ในขณะที่ทุกคนเน้นความเร็วในการชงกาแฟ เพื่อให้รับลูกค้าได้มากที่สุด แต่มีอยู่ร้านหนึ่งที่เน้นความช้า เพื่อให้ลูกค้าได้กาแฟดีที่สุด ร้านนี้ชื่อ “Blue Bottle Coffee” ที่ได้รับเงินระดมทุน จนมีมูลค่ามากถึง 2.2 หมื่นล้านบาท
แล้วเรื่องราวของ Blue Bottle Coffee น่าสนใจอย่างไร ?
ทุกวันนี้ การดื่มกาแฟมีทางเลือกที่หลากหลาย ทั้งกาแฟที่ชงจากเครื่องชง Espresso ดั้งเดิม แบบที่เราคุ้นเคย หรือแม้แต่การชงด้วยเครื่องชงกาแฟพิเศษ เช่น ดริป หรือ ไซฟอน โดยใช้เมล็ดพิเศษ ที่ถูกเรียกกันว่า Specialty ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงหลัง
จริงๆ แล้ว กาแฟ ก็เป็นเหมือนสินค้าชนิดอื่นๆ ที่มีวิวัฒนาการตามยุคสมัย โดยที่ผ่านมา เราสามารถแบ่งเทรนด์ในการดื่มกาแฟ ออกเป็นคลื่น 3 ลูก
คลื่นลูกที่ 1 เป็นกาแฟสำเร็จรูป ที่เน้นดื่มเพื่อรับกาเฟอีน
คลื่นลูกที่ 2 เป็นกาแฟชงในเชิงการค้า ที่นิยมใช้เครื่อง Espresso เพราะใช้เวลาสกัดกาแฟเพียง 30 วินาที เหมาะสมในเชิงธุรกิจ
คลื่นลูกที่ 3 นิยมกาแฟ Slow Bar หรือการชงกาแฟ ที่ใช้เวลานานกว่า 2 นาที ซึ่งก็มีอยู่หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นดริป, ไซฟอน หรือแม้แต่การสกัดเย็น หรือ Cold Brew
จุดเด่นของคลื่นลูกที่ 3 คือนักดื่มกาแฟเริ่มให้ความสำคัญกับ “ความประณีตในการชง” รวมถึง “เมล็ดพิเศษ” ซึ่งจะเป็นเมล็ดกาแฟที่ได้คะแนน ตั้งแต่ 80 ขึ้นไป
จากคะแนนเต็ม 100 โดยเหล่าผู้เชี่ยวชาญที่เรียกว่า Q Grader
ทั้งนี้ หนึ่งในผู้ที่เกาะคลื่นกาแฟลูกที่ 3 และนำมาสร้างเป็นธุรกิจ คือคุณ W. James Freeman
คุณ Freeman เป็นนักดนตรีคลาริเน็ต ชาวอเมริกัน ที่รักการดื่มกาแฟ เขาพบว่าร้านกาแฟแถวบ้านมีแต่กาแฟที่คั่วเข้มไป เขาจึงเริ่มลองคั่วกาแฟเองที่บ้าน และได้เปิดโรงคั่วกาแฟในปี 2002 นำกาแฟที่คั่วได้ไปขายตามตลาดนัดใน San Francisco และ Oakland กาแฟของเขาได้กระแสตอบรับที่ดี จนในที่สุดเขาก็ได้เปิดร้านกาแฟชื่อว่า “Blue Bottle Coffee” สาขาแรกที่ Oakland
Blue Bottle Coffee กลายมาเป็นร้านกาแฟที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว จากการเป็นร้านแรก ๆ ที่ดึงการชงกาแฟแบบ Slow Bar มาเป็นจุดขาย ซึ่งในเวลาต่อมา กระแสร้านกาแฟ Slow Bar ก็ได้กลายมาเป็นเทรนด์ที่เติบโตขึ้น สังเกตได้จาก Starbucks ที่ได้ส่ง Starbucks Reserve เพื่อเข้ามาทำธุรกิจนี้เช่นกัน
แล้วอะไรที่เป็นจุดเด่นของ Blue Bottle Coffee ?
ด้วยความที่ต้องการเจาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นคอกาแฟตัวยง ในช่วงเริ่มต้น คุณ Freeman จึงมีเมนูเพียงกาแฟดำและกาแฟใส่นม ไม่ได้ใส่เมนูแฟนซีเข้าไปด้วย และเน้นวิธีชงแบบ Slow Bar เป็นหลัก
คือเน้นไปที่รสชาติและคุณภาพกาแฟ และใช้เวลาชงแต่ละแก้วอย่างประณีตเริ่มตั้งแต่ การคัดสรรเมล็ดกาแฟพิเศษจากหลายแหล่ง
รวมถึงความพิถีพิถันเรื่องความสดใหม่ของเมล็ดกาแฟคั่ว โดยจะคุมให้เมล็ดที่ใช้ชง ผ่านการคั่วมาประมาณ 48 ชั่วโมง ซึ่งเขาถือว่าเป็นช่วงที่กาแฟจะให้รสชาติที่ดีที่สุด
หลังจากนั้นมา Blue Bottle Coffee ก็เริ่มมีเมล็ดกาแฟคั่วขาย ทั้งหน้าร้านและออนไลน์ผ่านระบบสมาชิก รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์กาแฟพร้อมดื่มแบบพรีเมียม เช่น Cold Brew กระป๋อง และกาแฟนมในบรรจุภัณฑ์กล่องนม
ต่อมา คุณ Freeman ก็ได้ขยายธุรกิจไปยังที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา และก็รุกเข้าสู่ต่างประเทศ
โดยจะเลือกจากประเทศที่มีวัฒนธรรมการดื่มกาแฟสอดคล้องกับแบรนด์อย่างค่อยเป็นค่อยไป
เริ่มจากประเทศญี่ปุ่น ที่การชงกาแฟแบบ Slow Bar ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน รวมถึงเกาหลีใต้ ที่รักกาแฟดำเป็นชีวิตจิตใจ และยังมี Q Grader มากที่สุดในโลก ในขณะที่ราคากาแฟต่อแก้วก็ค่อนข้างสูง และอยู่ในระดับเดียวกันกับ Starbucks และ Starbucks Reserve
จุดนี้ก็ได้สร้างความแตกต่างใหักับแบรนด์ Blue Bottle Coffee อย่างมาก เพราะหากเรามาดูเชนกาแฟสตาร์ตอัปสมัยใหม่อย่าง Luckin Coffee จากประเทศจีน และ Flash Coffee จากประเทศอินโดนีเซีย แบรนด์เหล่านี้เน้นการขยายสาขาเพื่อชิงฐานลูกค้า เน้นความเร็วในการชง ราคาเข้าถึงง่าย และมีการดึงเทคโนโลยีมาเป็นจุดขายหลัก เช่น การสั่งเครื่องดื่มล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชัน
แต่ก็ไม่น่าเชื่อว่าความแตกต่างเหล่านี้ ได้กลายมาเป็นจุดแข็ง ที่ทำให้ Blue Bottle Coffee กลายมาเป็นบริษัทเนื้อหอมในสายตาของนักลงทุนระดับโลก
แล้วใครบ้างที่เข้ามาร่วมลงทุนใน Blue Bottle Coffee ?
เริ่มตั้งแต่นักลงทุนสถาบันอย่าง Fidelity Management และ Morgan Stanley ซึ่งเป็นทีมที่ปรึกษาการลงทุนเดียวกันกับที่เลือกลงทุนใน Twitter และ Facebook
นอกจากนี้ก็ยังมี Venture Capital ชื่อดังอีกหลายแห่ง เช่น True Ventures, Index Ventures, Slow Ventures, M13 และ GV ที่ได้เข้าไปลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัปหลายแห่ง เช่น Uber, Snapchat, Pinterest, Slack, Robinhood, Roblox, Etsy และ Farfetch
ยังไม่หมดเพียงแค่นี้ เพราะนอกจากสถาบัน และบริษัทแล้ว ก็ยังมีนักลงทุนรายบุคคล ซึ่งก็มีตั้งแต่
ผู้ร่วมก่อตั้ง Twitter อย่าง Jack Dorsey, Noah Glass, Biz Stone และ Evan Williams
ผู้ร่วมก่อตั้ง Instagram อย่าง Kevin Systrom และ Mike Krieger
ผู้ร่วมก่อตั้ง WordPress อย่าง Matt Mullenweg
ไปจนถึงบุคคลในวงการบันเทิงอย่าง Jared Leto, นักร้องนำวง U2 อย่าง Bono รวมถึงวง Linkin Park..
Blue Bottle Coffee เริ่มระดมทุนในระดับ Pre-seed และได้เงินทุนจาก VC ก้อนแรกในปี 2011
จนไต่ระดับไปที่ Series C ในปี 2015 รวมเงินลงทุนทั้งหมดกว่า 3,700 ล้านบาท และในปี 2017 หรือ 4 ปีก่อน Blue Bottle Coffee ก็เติบโตไปอีกขั้น ในแบบที่เรียกว่าก้าวกระโดด เพราะ Nestlé เจ้าของ Nescafé และ Nespresso ที่เรารู้จักกันดี ได้ประกาศเข้าซื้อกิจการของ Blue Bottle Coffee โดยการเข้าถือหุ้นกว่า 68% ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 15,730 ล้านบาท
ส่งผลให้มูลค่ากิจการของ Blue Bottle Coffee เพิ่มขึ้นเป็น 22,000 ล้านบาท
แล้วอะไรทำให้นักลงทุนที่เฟ้นหาสตาร์ตอัปดาวรุ่งเหล่านี้ สนใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจกาแฟที่ขยายสาขาแบบค่อยเป็นค่อยไป แถมชงกาแฟนานเกินกว่าแก้วละ 2 นาที ?
เรื่องนี้อาจเป็นเพราะร้าน Blue Bottle Coffee มีจุดเริ่มต้นใน San Francisco ซึ่งอยู่ในละแวกเดียวกันกับ Silicon Valley
ในขณะเดียวกัน ร้านกาแฟแห่งนี้ก็ได้นำเสนอความแปลกใหม่ ที่แตกต่างจากร้านกาแฟแบบดั้งเดิมนอกจากจะสร้างแรงดึงดูดให้กับนักดื่มกาแฟแล้ว ก็ได้ทำให้นักลงทุนเข้ามาสนใจในธุรกิจเช่นกัน แม้แต่ CEO ของ Twitter และ Square อย่าง Jack Dorsey ยังเคยให้สัมภาษณ์ว่า “เริ่มต้นวันด้วยกาแฟที่ Blue Bottle Coffee”
เรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ ความเชื่อมั่นในวิสัยทัศน์ของคุณ Freeman ที่มีต่ออุตสาหกรรมร้านกาแฟซึ่งก็น่าสนใจว่าทุกสิ่งที่กล่าวมานั้น ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับ “ตัวเลขทางธุรกิจ” เลยแม้แต่นิดเดียว
ปัจจุบัน Blue Bottle Coffee มี 91 สาขากระจายสาขาอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และล่าสุดที่ฮ่องกง โดยการขยายธุรกิจก็ยังเป็นไปในรูปแบบที่ไม่รีบเร่ง และคงความอนุรักษนิยม และความมีเอกลักษณ์ของตัวเองไว้เหมือนเดิม..
เรื่องราวของ Blue Bottle Coffee ถือเป็นอีกกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เพราะโมเดลธุรกิจของบริษัทแห่งนี้ ก็น่าจะสวนกระแสกับธุรกิจสตาร์ตอัปในยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความเชื่อที่ว่า ต้องขยายให้เร็ว และต้องมีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย
จริง ๆ แล้ว ความมีแบรนด์ และความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใครก็อาจจะเป็นอีกมุม ที่สามารถสร้างมูลค่าให้ธุรกิจได้ไม่แพ้การทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี
อย่างในกรณีนี้ ที่ Blue Bottle Coffee แม้จะต้องชงกาแฟนานเกินกว่า 2 นาทีต่อแก้วก็ยังได้รับเงินระดมทุนมหาศาล และมีมูลค่าบริษัทมากถึง 2.2 หมื่นล้านบาท เลยทีเดียว..
ที่มา : https://www.blockdit.com