CPF คว้ารางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านองค์กรนวัตกรรมดีเด่น ประจำปี 2564

5 ตุลาคมของทุกปี เป็น “วันนวัตกรรมแห่งชาติ” สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมกับองค์กรภาคเอกชนชั้นนำ ภาคสถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม จัดงานวันนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อเทิดพระเกียรติและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็น “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” โดยจัดให้มีการประกาศเกียรติคุณองค์กรที่สร้างสรรค์ผลงานที่มีความเป็นนวัตกรรมโดดเด่นและเกิดคุณค่าที่ชัดเจนต่อประเทศชาติ ได้รับเกียรติจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวแสดงความยินดีและปาฐกถาพิเศษ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธี ในรูปแบบ Virtual ร่วมด้วย ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผอ.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ในปีนี้ CPF ได้รับรางวัลองค์กรนวัตกรรมดีเด่น ประจำปี 2564 (รางวัลเกียรติคุณ ประเภทองค์กรภาคเอกชนขนาดใหญ่) โดยมี คุณไพโรจน์ อภิรักษ์นุสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจสัตว์น้ำ และ คุณพีรพงศ์ กรินชัย รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านวิศวกรรมกลาง CPF เป็นผู้แทนบริษัทฯ รับโล่เชิดชูเกียรติ
นายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัลนวัตกรรมประจำปี 2564 ถือเป็น “นวัตกร” และ “องค์กรนวัตกรรม” ที่เป็นแบบอย่างและเหมาะสมในการเชิดชูเกียรติในฐานะที่ประสบความสำเร็จด้านนวัตกรรมและเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับบุคคลอื่น ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโควิดที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ของประชาชน ประกอบกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นทั่วโลก สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสังคมไทยและอนาคตของประเทศ ทำให้ “นวัตกรรม” กลายเป็นสิ่งสำคัญในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ รัฐบาลจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งและถือเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องนำพาประเทศไปสู่ “ประเทศฐานนวัตกรรม” พร้อมทั้งได้กำหนดไว้ในเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ 20 ปี คือ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
คุณไพโรจน์ กล่าวว่า CPF ในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้วิสัยทัศน์ “ครัวของโลกที่ยั่งยืน” ทำหน้าที่สร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรม คน และสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำความรู้ เทคโนโลยี ระบบดิจิทัล และความคิดสร้างสรรค์ มาประยุกต์ใช้เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานทั้งองค์กร ขับเคลื่อนการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทั้งในธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจการเลี้ยงสัตว์และธุรกิจแปรรูปอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการนวัตกรรมและบุคลากรภายในองค์กรอย่างเป็นระบบ ร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศและยกระดับการแข่งขัน รวมถึงการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals :SDGs)
CPF นำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้กับกระบวนการเลี้ยงสัตว์ทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ รวมทั้งการดูแลด้านสวัสดิภาพสัตว์ ยกระดับและส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ตามมาตรฐานสากลตลอดห่วงโซ่อุปทาน อาทิ การเลี้ยงไก่แบบปล่อยอิสระในโรงเรือน (Cage Free) และแบบปล่อยอิสระ (Free Range) ในโรงเรือนแบบปิด Biosecurity High Tech Farming ที่ปลอดโรค 100% ถ่ายทอดองค์ความรู้ต่อไปยังเกษตรกร เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์ของไทยที่ยั่งยืน
ภายใต้กลยุทธ์ 2030 Sustainability in Action บริษัทฯ มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนนวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีจาก 35% เป็น 50% ภายในปี 2573 ด้วยความมุ่งมั่นวิจัยและพัฒนาของศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารของ CPF นำนวัตกรรมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร โดยร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ อาทิ ผลิตภัณฑ์ “เบญจา ชิคเก้น” (Benja Chicken) นวัตกรรมเนื้อไก่สดพรีเมียมที่เลี้ยงไก่ด้วยข้าวกล้อง ทำให้ได้เนื้อไก่ที่ หอม นุ่ม ฉ่ำ กว่าไก่ทั่วไป และยังไม่ใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยงดู จนได้รับเลือกเป็นหนึ่งในนวัตกรรม Top Innovative Product ของงาน THAIFEX – World of Food Asia 2019 ผลิตภัณฑ์หมูชีวา หมูสายพันธุ์พิเศษ เลี้ยงด้วย Super food ชั้นดี Flax Seed, น้ำมันปลา และ สาหร่ายทะเลลึก จนได้หมูที่มีโอเมก้า 3 ได้รับรางวัลสุดยอดนวัตกรรมอาหาร จากงานแสดงสินค้าอาหารระดับโลก THAIFEX-Anuga Asia 2020 การนำโปรไบโอติกมาใช้ผลิตอาหารสัตว์เพื่อช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้สัตว์แข็งแรงตามธรรมชาติ ไม่ป่วยง่าย การพัฒนาโปรตีนทางเลือก Plant- Based Protein ภายใต้แบรนด์ Meat Zero ที่ผลิตจากพืช 100% ซึ่งเป็นความร่วมมือกับบริษัทด้าน Plant-based ระดับโลกจากหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น สหรัฐ และสิงคโปร์ รวมถึงสถาบันการศึกษาของไทยอย่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นนวัตกรรม PLANT-TEC หรือเทคนิคการสร้างรสสัมผัสเสมือนเนื้อสัตว์รองรับกระแสผู้บริโภคที่สนใจมังสวิรัติยืดหยุ่น (Flexitarian) เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ CPF ส่งเสริมการสร้างวัฒนธรรมองค์กรแห่งนวัตกรรม เน้นการพัฒนาและนวัตกรรมทั้งองค์กรอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อตัวพนักงานและบริษัท อาทิ นำมาตรฐาน ISO 56002 ซึ่งเป็นมาตรฐานการจัดการนวัตกรรมที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลมาพัฒนานวัตกรตามแนวทาง TRIZ ในองค์กรได้มากกว่า 1,000 คน และยังจัดตั้งคณะกรรมการนวัตกรรมขององค์กร เพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการนวัตกรรมเชิงกลยุทธ์ในทิศทางเดียวกันทั้งองค์กร จากความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนพัฒนาการบริหารนวัตกรรมขององค์กรอย่างจริงจัง ส่งผลให้ CPF เป็นองค์กรรายแรกของไทยที่ได้รับรองมาตรฐาน ISO 56002 จากสถาบันรับรองมาตรฐาน ISO ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ริเริ่มโครงการเถ้าแก่เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาสิ่งใหม่ ตลอดห่วงโซ่ธุรกิจของ CPF ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ส่งเสริมคนรุ่นใหม่ในการลงมือปฏิบัติจริง เป็นการพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพ สร้างคนเก่งและคนดีให้กับประเทศ
ทั้งนี้ การจัดประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ แบ่งเป็น 5 ด้าน ได้แก่ 1.เศรษฐกิจ 2.สังคมและสิ่งแวดล้อม 3.การออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ 4.สื่อและการสื่อสาร และ 5.องค์กรนวัตกรรมดีเด่น ซึ่งในการพิจารณาคัดเลือกองค์กรนวัตกรรมดีเด่น พิจารณาถึงศักยภาพในการพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืนและการบริหารจัดการนวัตกรรมองค์กรภายใต้กรอบโมเดลการประเมินศักยภาพนวัตกรรมองค์กร (IOM) ใน 8 มิติ ได้แก่ ด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรม (Innovation Strategy) ด้านการมุ่งเน้นธุรกิจ (Business Focus) ด้านบุคลากร (People) ด้านองค์ความรู้ (Knowledge) ด้านวัฒนธรรมองค์กร (Culture) ด้านทรัพยากร (Resource) ด้านกระบวนการนวัตกรรม (Process) และด้านผลิตผลจากนวัตกรรม (Result)
Cr.PR CPF