หนึ่งใน Food Tech ที่กำลังอยู่ในกระแสบริโภคอย่างโปรตีนทางเลือก ถือว่าเติบโตโดดเด่นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดโปรตีนทางเลือกในไทยน่าจะเติบโตได้จากการเข้าถึงสินค้าที่ง่ายของผู้บริโภคผ่านหลากหลายช่องทางการจำหน่าย บวกกับความต้องการที่มาจากกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์และกลุ่ม Flexitarian ที่เพิ่มขึ้น
ในภาวะที่เศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคยังเปราะบางจากการระบาดของโควิดที่ยังรุนแรง ประกอบกับความหลากหลายของอาหารทั้งประเภทและราคาที่มีให้เลือกเยอะและอาจทดแทนกันได้ ก็น่าจะมีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้ออาหารในกลุ่มโปรตีนทางเลือกของผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันมีราคาเฉลี่ยที่สูงกว่าโดยเปรียบเทียบ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่า ปี 2564 ตลาดโปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมอาหารใหม่ในไทย น่าจะมีมูลค่าประมาณ 4,500 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12 ของตลาดโปรตีนทางเลือกทั้งหมดในไทย ที่มีมูลค่ากว่า 3.62 หมื่นล้านบาท
- มูลค่าตลาดโปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมมีโอกาสขยับไปสู่ 5,670 ล้านบาทได้ภายในปี 2567 (CAGR 2564-2567: 8% ต่อปี)
- ปัจจุบันโปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมในไทยส่วนใหญ่กว่า 89% ของมูลค่าตลาดรวมจะอยู่ในกลุ่มอาหาร ส่วนอีก 11% จะอยู่ในกลุ่มเครื่องดื่ม
- แต่การขับเคลื่อนตลาดน่าจะมาจากผู้ประกอบการรายใหญ่มากกว่า SMEs จากความได้เปรียบเรื่องศักยภาพในการผลิตและช่องทางการจำหน่าย
- หาก SMEs จะแข่งขันกับคู่แข่งรายใหญ่ ซึ่งนอกจากรสชาติแล้ว อาจจะต้องสร้างความแตกต่างในเรื่องของวัตถุดิบ การตลาดและราคาที่สามารถแข่งขันได้
หากมองไปข้างหน้า ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพอาจจะมองหาตลาดส่งออกซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการขยายตลาด และอาจจะมีโอกาสเติบโตได้เร็วกว่าตลาดในประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ที่มาจากโปรตีนจากแมลง ซึ่งปัจจุบันได้รับการส่งเสริมการเลี้ยงเชิงพาณิชย์จากภาครัฐ เพื่อรับกับเทรนด์อาหารเพื่ออนาคต
อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยเป็นสินค้านวัตกรรมอาหารจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องศึกษาถึงกฎระเบียบและมาตรการทางการค้าของคู่ค้าแต่ละประเทศอย่างรอบคอบ
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย