เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท จัดประชุมสามัญประจำปี 2564 โดยมีคณะกรรมการเข้าร่วมจำนวน 25 ท่าน นำโดย พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ประธานกรรมการ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท พร้อมด้วย คุณสุภกิต เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการ และคณะกรรมการ อาทิ ดร.อาชว์ เตาลานนท์ คุณอดิเรก ศรีประทักษ์ คุณณรงค์ เจียรวนนท์ เป็นต้น
คุณอภัยชนม์ วัชรสินธุ์ กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท กล่าวว่า สำหรับการประชุมในครั้งนี้ มีสาระสำคัญ ได้แก่ รายงานผลการดำเนินงานปีบริหาร 2563 และพิจารณาแผนงานและงบประมาณปีบริหาร 2564 สำหรับการประชุมกรรมการเห็นชอบ โดยให้ความสำคัญในการพัฒนาด้านเด็ก และผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีมูลนิธิยูนุส ประเทศไทย มีความสนใจศึกษาผลลัพท์ของโครงการต่างๆ ของมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท จึงเข้ามามีบทบาทในช่วงนี้ นอกจากนี้ยังมีอนุมัติหลักการ แผนงานและงบประมาณสำหรับ “โครงการอมก๋อยโมเดล” : สำหรับโมเดลด้านการศึกษา เพิ่มเติม
คุณจอมกิตติ ศิริกุล กรรมการ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท กล่าวว่า สำหรับโครงการปลูกป่าอมก๋อย “อมก๋อยโมเดล” มีการเพิ่มเติมการดำเนินงานในมิติของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการสร้างอาชีพและรายได้ให้เกษตรกรและชาวบ้านอย่างยั่งยืน จึงเกิดเป็นอมก๋อย โมเดล โดยวางยุทธศาสตร์ในระยะเวลา 5 ปี (ปี 2564 – 2568) โดยมี 3 เป้าหมายสำคัญ ได้แก่ ปกป้องรักษาป่าต้นน้ำ การสร้างอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืน และการสร้างชุมชนที่ยั่งยืน โดยที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการทั้งหมด 5 โมเดล ได้แก่ กาแฟใต้ร่มไม้ใหม่ โมเดลข้าวไร่ 1-2-3 โมเดลปลูกป่าต้นน้ำ เพื่อการอนุรักษ์ เกษตรมูลค่าสูง และกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise)
สำหรับความคืบหน้าโครงการในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา โดยรวมอยู่ที่ประมาณ 45% มีการดำเนินงานโดยเน้นไปที่เรื่องการทำความเข้าใจ และเข้าถึง โดยเฉพาะหน่วยงานราชการ ซึ่งมีความสำคัญในการดำเนินงานในพื้นที่อมก๋อย รวมไปถึงกลุ่มชุมชน ภาคประชาสังคม NGO และชาวบ้าน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการในพระราชดำริต่างๆ
โดยในการประชุมครั้งนี้ จะเป็นการขออนุมัติแผนงานและงบประมาณโมเดลที่ 6 ด้านการศึกษาเพิ่มเติม โดยมีโรงเรียนอยู่ในพื้นที่อมก๋อยอยู่ 38 โรงเรียน มีนักเรียนรวม 7,111 คน โดยมีปัญหาหลักๆ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ปัญหานักเรียน มีปัจจัยเอื้อด้านการศึกษาต่ำ เนื่องจากฐานะของผู้ปกครอง อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ขาดอุปกรณ์การเรียนการสอน และที่สำคัญขาดแรงบันดาลใจในการศึกษา มีศักยภาพการเรียนรู้ต่ำ และโภชนาการไม่สมบูรณ์ 2. ปัญหาโรงเรียน ด้านโครงสร้างพื้นฐาน สื่ออุปกรณ์การเรียนการสอนไม่เพียงพอ หอพักของนักเรียน และอาคารเรียนต่างๆที่มีความทรุดโทรม 3. ปัญหาด้านครู/บุคลากร มีความขาดแคลน ครูสอนไม่ตรงรายวิชาจากอัตราบรรจุกับจำนวนห้องเรียนไม่เท่ากัน มีการโยกย้ายครู และอุปกรณ์การเรียนการสอน โดยการนำโครงการของทรูปลูกปัญญา เข้าไปพัฒนาในด้านต่างๆ จึงเกิดเป็นวิสัยทัศน์ “เพื่อที่จะลดความเหลื่อมล้ำ รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพของนักเรียน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน” โดยมีพันธกิจในการส่งเสริมให้เด็กนักเรียนสามารถเข้าถึงศักยภาพของตนเอง เป็นทั้งเด็กดีและเด็กเก่งที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งภายใน 5 ปี ตั้งเป้าพัฒนาจำนวน 20 โรงเรียน
ทางด้าน พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ประธานกรรมการ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ได้เสนอแนะเพิ่มเติมว่า อมก๋อยโมเดลในโมเดลด้านการศึกษา มองเห็นทางช่วยเหลือได้ แต่ในเรื่องครูและบุคลากรเป็นเรื่องยาก โครงการกองทุนการศึกษา เริ่มตั้งแต่ปี 2554 มีโรงเรียนต้นแบบที่ดี ถ้าสามารถนำแนวทางมาพัฒนาโรงเรียนในอมก๋อยให้เป็นเครือข่ายได้ ก็จะสามารถพัฒนาปัญหาด้านต่างๆได้เป็นอย่างดี
ทางด้าน ดร.อาชว์ เตาลานนท์ กรรมการ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ได้เสนอแนะเพิ่มเติมว่า สำหรับแผนงานอมก๋อยโมเดล ในด้านการอนุรักษ์ป่า อาจจะต้องรวมถึงการอนุรักษ์สัตว์ป่า ซึ่งมีความสำคัญในการอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชน ป่าและสัตว์ป่าอย่างยั่งยืน ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานโครงการมีความสมบูรณ์และครบถ้วนมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ กรรมการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ได้เห็นชอบและอนุมัติโมเดลที่ 6 ของอมก๋อยโมเดล นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะจากกรรมการ ในเรื่องของรายละเอียดงบประมาณให้ชัดเจน ต่อมาเป็นโครงการต่างๆที่เกี่ยวกับป่าไม้ ให้เน้นการกักเก็บคาร์บอน ขอให้ตรวจสอบการเบิกจ่ายเงิน งบประมาณต่างๆให้ตรงตามวัตถุประสงค์และระเบียบอย่างเคร่งครัด และประสานกรมอุทยานเพื่อขอรับการสนับสนุนพันธุ์ไม้ท้องถิ่นในโครงการอมก๋อยโมเดล พร้อมทั้งปรับปรุงศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
#ซีพีเอฟ #มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท
อ่านเพิ่มเติม : http://www.cp-foundationforrural.org/rldf29102564/