่อุปทานให้ปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกันในการหลีกเลี่ยงและลดการสูญเสียก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตและการจัดหาวัตถุดิบ ขณะที่การพัฒนาบรรจุภัณฑ์มุ่งเน้นให้การถนอมและการเก็บรักษาอาหารสามารถทำได้นานขึ้น และใช้วัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Recyclable)

ซีพีเอฟ ยังมุ่งมั่นบริหารจัดการวัตถุดิบในกระบวนการผลิตอาหารให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและสนับสนุนให้เกิดโครงการเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิต (Co-product) เพื่อลดปริมาณการสูญเสียในโรงงานของบริษัทฯ ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น การนำชิ้นส่วนเป็ดไปผลิตเป็นลูกชิ้นเป็ด ผลิตภัณฑ์เลือดหมู ขนเป็ดสำหรับใส่หมอนและเครื่องนอน

คุณวุฒิชัย กล่าวต่อไปว่า ในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารแบบครบวงจร ตามวิสัยทัศน์ “ครัวโลกยั่งยืน” ซีพีเอฟ มีการขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ความยั่งยืน 3 เสาหลัก คือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่า คงอยู่ ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความยั่งยืนในการผลิตและการบริโภค สร้างความมั่นคงทางอาหารและลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“การบริหารจัดการที่ดีตลอดห่วงโซ่การผลิตช่วยให้ ซีพีเอฟ ผลิตและกระจายสินค้าได้เพียงพอกับความต้องไม่เหลือทิ้ง ลดการสูญเสียทรัพยากร ลดปัญหาขยะ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามเป้าหมายการผลิตอาหารมั่นคงและยั่งยืน” คุณวุฒิชัย กล่าว

Cr:Pr CPF