การพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง ด้วยการสร้างทักษะอาชีพที่ก่อเกิดรายได้ คือ หนึ่งแนวทางสำหรับการตั้งเป้าหมายความสำเร็จให้ชุมชน แต่ในอีกมุม คือ การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และธรรมชาติรอบชุมชนอย่างยั่งยืน โดยเน้นกระบวนการส่งเสริมชุมชนให้มีส่วนร่วม พร้อมกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขยายสู่ศูนย์กลางการพัฒนาพื้นที่ทำกิน ก่อเกิดเป็นวิสาหกิจชุมชนสร้างรายได้ ภายใต้ความพอเพียงหล่อเลี้ยง ชีวิตครอบครัวได้อย่างมีความสุข
กาแฟ พืชเศรษฐกิจใหม่ สร้างรายได้ให้สังคม
คุณสุภพ เทพวงศ์ หรือ อาจารย์แม้ว นักวิชาการ ด้านพืชกาแฟ และเป็นที่ปรึกษาของหน่วยงานด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐ ฯ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ใน 4 พื้นที่ต้นน้ำ ปิง วัง ยม น่าน เป็นผู้มีประสบการณ์เฉพาะทางและเชี่ยวชาญด้านกาแฟมามากกว่า 30 ปี กล่าวว่า กาแฟ คือ พืชเศรษฐกิจที่มีการปลูกมานานกว่า 40 ปีแต่ยังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร จนกระทั่งราคาผลผลิตเมล็ดกาแฟในตลาดโลกมีแนวโน้มที่สูงขึ้นส่งผลให้ปัจจุบันกาแฟได้รับผลักดันให้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ สร้างรายได้ครอบคลุมในทุกมิติ
จุดเริ่มต้นเรื่องกาแฟเกิดขึ้นเมื่อปี 2522 -2564 จากความชื่นชอบศึกษาและพัฒนาพืชกาแฟตลอดอย่างไม่หยุดยั้ง เรียนรู้จากธรรมชาติเข้าถึงความต้องการเกิดเป็นความเข้าใจ และผลักดันต่อยอดเป้าหมายเพื่อการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สังคม ด้วยการลงมือทำ
ลงมือทำสร้างความเชื่อใจ ผลักดันชุมชนให้มีอาชีพ
ด้วยความผูกพันเรื่องกาแฟ ทำให้เข้าใจธรรมชาติ กาแฟ คือ พืชเศรษฐกิจสร้างมูลค่า ติมเต็มพื้นที่ป่าช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม หากเข้าใจความต้องการของพืชชนิดนี้ จะสามารถนำมาซึ่งรายได้แก่เกษตรกรอย่างเป็นที่น่าพอใจ รู้และเข้าใจว่าพืชชนิดนี้ชอบพื้นที่ลักษณะใด สิ่งสำคัญที่พืชต้องการเพิ่มเติมคือเรื่องไหนจะช่วยให้ตอบโจทย์กาแฟดีมีคุณภาพให้รสชาติกลมกล่อมมากยิ่งขึ้นเท่านั้น รวมไปจนถึงสายพันธุ์และการดูแลที่ต้องมีความพิถีพิถันที่แตกต่างออกไป เพื่อให้ได้มาซึ่งคุณค่าและรสชาติความกลมกล่อมของกาแฟชั้นดี
สิ่งแรกที่ชาวบ้านและเกษตรกรควรทำ คือ การเปลี่ยนความคิด และ สร้างความเชื่อมั่นให้ตนเอง จากการเรียนรู้ กลายเป็นความเข้าใจในทุกขั้นตอนตั้งแต่ ต้นน้ำ กลาง ปลายน้ำ ลงมือปฏิบัติจริงชี้ให้เห็นถึงคุณภาพ เน้นความสะอาดเป็นหลัก เมื่อเกิดการเรียนรู้จึงผลักดันสู่การอบรมศึกษาดูงาน
คุณสุภพเล่าว่า ในบางพื้นที่เดิมปลูกกาแฟในชุมชนเป็นทุน แต่ยังขาดการจัดการที่เป็นระบบและครบวงจร ส่วนในเชิงเทคนิคการแปรรูปเน้น การดูและปฏิบัติ (ไม่เน้นพูด) ทำให้เห็นและทำไปพร้อมกัน เมื่อไม่เข้าใจให้สอบถาม เน้นใช้ชาวบ้านเป็นผู้นำ เพราะเป็นตัวแทนสำคัญที่จะเป็นตัวอย่างสร้างความน่าเชื่อถือให้ผู้บริโภคดึงดูดกลุ่มสมาชิกเข้าสู่วิสาหกิจชุมชนแปรรูป ต่อยอดสู่ “วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ (Social Enterprise) ” ได้
โดยมีการจัดการที่ดีตลอดห่วงโซ่อุปทานเพื่อได้ซึ่งกาแฟคุณภาพ พร้อมส่งมอบสู่ตลาด สร้างการกระจายรายได้สู่ชุมชนโดย ซึ่งเครือซีพี คอยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อีกทั้งหาตลาดในการรับซื้อกาแฟเชอร์รี่สด เพื่อส่งต่อมาที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กาแฟคุณภาพ ภายในพื้นที่และจัดจำหน่ายแก่ผู้ประกอบการต่อไป
การส่งเสริมอาชีพและเทคนิคที่ได้เรียนรู้จากชุมชน
การหาเรื่องราวและเทคนิคใหม่ ๆ เข้ามาเติมเต็มถ่ายทอดความรู้ให้ชุมชน ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายค่อย ๆ ป้อนองค์ความรู้ให้เขา คอยดูอย่างใกล้ สร้างความเชื่อมั่น เติมกำลังใจ และก้าวไปพร้อมกันอย่างมั่นคง โดยจากทุกพื้นที่ ที่เข้าไปสนับสนุน สิ่งที่รับรู้ถึงผลลัพธ์ได้ คือ ความแตกต่าง ของชุมชน, ธรรมชาติ, พื้นที่, บางพื้นไม่มีความซับซ้อนปลูกพืชดูแลรักษาง่าย เจริญเติบโตอย่างดี
ส่วนบางพื้นที่พื้นดินต่ำสภาพดินไม่เอื้อ ถึงต้องเข้าไปช่วยเหลือตั้งแต่การวางแผนไปจนถึง การกระตุ้นปรับสภาพดินด้วยปุ๋ย ดูแลโครงสร้างลำต้น ราก ดอก ใบ ตัดแต่งกิ่ง ตลอดจนคนในพื้นที่ ที่เป็นตัวแปรสำคัญเพื่อวางเป้าหมายมุ่งสู่การพัฒนาอาชีพชุมชน ต่อยอดจัดกิจกรรมส่งเสริมให้ชุมชนเกิดการเรียนรู้ มีส่วนร่วม เกิดการเรียนรู้
“ทุกครั้งจะรับรู้ได้ถึงความสุข สัมผัสได้จากการพูดคุยในทุกครั้งที่พูดคุยกับชาวบ้าน เกิดความสนใจคำถามที่เอาใจใส่ยิ่งทำให้รับรู้ได้ถึงความเข้าใจและตั้งใจเป็นสิ่งที่เน้นย้ำกับตนเอง และทุกคนเสมอว่าเราอย่าหนีชาวบ้านเหมือนหนีปัญหาเพราะสิ่งเหล่านี้คือ ผลสะท้อนเพราะถ้าเราคิดว่าเราไม่ทิ้งเขา เขาจะเปิดใจรักเชื่อใจและไม่ทิ้งเรา คือผลลัพธ์ความสัมพันธ์ที่งดงาม” คุณสุภพ เล่าให้ฟัง
ทิศทางการพัฒนาพัฒนากาแฟในอนาคต
เมื่อถามว่าในฐานะคนปลูกกาแฟ อยากเห็นกาแฟพัฒนาไปในทิศทางไหน คุณสุภพ บอกว่า ในอนาคตสิ่งที่อยากเห็นคือ มุ่งเน้นการลดต้นทุนให้ในแต่ละพื้นที่ และมุ่งเน้นการมีบทบาทของอินทรีย์ชีวภาพเพิ่มมากยิ่งขึ้น คิดค้นกาแฟคุณภาพสายพันธุ์ใหม่ ๆ ตอบโจทย์สภาพพื้นที่
“ปัจจุบันทุกพื้นที่เราเดินมาถูกทาง เกษตรกรมุ่งมั่นตั้งใจเต็มที่ถือเป็นหนึ่งโมเดลการแลกเปลี่ยนที่ล้ำค่า ดีใจอย่างยิ่งที่เข้าร่วมโครงการนี้เพราะ เครือซีพี เข้าไปสนับสนุนทำให้เกษตรกรจริง ลงมือทำจริง ในทุกขั้นตอนตั้งแต่การออกแบบแปรงปลูกตลอดจนเป็นตลาดหาช่องทางการขายอย่างครบวงจร บอกได้คำเดียว คือ รู้สึกตื้นตันและประทับใจภูมิใจแทนเกษตรกรที่เกิดการ สร้างงาน สร้างอาชีพ เกิดรายได้ดูแลครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง”
เสียงสะท้อน จากเกษตรผู้กล้า กับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สู่ความยั่งยืน
คุณสงคราม รัตนศรีลา ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สร้างป่า สร้างรายได้ บ้านสบขุ่น หนึ่งในเกษตรผู้ริเริ่มสู่การเปลี่ยนแปลง จากการทำการเกษตรเชิงเดี่ยว สู่การเกษตรแบบผสมผสาน โดยมีกาแฟเป็นตัวนำ ด้วยความมุ่งมั่นที่อยากจะฟื้นฟูผืนป่า พร้อมกับสร้างรายได้ที่มั่นคงในอนาคต โดยในครั้งแรก คิดว่าการปลูกกาแฟเป็นเรื่องง่าย แต่พอลงมือทำจริงยากพอสมควรเพราะอาศัยการดูแลเอาใจใส่อยู่ตลอดเวลา หลังจากที่ได้รับฟังองค์ความรู้พร้อมเทคนิค จึงทำให้เกิดความมั่นใจขึ้นมาครึ่งหนึ่ง และเริ่มมองเห็นความสำเร็จไปอีกครึ่ง
ต่อข้อถามที่ว่า หลังจากที่ CP ได้เข้ามาให้ความรู้ เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร และได้เรียนรู้อะไรบ้าง คุณสงคราม บอกว่า สิ่งแรกที่เห็นคือ สภาพของดินดีขึ้น ป่าไม้อุดมสมบูรณ์มากขึ้นและลดการเสี่ยงเกิดไฟป่าปัญหาหมอกควันก็ลดลง ได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญทั้งทางด้านทฤษฎีและด้านปฏิบัติ ในการจัดการแปลงกาแฟในเรื่องของโรคต่าง ๆ การดูแลรักษาระยะติดผลหรือการดูแลรักษาหลังจากการเก็บเกี่ยว และได้นำความรู้นั้นมาใช้ในการดูแลแปลงกาแฟของตนเองตามคำแนะนำ ทำให้กาแฟมีความสมบูรณ์ตามต้องการ
ส่งต่อองค์ความรู้นี้สู่คนรุ่นใหม่
คุณสงคราม ยังบอกอีกว่า ความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ต้องค่อย ๆ เรียนรู้ให้คำแนะนำทำให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นว่าเราสามารถประสบความสำเร็จ มีรายได้ที่ต่อเนื่อง ถือเป็นความสุขอย่างแท้จริงในชุมชน ทุกอาชีพมีคุณค่าหากว่าเราให้ความสำคัญ สิ่งเหล่านั้นจะอยู่ที่มุมมองแนวคิดของเรา หากเราเริ่มปรับมุมมอง หาวิธีและแนวทางใหม่ ๆ อาจทำให้ประสบผลสำเร็จไวยิ่งขึ้น อยากให้มุ่งมั่นและตั้งใจ ทำมันให้ประสบความสำเร็จจากรุ่นสู่รุ่นสืบไป เพื่ออนาคตที่ดีในวันข้างหน้า “กาแฟสร้างป่า สร้างรายได้”