คู่ค้า SMEs “ขอบคุณ CPF” ให้เครดิตเทอม 30 วัน นาน 1 ปี ช่วยธุรกิจฝ่าวิกฤตอย่างเข้มแข็ง พร้อมปรับตัวรับ Next Normal

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังยืดเยื้อได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งถือเป็นฐานรากของเศรษฐกิจไทย ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดย่อม ซึ่งเป็นคู่ค้าธุรกิจของ CPF ชูโครงการ Faster Payment ปรับลดเครดิตเทอมภายใน 30 วัน เป็นประโยชน์ต่อ SMEs ช่วยรักษากิจการให้อยู่รอดท่ามกลางสถานการณ์ในขณะนี้ และสร้างความมั่นใจให้ธุรกิจแข็งแกร่งรับมือกับ Next Normal ได้
ตลอดระยะเวลา 10 เดือนที่ CPF ดำเนินโครงการ Faster Payment เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการปรับลดระยะเวลาเครดิตเทอม หรือการชำระเงินค่าสินค้าและบริการภายใน 30 วัน ให้แก่คู่ค้า ผู้ประกอบการ SMEs ของบริษัทฯ 6 พันราย เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ให้มีสภาพคล่องทางการเงินที่ดี ช่วยรักษาธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้และเป็นต้นทางที่ช่วยให้กระบวนการผลิตอาหารของ CPF ไม่หยุดชะงัก
คุณนิวัติ ดีงาม กรรมการผู้จัดการ บจ.ภูรินทร์ กรีนฟู้ดส์ โปรดักส์ ผู้จัดหากระเทียมสด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน GAP กล่าวว่า การปรับลดเวลาเครดิตเทอมภายใน 30 วัน เป็นโครงการที่ดี ช่วยตอบโจทย์ SMEs จัดหาสินค้าทางการเกษตรซึ่งจำเป็นต้องมีเงินหมุนเวียนที่คล่องตัว การได้พันธมิตรทางการค้าที่ดี อย่าง CPR ช่วยให้มีเงินทุนในการบริหารธุรกิจ สามารถประคับประคองให้อยู่ได้ แม้ว่ายอดขายลดลงแต่ก็ไม่ปิดกิจการหรือเลิกจ้างคนงาน และยังช่วยรักษาอาชีพเกษตรกรปลูกกระเทียมมีรายได้ที่มั่นคงในช่วงภาวะโควิด
“เครดิตเทอม 30 วัน ไม่เพียงอุ้มให้ SMEs อยู่ต่อได้ ยังมีส่วนช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมใน จ.เชียงใหม่ 100 ครัวเรือน มีตลาดและรายได้ที่มั่นคงท่ามกลางวิกฤต ทำให้เกษตรกรเห็นความสำคัญในการยกระดับการเพาะปลูกตามมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices: GAP) มากขึ้น ซึ่งตอบโจทย์แนวโน้มตลาดหลังโควิดที่ผู้บริโภคต้องการสินค้าเกษตรปลอดภัย รับผิดชอบต่อสุขภาพของผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น” คุณนิวัติ กล่าว
ด้าน คุณเสกภณ บุญเตชะธนาวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บจ.ขอบคุณ 2562 ผู้จัดจำหน่ายสินค้าสำหรับห้องปฏิบัติการด้านความปลอดภัยอาหาร กล่าวว่า โครงการเครดิตเทอม 30 วัน ช่วยได้มาก โดยลดการกู้เงินมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ส่งผลให้ต้นทุนของสินค้าลดลง และยังเป็นโอกาสให้ปรับตัวรับเทรนด์ Next Normal เช่น การหาซัพพลายเออร์ภายในประเทศมากขึ้น ลดการพึ่งพิงสินค้านำเข้า การขยายตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพตอบโจทย์ผู้บริโภคที่เน้นเรื่องความปลอดภัยและสุขอนามัยเป็นสำคัญ อย่าง ตลาดสินค้าฮาลาล อาหารแช่แข็ง รวมทั้งการพัฒนาทักษะบุคลากรขายทางออนไลน์เพิ่มขึ้น
“ผมมั่นใจว่า เราจะสามารถผ่านวิกฤตครั้งนี้ได้ ด้วยโครงการเครดิตเทอม 30 วัน เพราะช่วยลดค่าใช้จ่ายและต้นทุนดอกเบี้ยลง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจรายเล็กอยู่รอดได้ และจากบทเรียนจากวิกฤตในครั้งนี้ ทำให้เราปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว” คุณเสกภณ กล่าว
สำหรับ คุณนฤมล แสงมณี กรรมการผู้จัดการ บจ.ดีเอ็มพี ยูนิฟอร์ม ผู้ผลิตชุดยูนิฟอร์มให้อุตสาหกรรมอาหารทั่วประเทศ กล่าวว่า พิษโควิดส่งผลต่อฐานะทางการเงินของลูกค้า ทั้งลดและหยุดสั่งซื้อสินค้า การได้รับเครดิตเทอมที่เร็วขึ้นจาก CPF ช่วยประคองให้ธุรกิจอยู่ต่อได้ ทั้งนี้ เชื่อว่าวิกฤตระลอกนี้จะยืดเยื้อ บริษัทฯ จึงเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดค่าใช้จ่าย พร้อมเปิดประสบการณ์และทักษะใหม่ให้กับทีมงานเพื่อมุ่งขยายช่องทางการตลาดออนไลน์มากขึ้น
คุณธิดารัตน์ เดชายนต์บัญชา รองกรรมการผู้จัดการ ด้านจัดซื้อพัสดุครุภัณฑ์ กล่าวว่า CPF ให้เครดิตเทอม 30 วันแก่คู่ค้า SMEs จำนวน 6 พันราย ตั้งแต่ตุลาคม 2563 – กันยายน 2564 หรือ 12 เดือน ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาต่อเวลาโครงการออกไปอีก เพื่อช่วยให้ธุรกิจของคู่ค้าสามารถรักษากิจการฝ่าวิกฤตไปได้
นอกจากนี้ CPF ยังเตรียมพัฒนาศักยภาพของคู่ค้า ทั้งมาตรฐานการผลิต การบริหารจัดการแรงงานที่ได้มาตรฐานสากล ตลอดจนความรับผิดชอบต่อสังคมและใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้คู่ค้า SMEs ของ CPF เติบโตรับกับวิถี Next Normal ได้อย่างเข็มแข็งและมั่นคงต่อไป
Cr.PR CPF