Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand
การเกิด COVID-19 ทำให้ผู้บริโภคหันมาคิดทบทวนถึงแนวทางการใช้ชีวิต และการเปลี่ยนวิถีชีวิตในแต่ละวันของพวกเขา ในรายงาน Tetra Pak Index 2021 ฉบับล่าสุด (เต็ดตรา แพ้ค อินเด็กซ์) ทำแบบสำรวจใน 9 ประเทศคือ บราซิล สหรัฐอเมริกา จีน เกาหลีใต้ อินเดีย แอฟริกาใต้ ไนจีเรีย อังกฤษ และสเปน ซึ่งเป็น Data Insight ที่สามารถนำไปปรับใช้ทั่วโลก ระบุว่า
การระบาดใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และความเปราะบางที่เกิดขึ้นกับตัวเอง เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่เราทุกคนประสบอยู่นั้น กระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้คนอย่างมาก และเป็นตัวเร่งให้เกิดพฤติกรรมใหม่ หรือนิสัยใหม่ เพื่อเป็น “ตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีขึ้น” หรือ “Better Me” ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ยังคงอยู่ (Sticky Trends) ในยุค Post-Pandemic ที่สถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายลง
เทรนด์ “Better Me” หรือการเป็นตัวเองที่ดีขึ้น คือ การพัฒนาตัวเอง และการดูแลตัวเอง ให้มีสุขภาพกาย และสุขภาพใจที่ดี โดยมาจาก 3 ปัจจัยที่ Influence ผู้บริโภคยุคใหม่คือ อาหาร สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิต และแบรนด์นำไปปรับใช้ให้เข้ากับวิถีใหม่ของผู้บริโภค
มาเจาะลึกใน 3 เทรนด์ที่ผู้บริโภคมองว่าจะทำให้ตัวเขาเอง สามารถเป็นตัวเองที่ดีขึ้นได้
Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand
1. “บ้าน” เป็นทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิต – ผู้คนจึงกลับมาทำอาหารรับประทานเองที่บ้าน
แต่ก่อนเกิดสถานการณ์ COVID-19 “บ้าน” คือ สถานที่พักผ่อนหลับนอนเท่านั้น โดยใน 1 วันที่มี 24 ชั่วโมง หลายคนใช้ชีวิตอยู่นอกบ้านเป็นส่วนใหญ่ และใช้เวลาอยู่กับบ้าน 10 ชั่วโมง หรือน้อยกว่านั้นด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตามตั้งแต่มี COVID-19 “บ้าน” ได้เปลี่ยนบทบาท กลายเป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต เพราะผู้คนได้ทำกิจกรรมที่บ้านมากขึ้น ไม่เพียงแต่เป็นสถานที่พักผ่อนหลับนอนเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ทำงาน ห้างฯ/ร้านค้าออนไลน์ ยิมออกกำลังกาย ห้องเรียน คาเฟ่เล็กๆ หรือแม้แต่เป็นร้านอาหารของเราเอง
หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดเจนคือ ผู้บริโภคเริ่ม Back to basic ด้วยการทำอาหารรับประทานเองที่บ้าน (Cooking at home)
จากการวิจัยพบว่า 61% ของผู้บริโภคบอกว่าทำอาหารมากขึ้นเวลาอยู่บ้าน โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้บริโภคหันมาทำอาหารเองที่บ้านคือ
– 73% ช่วยลดขยะจากเศษอาหาร เพราะการทำอาหารเอง จะรู้ปริมาณอาหารที่เหมาะสมต่อการรับประทานของตัวเราเอง และสมาชิกในครอบครัว
– 62% ควบคุมความปลอดภัย และคุณภาพอาหาร เพราะสามารถเลือกวัตถุดิบ ส่วนผสม และการปรุงต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง
– 58% ทำให้ได้อาหารที่ตอบโจทย์สุขภาพ
– 44% ช่วยควบคุมค่าใช้จ่าย
อย่างไรก็ตาม จึงมองว่าพฤติกรรม หรือนิสัย “Cooking at home” จะเป็นหนึ่ง Sticky Trends ที่อยู่ต่อไป เพราะเมื่อคนทำอาหารแล้ว รู้สึกสนุก ได้อาหารปลอดภัย คุณภาพ และดีต่อสุขภาพด้วย ทำให้ผู้บริโภคจะยังคงทำต่อไป
2. “สุขภาพ” จากรักษา สู่การสร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย
ผลสำรวจพบว่า 65% ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่า การมีสุขภาพดี หมายถึงอความปลอดภัย และร่างกายมีภูมิคุ้มกันแข็งแรง เพราะผู้บริโภคตระหนักว่า การดูแลสุขภาพก็เป็นการสร้าง Better Me ให้แก่ตัวเขาเอง
เพราะฉะนั้นผู้บริโภคจึงหันมาสร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย (Immunity-boosting) ทั้งให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายที่สร้างความแข็งแรงทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต ยังรวมถึงการรับประทานที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน
จากการสำรวจนี้พบว่า ในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผู้บริโภคต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางการแพร่ระบาด COVID-19 กลุ่มสินค้าอาหาร และเครื่องดื่มที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย เติบโตสูงถึง 500% และคาดการณ์ว่าในยุค Post-COVID-19 การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย จะยังคงอยู่ต่อไป ซึ่งทำให้เทรนด์การบริโภคอาหารเหล่านี้ได้รับความนิยมต่อเนื่อง
– เทรนด์อาหาร Real Food มาจากธรรมชาติ ไม่ได้ผ่านการปรุงแต่ง หรือไม่ได้ผ่านกระบวนการมากนัก
– เทรนด์ Low Fat, Low Sugar, No Sugar
– เทรนด์อาหารทางเลือก สำหรับผู้แพ้อาหาร เนื่องจากปัจจุบันมีคนแพ้อาหารมากขึ้น หรือไม่รับประทานอาหารบางอย่าง ทำให้มีการพัฒนาอาหารทางเลือกมากขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์นมธัญพืช เช่น นมอัลมอนด์
– เทรนด์โปรตีนจากพืช (Plant-based Food) ประเภทต่างๆ ตอบโจทย์ผู้บริโภครับประทานมังสวิรัติ กลุ่ม Vegan และกลุ่ม Flexitarian ที่ลดการรับประทานเนื้อสัตว์
– เทรนด์อาหารจากสมุนไพร หรือการใช้พืชพรรณต่างๆ เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ กระชาย ฟ้าทะลายโจร
ในขณะที่ผู้บริโภคดูแลอาหารการกินมากขึ้น ก็พบอีกหนึ่งพฤติกรรมการบริโภคในระหว่างการแพร่ระบาด COVID-19 ที่คนใช้ชีวิตอยู่บ้านมากขึ้น และจะเป็น Sticky Trend ต่อไป คือ ผู้บริโภครับประทานอาหารว่าง หรือขนมมากขึ้น โดยพบว่า
– 44% ของผู้บริโภคกลุ่มตัวอย่างบอกว่า รับประทานอาหารว่าง หรือขนมมากขึ้นตั้งแต่เกิด COVID-19 เพราะช่วยคลายเครียด หรือผ่อนคลาย
แต่การรับประทานของว่าง หรือขนม ผู้บริโภคก็ยังต้องการสิ่งที่มีประโยชน์ รับประทานแล้วไม่รู้สึกผิด นั่นแสดงให้เห็นว่าในทุกมื้ออาหาร ไม่ว่าจะมื้อหลัก และมื้อรอง อาหารที่รับประทานไปนั้น ต้องตอบโจทย์สุขภาพด้วย
เพราะฉะนั้นในมุมของผู้ผลิต หรือแบรนด์ ควรผลิตสินค้าที่มี Functional Value ด้านสุขภาพ เช่น การใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ หรือวัตถุดิบที่เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางเลือกใหม่ๆ เช่น นมทางเลือก เนื่องจากในช่วง COVID-19 พบว่า ตลาดนมอัลมอนด์ มีการเติบโตดี สะท้อนข้อเท็จจริงว่าผู้บริโภคหันมาบริโภคสินค้าเหล่านี้มากขึ้น
Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand
3. ผู้บริโภค ต้องการการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
การระบาดใหญ่ COVID-19 จึงเป็นตัวเร่งเทรนด์สิ่งแวดล้อมให้ชัดเจนมากขึ้น จากแต่ก่อนผู้บริโภคตระหนัก และรับรู้เรื่องของสิ่งแวดล้อม แต่ทุกวันนี้ทรานส์ฟอร์มสู่ “การปฏิบัติ” ในชีวิตจริงมากขึ้น โดยพบว่า
– 83% ของผู้บริโภคกังวลมลพิษ และขยะพลาสติกในมหาสมุทรมากที่สุด
– 78% กังวลภาวะโลกร้อน (78%)
– 77% กังวลในเรื่องปัญหาขยะอาหาร และการเข้าถึงอาหาร
– 49% ของประชากรทั่วโลกยังตระหนักว่า ทุกการตัดสินใจของพวกเขาในชีวิตล้วนส่งผลส่งกระทบผลต่อสิ่งแวดล้อม
จากความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้น ทำให้กว่า 72% ของผู้บริโภคเชื่อว่าต้องลงมือทำทันที มิฉะนั้นจะล้มเหลวในรุ่นต่อไปในอนาคต
– 35% ของผู้บริโภคมองหาแบรนด์ หรือผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยส่งเสริมนิสัยรูปแบบใหม่นี้ให้กับพวกเขาได้อย่างยั่งยืน
– 84% ของผู้บริโภคบอกว่าอยากใช้บรรจุภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสามารถรีไซเคิลได้
– 55% มีความรอบคอบในการเลือกซื้ออาหารมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการทิ้งและสร้างขยะอาหาร
– 46% ชี้ว่าตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ พวกเขาพยายามคัดแยกขยะ ไม่ว่าจะเป็นกล่องกระดาษ แก้ว หรือพลาสติก เพื่อนำไปรีไซเคิลอย่างเหมาะสมต่อไป
– 50% บอกว่าพวกเขาจะหันมารีไซเคิลให้มากขึ้นในปีหน้า เพื่อเป็นอีกหนึ่งแรงที่จะช่วยแก้ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
ดังนั้น ในมุมของผู้ผลิต หรือแบรนด์ ควรเข้าไปมีส่วนร่วมกับด้านสิ่งแวดล้อม 100% และเป็น “ผู้นำ” (Take Lead) ด้านนี้ ก่อนที่จะถูกภาครัฐมาควบคุม เพราะการที่แบรนด์นำโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม มาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการธุรกิจ ผู้บริโภคจะมองว่าแบรนด์นั้น มีความตั้งใจ หรือจริงใจในการเข้ามาช่วยสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น โดยสิ่งที่แบรนด์ทำได้ เช่น
– แบรนด์ ต้องสื่อสารอย่างโปร่งใสว่ากำลังรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร เช่น ใช้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิลได้
– ควบคุมปริมาณของอาหาร และเครื่องดื่มตั้งแต่กระบวนการผลิต เพื่อให้สอดคล้องกับการบริโภคของผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม เช่น หากสินค้านั้น กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้สูงอายุ อาจผลิตในปริมาณน้อยลงหน่อย เนื่องจากผู้สูงอายุ บริโภคไม่มากอยู่แล้ว แต่ถ้าสินค้านั้นเป็นกลุ่มวัยรุ่น ผลิตในปริมาณมากหน่อย เพราะเป็นช่วงวัยที่กำลังเจริญเติบโต และใช้พลังงานเยอะ
– เพิ่มข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมบนบรรจุภัณฑ์ให้ชัดเจน จากเดิมมีการใส่ข้อมูลผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว แบรนด์ควรหาพื้นที่ส่วนหนึ่งบนบรรจุภัณฑ์ สำหรับใส่คำแนะนำด้านสิ่งแวดล้อม เช่น บรรจุภัณฑ์นี้ รีไซเคิลได้ พร้อมทั้งบอกวิธีนำไปรีไซเคิล
ดังนั้น แบรนด์ไหนที่ลงมือด้านสิ่งแวดล้อมก่อน ย่อมสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในฐานะเป็น First Mover โดยเฉพาะกับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ให้ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อม เป็นด่านแรกที่ผู้บริโภคมอง และตัดสินใจว่าผลิตภัณฑ์นี้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่
ที่มา Brandbuffet