ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนกับประชาชนอย่างเป็นระบบ เมื่อผนวกกับการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างไม่หยุดยั้งทำให้สวีเดนกลายเป็นประเทศผู้นำด้านการบริหารจัดการขยะและการผลิตพลังงานจากขยะ (Waste-to-Energy) ในระดับนานาชาติ ในขณะที่หลายประเทศยังไม่สามารถจัดการกับปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละวัน ปัจจุบัน สวีเดนมีขยะที่ต้องนำไปกลบฝังเพียง 0.08 % ของปริมาณขยะทั้งหมดในประเทศและต้องนำเข้าขยะจากต่างประเทศเพื่อผลิตเป็นพลังงาน
ความตื่นตัวด้านพลังงานและการรักษาสิ่งแวดล้อมของชาวสวีเดนเริ่มมาตั้งแต่ปี 2483 แม้ว่าไทยจะตามหลังสวีเดนอยู่มาก สังคมไทยวันนี้ตื่นตัวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ลองมาดูปัจจัยที่ทำให้สวีเดนประสบความสำเร็จกลายเป็นผู้นำในการนำเทคโนโลยีการนำขยะมาผลิตเป็นพลังงาน เผื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกภาคส่วนร่วมมือร่วมใจทำให้ประเทศไทยกำจัดและใช้ประโยชน์จากขยะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกับแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ ระยะ 5 ปี (2559 – 2564)
หนึ่ง สวีเดนตั้งเป้าชัดเจนที่จะบรรลุวิสัยทัศน์ “ของเสียเหลือศูนย์” หรือ Zero Waste ภายในปี 2563 รัฐบาลสวีเดนมุ่งมั่นในการลดจำนวนขยะภายในประเทศตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ออกกฎหมาย
ทั้งระเบียบข้อบังคับท้องถิ่นเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ดังกล่าว ทั้งการห้ามเผาขยะ การจำกัดการปล่อยสารเคมีที่เป็นอันตราย การกำหนดให้นำขยะกลับมาใช้ใหม่แทนการฝังกลบ ใช้หลักการจัดการขยะตามลำดับขั้น (Waste Hierachy) กล่าวคือ ลดจำนวนขยะ (reduce) นำกลับไปใช้ใหม่ (reuse) รีไซเคิล (recycle) นำไปผลิตเป็นพลังงานเมื่อไม่สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้อีก (recover energy)
สอง สวีเดนเน้นมีจิตสำนึกต่อส่วนรวม ชาวสวีเดนได้รับการปลูกฝังให้คัดแยกขยะออกเป็นประเภททำให้ง่ายต่อการนำขยะไปแปรรูป ด้วยเหตุนี้ ขยะที่มาจากครัวเรือนได้รับการนำกลับมารีไซเคิลและกลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้โดยง่าย เมื่อแยกเอาขยะที่รีไซเคิลได้และของเสียที่ย่อยสลายไม่ได้ออกไปแล้ว จะเหลือขยะส่วนที่นำไปทำเป็นเชื้อเพลงได้หรือที่เรียกว่า Refuse Derived Fuel (RDF) โดยผ่านกระบวนการขึ้นกับเทคโนโลยีที่ใช้เชื้อเพลิงที่ได้สามารถนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าหรือจำหน่ายก็ได้
สาม สวีเดนสานพลังความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน-ประชาชน ความร่วมมืออย่างเป็นระบบระหว่างเทศบาลท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้มีบทบาทหลักในการบริหารจัดการขยะในครัวเรือน บริษัทและหน่วยงานอื่นๆ ของภาครัฐต่างก็มีส่วนทำให้สวีเดนประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืนดังเช่นทุกวันนี้ยกตัวอย่างสมาคมจัดการขยะ (Swedish Waste Management Association) ที่เรียกว่า Avfall Sverige ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2490 ปัจจุบัน กลายเป็นสมาคมขนาดใหญ่ที่มีสมาชิกเป็นภาครัฐและเอกชนกว่า 400 องค์กร มีภารกิจในการสนับสนุนการบริหารจัดการขยะ รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้และเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องการจัดการขยะทั่วสวีเดน
ยกตัวอย่างบริษัท MalarEnergi ที่เป็นบริษัทของเทศบาลเมือง Vasteras ของสวีเดน มีภารกิจในการผลิตกระแสไฟฟ้า การจัดการระบบปรับอากาศร้อนและเย็น ส่งจ่ายและบำบัดน้ำ รวมถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง สำหรับบ้านเรือน บริษัทฯ ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงร่วมกับชีวมวล ปัจจุบัน จัดการกับขยะโดยเฉลี่ยปีละ 480,000 ตัน โดยเมื่อแยกขยะที่รีไซเคิลได้อย่างโลหะ แก้ว หิน ออกไปแล้ว จึงนำขยะไปตัดบดให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ นำเข้าเครื่องเผาด้วยแรงน้ำอุณหภูมิสูงจัด ควันที่เกิดจากการเผาไหม้ส่วนหนึ่งจะส่งไปตามท่อไปหมุนใบพัดของเครื่องผลิตไฟฟ้า อีกส่วนหนึ่งส่งไปใช้ในการให้ความอบอุ่นแก่บ้านเรือน ขณะที่ควันเสียจากการเผาไหม้จะถูกส่งไปบำบัดต่อไป เรียกว่าได้ใช้ประโยชน์จากขยะได้คุ้มมาก
สี่ สวีเดนเน้นนำเทคโนโลยีเข้าช่วยจัดการ โดย Global Innovation Index จัดให้สวีเดนเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ของโลกในด้านนวัตกรรม สวีเดนลงทุนกับการวิจัยในเทคโนโลยีการบริหารจัดการขยะ ซึ่งรวมถึงการสร้างเครือข่ายระหว่างมหาวิทยาลัยชั้นนำและสนับสนุนการศึกษาวิจัยทั้งในระดับประเทศและนานาชาติในสาขาต่างๆ ของการบริหารจัดการขยะ ซึ่งเป็นเรื่องที่สวีเดนทำมาโดยตลอด จนสามารถสร้างโรงงานผลิตพลังงานจากขยะโดยเทคโนโลยีขั้นสูง และลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ถึง 2.2 ล้านตันต่อปี ดังเช่นปัจจุบัน
มหาวิทยาลัย Malardalen ของสวีเดนมีโครงการ Future Energy Profile ได้รับเงินสนับสนุนรวมทั้งสิ้น 83 ล้านโครนาสวีเดน หรือประมาณ 1 ล้านยูโร โดยแบ่งมาจากกองทุนองค์ความรู้ของประเทศ 40% จากบริษัทอุตสาหกรรม 40% และจากมหาวิทยาลัย 20% มีกรอบเวลา 7 ปี เพื่อพัฒนาระบบพลังงานทดแทน โดยเฉพาะการเพิ่มสัดส่วนของการใช้พลังงานทดแทนประเภทก๊าซชีวภาพ พลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงขยะชีวภาพ
ความสำเร็จในการบริหารจัดการขยะของสวีเดนไม่ใช่เพียงเพราะการมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยแต่เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ในการแก้ปัญหาและร่วมกันบริหารจัดการกันอย่างเป็นระบบ ถือเป็นแบบอย่างที่ไทยควรเรียนรู้และนำมาปรับใช้
การนำแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมจากประเทศทั่วโลกมาให้ ภาคส่วนของไทยได้เรียนรู้ ขบคิดและปรับตัว ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจเพื่อนำสู่การปรับและประยุกต์ใช้ตามบริบทของประเทศเป็นภารกิจหนึ่งที่สถานทูตไทยในต่างประเทศให้ความสำคัญภายใต้นโยบายการทูตวิทยาศาสตร์ โดยข้อมูลข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งจากการสัมมนา Waste-to-Energy: Swedish Approach ที่ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอล์กโฮม ได้นำผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนจากสวีเดนในเรื่องนี้มาเล่าให้คนไทยฟัง เพื่อจุดประกายผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการบริหารจัดการขยะของประเทศไทย ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการขยะ และเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อยอดองค์ความรู้และความร่วมมือระหว่างไทยกับสวีเดน
ที่มา : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ (ThaiBiz)