21 ตุลาคม 2564 – คุณสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ เครือซีพี เปิดเผยว่าเครือซีพีมีความตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ และในปีนี้เป็นปีที่เครือซีพีดำเนินธุรกิจครบ 100 ปี จึงมีนโยบายรวมพลังทุกกลุ่มธุรกิจในเครือฯให้ร่วมกันร้อยเรียงความดีสู่สังคมและประเทศชาติ ในโครงการซีพีร้อยรักษ์โลกด้วยการปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศไทยและโลกของเรา โดยเครือซีพีได้ตั้งเป้าหมายปลูกต้นไม้ 20 ล้านต้น เพื่อนำไปสู่การเป็นองค์กรที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2573 และเนื่องในวันรักต้นไม้ประจำปีของชาติ 21 ตุลาคม นี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีจึงขอรณรงค์ให้ชาวซีพีทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันปลูกต้นไม้ ดูแลรักษาต้นไม้ เพื่อช่วยกันสร้างอนาคตที่ดีให้กับลูกหลานต่อไป
ประธานกรรมการ เครือซีพี กล่าวต่อไปว่า โครงการ ซีพี ร้อยรักษ์โลก ถือเป็นภารกิจสำคัญของเครือซีพี ทุกกลุ่มธุรกิจต้องผนึกกำลังปลูกต้นไม้ลดโลกร้อน ควบคู่ไปกับการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนไทย ผ่านการจ้างงานฝากเลี้ยงและดูแลกล้าไม้ก่อนที่จะนำไปปลูก เพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาความเดือดร้อนของสังคม ซึ่งจะทำให้ซีพีร้อยรักษ์โลกตอบโจทย์ในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันเครือซีพีและบริษัทในเครือจากทุกกลุ่มธุรกิจได้ร่วมกันปลูกต้นไม้ยืนต้นทั้งในพื้นที่ของบริษัท โรงงาน และในพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยร่วมมือกับภาครัฐ เอกชน เครือข่ายภาคประชาสังคมและชุมชนต่าง ๆ ซึ่งในส่วนของโครงการซีพีร้อยรักษ์โลกได้นำร่องปลูกไปแล้วกว่า 5 แสนต้น อาทิ บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ ซีพีเอฟ บมจ. ซีพี ออลล์ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น บจ. เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม หรือ โลตัส บมจ. สยามแม็คโคร ฯลฯ โดยได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรเครือข่ายร่วมกันนำกล้าไม้ไปปลูกในพื้นที่ทั่วประเทศ อาทิ โครงการป่าสิริเจริญวรรษอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดชลบุรี โครงการสระน้ำไร่นาประชารัฐสามัคคีเกษตรอินทรีย์วิถีสุรินทร์ 4.0 สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสุรินทร์ เครือข่ายป่าชุมชน จังหวัดตาก และอุทยานเเห่งชาติเขาเเหลม จังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้น ซึ่งต้นไม้ที่นำมาปลูกมาจากการจ้างงานกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งกลุ่มผู้ตกงาน กลุ่มเกษตรกร กลุ่มอาชีพประมง กลุ่มผู้เปราะบางให้มาประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงและดูแลกล้าไม้ในโครงการ ซึ่งสามารถช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
สำหรับกล้าไม้ในโครงการซีพีร้อยรักษ์โลกประกอบด้วย 1.ไม้ป่าเศรษฐกิจ ได้แก่ ต้นแดง ต้นพยูง ต้นประดู่ป่า ต้นมะค่าโมง ต้นชิงชัน ต้นสักทอง ต้นพยอม ต้นยางนา ต้นเก็ดแดง ต้นแคนา ต้นไผ่ 2.ไม้ท้องถิ่น ได้แก่ ทองอุไร มะม่วงหิมพานต์ 3.ไม้ป่าชายเลน ได้แก่ โกงกาง ลำพู ฝาดแดง/ฝาดขาว และ 4.ไม้ผลกินได้ ได้แก่ มะม่วง(น้ำดอกไม้) กล้วยน้ำว้า ขนุน ฝรั่ง ทุเรียน มะพร้าวน้ำหอม