ซีพีเอฟ แบ่งปันแนวทางการดำเนินงานตามหลักสิทธิมนุษยชนแก่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ

ซีพีเอฟ ร่วมแบ่งปันการดำเนินงานและบริหารจัดการ รวมถึงการทำกิจกรรมและโครงการต่างๆ อันเป็นการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน สอดคล้องตามหลักสากล แก่คณะผู้แทนอนุกรรมการติดตาม พิจารณา และคัดเลือกองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน นำโดย คุณเอมอร เสียงใหญ่ รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย ดร.เสรี นนทสูติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิทธิมนุษยชน คุณนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และเจ้าหน้าที่กองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่เข้าเยี่ยมชมและตรวจประเมินองค์กรเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นองค์กรต้นแบบสิทธิมนุษยชนประจำปี 2563

คุณพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านทรัพยากรบุคคล ซีพีเอฟ ได้นำเสนอการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนในบริษัทฯ ในฐานะภาคธุรกิจด้านเกษตรอุตสาหกรรมชั้นนำ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบตามนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนที่สอดคล้องตามหลักสากล โดย “บุคลากร” ภายในองค์กรทุกคนทุกระดับได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม เสมอภาค ให้เกียรติ และให้โอกาส ควบคู่กับการดูแลปกป้องชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมบนพื้นฐานของความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตที่ดี

ตลอดจนแสดงจุดยืนของบริษัทฯ ในการต่อต้านการใช้แรงงานทาส แรงงานเด็ก การค้ามนุษย์ และแรงงานผิดกฎหมายทุกรูปแบบ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางสากลด้านความรับผิดชอบต่อสังคมสู่ความยั่งยืน รวมถึงการส่งเสริมคู่ค้าธุรกิจให้เติบโตไปด้วยกันอย่างรับผิดชอบและยั่งยืน

บริษัทฯ ได้นำหลักการด้านสิทธิมนุษยชนมาใช้ในการดำเนินงาน เช่น กระบวนการตรวจสอบสถานะด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) ในกิจการประเทศไทยและต่างประเทศ ครอบคลุมถึงกลุ่มเปราะบาง ซึ่งผนวกเข้ากับกระบวนการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ ในทุกขั้นตอน
Bu

ขณะเดียวกัน ซีพีเอฟได้ส่งเสริมให้มีช่องทางการร้องเรียนที่หลากหลาย เพื่อให้บริษัทและพนักงานสามารถสื่อสารถึงกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ช่องทางคณะกรรมการสวัสดิการประจำสถานประกอบการ บริษัทจัดให้มีสัดส่วนคณะกรรมการเพิ่มขึ้นให้จำนวนตัวแทนสอดคล้องกับจำนวนพนักงานและครอบคลุมความหลากหลาย และความเปราะบางของพนักงาน เช่น ด้านเพศ เชื้อชาติ ศาสนา และความพิการ

นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่าย อย่างมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (Labour Protection Network : LPN) ร่วมกันจัดตั้ง “Labour Voices Hotline by LPN” ช่องทางติดต่อสื่อสารและรับฟังเสียงพนักงานจากองค์กรที่เป็นกลาง ให้พนักงานทุกคนทุกเชื้อชาติสามารถแสดงความคิดเห็นและขอความช่วยเหลือในภาษาที่พนักงานใช้สื่อสาร คือ พม่า กัมพูชา และไทย ช่วยให้บริษัทรับทราบปัญหาและนำไปสู่การจัดการปัญหาและเยียวยาได้อย่างรวดเร็ว ควบคู่กับการจัดอบรมให้ความรู้แก่พนักงานไทยและต่างด้าวให้ได้มีความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน สิทธิแรงงานตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและมาตรฐานสากลด้านแรงงาน แนวทางการปฏิบัติต่อพนักงาน เพื่อให้พนักงานสามารถทำงานด้วยความเข้าใจสิทธิของตนเองและมั่นใจว่าจะได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม

จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมทุกภาคส่วน ซีพีเอฟได้ยกระดับมาตรการความปลอดภัยตลอดทั้งห่วงโซ่อย่างเข้มข้น เพื่อดูแลและสนับสนุนพนักงานทุกคนให้มีความปลอดภัยในสุขภาพ ปฏิบัติงานด้วยความมั่นใจ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการรับผิดชอบต่อสังคม ในการดำเนินการผลิตอาหารได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อความมั่นคงทางอาหาร ในการส่งมอบอาหารปลอดภัยให้สังคมอย่างต่อเนื่องและเพียงพอ

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ร่วมส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิมนุษยชนให้กับสถานประกอบการของคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทานของบริษัท โดยร่วมกับภาครัฐในการพัฒนาสถานประกอบการของคู่ค้าให้มีองค์ความรู้และความเข้าใจในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน หลักกฎหมายและการปฏิบัติด้านแรงงานที่ถูกต้องและเป็นธรรม ที่จะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถและยกระดับภาคเศรษฐกิจและสังคมให้เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

ที่มา:ผู้จัดการออนไลน์