สร้างวัฒนธรรมด้วยประเพณีที่ออกแบบได้

ลองจินตนาการว่าคุณทำงานที่ Facebook สำนักงานใหญ่ ที่เมนโลพาร์ก แคลิฟอร์เนีย คุณกำลังนั่งอยู่ในห้องบรรยายฟังวิทยากรเล่าเกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยีสุดเจ๋ง ในขณะที่เพื่อนที่นั่งข้างๆ กำลังจด quote คำพูดของวิทยากรลงในโทรศัพท์มือถือ และส่งต่อไปให้เพื่อนอีกคนที่เป็นกราฟฟิกดีไซเนอร์

เมื่อคุณเดินออกมาจากห้องบรรยายคุณก็พบว่า quote นั้นได้ถูกออกแบบ ปริ๊นท์ และติดอยู่ทั่วสำนักงานแล้ว เจ๋งใช่ไหมล่ะ

นี่เป็นเพียงแค่หนึ่งตัวอย่างจาก Facebook เท่านั้น การปริ้นท์โปสเตอร์แบบนี้เกิดขึ้นจาก Analog Research Lab ที่เปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนสามารถออกแบบโปสเตอร์อะไรก็ได้ ในหัวข้ออะไรก็ได้ที่พวกเขาให้ความสำคัญ และจะติดประกาศที่ไหนก็ได้

ที่มาของไอเดียนี้คือ การที่ Facebook ให้คุณค่ากับการเปิดรับความคิดสร้างสรรค์ และให้อำนาจแก่ทุกคนในการสร้างสรรค์อะไรก็ได้ และนี่คือตัวอย่างที่ชัดเจนในการออกแบบประเพณีในที่ทำงานที่ส่งเสริมค่านิยมองค์กร

การออกแบบประเพณีสามารถทำได้หลากหลาย เช่น การฉลอง การกิน การเล่าเรื่อง วิธีการปฏิบัติในเรื่องใกล้ตัวเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่สร้างความผูกพันของคนในองค์กรจากสิ่งที่พวกเขาให้คุณค่าและให้ความสำคัญร่วมกัน แล้วจึงค่อย ๆ ปลูกฝังจากการกระทำ และการแบ่งปันประสบการณ์ จนสามารถจุดประกายให้เกิดพฤติกรรมที่ส่งเสริมให้องค์กรประสบความสำเร็จมากขึ้น

การออกแบบประเพณี สามารถทำได้โดยเริ่มจากการตั้งคำถาม เช่น

“เป้าหมายขององค์กรเราคืออะไร และอะไรคือสิ่งที่เราให้คุณค่าและความสำคัญ?”

“ทัศนคติหรือพฤติกรรมแบบไหนที่จะส่งเสริมให้ไปถึงเป้าหมายนั้น?”

ประเพณีเหล่านี้จะแสดงถึงตัวตนขององค์กรนั้นๆ และแน่นอนว่าประเพณีสุดเจ๋งขององค์กรหนึ่ง อาจจะใช้ไม่ได้เลยกับองค์กรอื่นๆ อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือ อย่าลืมคิดเผื่อด้วยว่าจะทำอย่างไรให้วิธีการเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริง ทำอย่างไรคนถึงอยากจะร่วมด้วย? ใคร ๆ ก็สามารถเริ่มได้เลยหรือต้องเริ่มจากการเป็นแบบอย่างของผู้นำ?

การออกแบบประเพณีจะนี้จะอยู่ได้อย่างยั่งยืนจะต้องอาศัยการผสมผสานวัฒนธรรม ความเชื่อ และพฤติกรรมที่มีอยู่ด้วย เพื่อให้คนในองค์กรไม่รู้สึกยากในการปรับเปลี่ยนมากนัก ตัวอย่างเพิ่มเติม เช่น

  • คัพเค้กจาก Dropbox: หนึ่งในค่านิยมหลักของ Dropbox คือ ภาพคัพเค้กที่มีรอยยิ้ม เพราะ Dropbox ไม่อยากให้เครียดจนเกินไป พนักงานใหม่ของ Dropbox ทุกคนจึงได้รับคัพเค้กในกล่องที่ออกแบบเป็นพิเศษส่งตรงให้ถึงบ้าน ประเพณีนี้สะท้อนถึงความสนุกของ Dropbox และสร้างรอยยิ้มให้พนักงานได้ตั้งแต่ก่อนเริ่มงานเลยล่ะ
  • คำถาม 5 ทำไม จาก Toyota : เพราะ Toyota เชื่อว่าปัญหาของทุกคนคือ โอกาส เมื่อเกิดปัญหาขึ้นผู้จัดการจะถามคำถาม “ทำไม” 5 ครั้งเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาเสมอ ประเพณีนี้ช่วยปลูกฝังพนักงานให้สามารถแก้ปัญหาใหญ่ ๆ ได้
  • กาแฟแก้วแรกจาก Starbucks : ประเพณีการต้อนรับพนักงานใหม่ของ Starbucks ด้วยการชิมกาแฟแก้วโปรดที่มาจากผู้จัดการสาขานั้นๆ ผู้จัดการจะเล่าเรื่องที่มาของกาแฟ ตั้งแต่ปลูกจนเก็บเมล็ดกาแฟมาชง ด้วยความเชื่อที่ว่าผู้ที่จะส่งกาแฟที่มีคุณภาพไปถึงมือลูกค้าคือพนักงานทุกคน หรือที่ Starbucks เรียกว่าพาร์ทเนอร์นั่นเอง

และนี่คือตัวอย่างบางส่วนเกี่ยวกับการออกแบบประเพณีที่ส่งเสริมการสร้างวัฒนธรรมในองค์กร อย่าลืมลองกลับไปตั้งคำถามและออกแบบธรรมเนียมสุดเจ๋งที่ไม่มีใครเหมือนในแบบของคุณ

ที่มา : https://www.blockdit.com/