โรงพยาบาลสนาม “ซีพี – ดับบลิวเอชเอ – จุฬารัตน์” เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อรองรับเพื่อรองรับกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ในระดับสีเหลืองและสีส้ม โดยมีคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ คุณจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นายแพทย์กำพล พลัสสินทร์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการกลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ ร่วมในพิธีเปิด
คุณศุภชัย เจียรวนนท์ กล่าวว่า โรงพยาบาลสนาม “ซีพี – ดับบลิวเอชเอ – จุฬารัตน์” เกิดจากแนวคิดของท่านประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ ที่ต้องการช่วยเหลือประเทศชาติและสังคม ซึ่งประเทศไทยเผชิญปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มายาวนานถึง 2 ปี ปัจจุบันยังมียอดผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยวิกฤตอยู่ในโรงพยาบาลหลักเป็นจำนวนมาก เครือเจริญโคภัณฑ์ในฐานะภาคเอกชนไทยที่ดำเนินธุรกิจมาถึง 100 ปีมีความสำนึก และกตัญญูต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ปวงชนชาวไทยมาโดยตลอด โดยเฉพาะด้านการแพทย์และสาธารณสุขจึงได้สร้างโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ขึ้นมาโดยได้ร่วมกับกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ และ รพ.จุฬารัตน์ เพื่อช่วยรักษาพี่น้องประชาชนชาวไทยลูกพ่อหลวงของแผ่นดินที่ติดเชื้อโควิด-19 ให้หายป่วยและมีสุขภาพแข็งแรงกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ
“การสร้างโรงพยาบาลสนามครั้งนี้ถือเป็นความประทับใจอย่างหนึ่งในชีวิตที่นอกเหนือจากการทำงาน ยังได้มีโอกาสช่วยเหลือสังคม การร่วมมือกันครั้งนี้ถือเป็นความร่วมมือที่ได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องขอขอบคุณ พันธมิตรที่ร่วมกันสนับสนุน ทั้งบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) ที่เป็นเจ้าของสถานที่อาคารคลังสินค้าที่ทันสมัยและปลอดภัยได้มาตรฐาน และขอบคุณโรงพยาบาลจุฬารัตน์ที่จะเข้ามารับผิดชอบในส่วนการดูแลและติดตามการรักษาผู้ป่วย ซึ่งหวังว่าการสร้างโรงพยาบาลสนามแห่งนี้จะเป็นโมเดลสำคัญที่จะส่งผลให้เกิดการผนึกกำลังแบบนี้เกิดขึ้นอีก ไม่ว่าจะเป็นภายใต้วิกฤตโควิด หรือวิกฤตใด ๆ ก็ตามต่อไปในอนาคต”
นอกจากนี้ คุณศุภชัย ยังได้กล่าวขอบคุณทุกทีมงานของที่ผนึกกำลังร่วมแรงร่วมใจกันอย่างเต็มที่เพื่อร่วมกันสร้างโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ให้เกิดเป็นจริงได้ภายในเวลาอันรวดเร็วและเป็นโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานแห่งหนึ่งของประเทศ
“นอกจากนพันธมิตรหลักแล้ว ผมขอขอบคุณทีมงานทุกคนที่มีส่วนต่อความสำเร็จในครั้งนี้ ขอบคุณ คุณนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลรับผิดชอบโครงการนี้ และเป็นผู้ประสานงานในทุก ๆ ส่วน และขอขอบคุณ คุณศักดิ์ชัย บัวมูล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นกำลังหลักช่วยเนรมิตโรงพยาบาลสนามที่ได้มาตรฐานในระดับสูงขึ้นมาสำเร็จ รวมทั้งทีมวิศวกรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ ต่อจากนี้ในแต่ละส่วนงานก็จะมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่แตกต่างกันไป โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ ยังคงช่วยสนับสนุนทางด้านวิศวกรรมและการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเรื่องระบบการสื่อสารต่าง ๆ เพื่อให้รพ.สนามแห่งนี้ดำเนินไปได้อย่างไม่ติดขัด”
ด้าน คุณศักดิ์ชัย บัวมูล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ในฐานะผู้รับผิดชอบด้านการออกแบบและก่อสร้างโรงพยาบาลสนามฯ กล่าวเพิ่มเติม โดยได้อธิบายถึงกระบวนการก่อสร้าง การวางระบบต่าง ๆ ซี่งประกอบไปด้วยอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่มาพร้อมกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี อาทิ การติดตั้งท่อระบบระบายอากาศบริเวณหัวเตียงผู้ป่วยเพื่อดูดไอระเหยจากผู้ป่วยแต่ละเตียงสามารถระบายอากาศได้สะดวกในครั้งเดียว การวางระบบอากาศภายในโซนดูแลผู้ป่วยด้วยระบบ Negative pressure เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากในห้องไปสู่บริเวณอื่น ๆ การติดตั้งระบบท่อกรองน้ำด้วยระบบ RO ในการกรองน้ำสะอาดสำหรับอุปกรณ์การแพทย์ การติดตั้งระบบออกซิเจนในทุกเตียง ตลอดจนการให้บริการห้องแล็ป ห้องเอ็กซเรย์ ห้องยาและเวชภัณฑ์ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งได้มีการติดตั้งระบบการสื่อสารและอินเทอร์เน็ต 5G อย่างทั่วถึง เพื่อมอนิเตอร์และดูแลผู้ป่วย รวมทั้งมีการเชื่อมต่อการสื่อสารระหว่างโรงพยาบาลสนามกับโรงพยาบาลจุฬารัตน์ เพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้แบบเรียลไทม์ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลและรักษาผู้ป่วย
โรงพยาบาลสนาม “ซีพี – ดับบลิวเอชเอ – จุฬารัตน์” ตั้งอยู่ภายในโครงการดับบลิวเอชเอ เมกกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ (ชลหารพิจิตร กม. 4) จ.สมุทรปราการ ด้วยขนาดพื้นที่กว่า 15,000 ตารางเมตร มีมาตรฐานเทียบเท่าโรงพยาบาลหลักทั้งในด้านอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ เทคโนโลยี และระบบทางการแพทย์ที่ครบครัน เพื่อดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเหลือง-ส้ม สามารถรองรับผู้ป่วยได้กว่า 600 เตียง ทุกเตียงจัดให้มีเครื่องออกซิเจนแบบครบวงจร มีเครื่องออกซิเจนไฮโฟลว์ 200 เครื่อง เครื่องช่วยหายใจ 30 เครื่อง และยังมีจุดบริการฟอกไตที่สามารรถรองรับได้ถึง10 เตียง หรือ 20 เคสต่อวัน ซึ่งการรับผู้ป่วยเข้ามาในดูแลที่โรงพยาบาลสนามแห่งนี้จะมีโรงพยาบาลจุฬารัตน์ทั้ง 14 แห่ง เป็นผู้คัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 ส่งต่อมารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนามดังกล่าว