คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแต่งตั้ง ดร.ธันยวัต สมใจทวีพร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป โดย สถาบันวิจัยแสงซินโครตอนเป็นองค์การมหาชน มีพันธกิจเพื่อการวิจัยและการให้บริการเทคโนโลยีด้านแสงซินโครตรอน อันเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของชาติ อีกทั้งเป็นศูนย์ปฏิบัติการวิจัยกลางรองรับการวิจัยในระดับบัณฑิตศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาขั้นสูงทั้งของรัฐและเอกชน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้าน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
แสงซินโครตรอนคือแสงความเข้มสูงที่มีค่าพลังงานต่อเนื่อง สามารถนำไปใช้เพื่อการวิเคราะห์วิจัยเชิงลึกทางวิทยาศาสตร์ของวัตถุต่างๆ ในระดับอะตอมและโมเลกุล และสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย เช่นในปี พ.ศ. 2557 บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) CPF ได้นำโจทย์วิจัยเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์กุ้งแช่แข็งส่งออก เนื่องจากพบว่าเกิดมีจุดสีขาวเล็กๆ บนผิวเปลือกกุ้งแช่แข็งด้านในเปลือกในสินค้าที่เก็บในอุณหภูมิติดลบไประยะหนึ่ง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนจึงได้มีส่วนเข้าไปช่วยหาคำตอบและพบว่าจุดขาวที่เกิดขึ้น เป็นการสะสมของแร่ธาตุแคลเซียมที่เปลือกซึ่งเกิดจากกุ้งถูกแช่แข็งในอุณหภูมิติดลบเป็นเวลานาน จนกระทั่งเกิดการสูญเสียน้ำจากเปลือก จนเห็นผลึกแคลเซียมชัดเจนขึ้นหรือเกิดเป็นจุดขาวบนเปลือกกุ้งนั้นเอง จากโจทย์วิจัยดังกล่าวนี้ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่ CPF ได้ถึง 1,300 ล้านบาท
นอกจากนี้ แสงซินโครตรอนยังเป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลิตวัสดุแห่งอนาคตเช่น กราฟีน อันเป็นวัสดุที่มีความแข็งแรงกว่าเหล็กกล้าและสามารถนำความร้อนและไฟฟ้าได้ดีกว่าทองแดง เมื่อผสมลงในพลาสติก ก็สามารถทำให้พลาสติกนำไฟฟ้าได้ โดยจะถูกนำไปใช้เป็นองค์ประกอบในการผลิตวงจรอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์การแพทย์ หรือ แบตเตอรี่ในอนาคต