ในโลกทุนนิยม ไม่ว่าจะขายสินค้าหรือบริการอะไรก็แล้วแต่ ธุรกิจจำเป็นใช้ทรัพยากรธรรมชาติไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง

แต่สำหรับธุรกิจที่อ้างว่าพวกเขากำลังริเริ่มโครงการ ออกแบบสินค้า หรือลงทุนนวัตกรรมอะไรบางอย่าง เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ลดการปล่อยมลพิษ หรือลดการใช้น้ำ เพื่อช่วยให้โลกดีขึ้น แต่เบื้องหลังพวกเขาไม่ได้ทำแบบนั้นจริงจัง หรือทำอย่างที่พูดไว้

กลยุทธ์เหล่านี้ เรียกว่า “Greenwashing หรือ การฟอกเขียว”

ซึ่งก็แปลตรงตัวเลยว่า ฟอกตัวเองให้ดูกรีน ดูรักโลก ทั้ง ๆ ที่เนื้อแท้ไม่ได้ทำอะไรแบบนั้น เพียงแค่อยากเข้าหาคนรุ่นใหม่ อยากอยู่ในกระแส และอยากขายได้

3 วิธีการดูว่า แบรนด์ไหนกำลังทำ Greenwashing อยู่

 1.ไม่มีการลงทุนที่จับต้องได้

ในการเปลี่ยนระบบสายพานการผลิตของสินค้า 1 ชิ้น หรือลงทุนในเทคโนโลยีที่ลดการปล่อยของเสียอะไรสักอย่าง  สิ่งเหล่านี้ใช้เงินในการลงทุนหลักสิบล้านหรืออาจไปถึงร้อยล้านบาท ฉะนั้นการทำแคมเปญโฆษณาว่าบริษัทนั้นรักโลกอาจใช้เงินน้อยกว่านั้นเยอะ ดูเท่กว่า และเข้าถึงคนได้เยอะกว่าด้วย

ฉะนั้นถ้าอยากรู้ว่าบริษัทจริงใจกับสิ่งแวดล้อมขนาดไหน ให้ดูเม็ดเงินที่เขาลงทุนไปกับนวัตกรรม หรือเปลี่ยนขั้นตอนการทำงานให้เห็นผลจริง ๆ เพราะการลงทุนในเรื่องสิ่งแวดล้อม ส่งผลโดยตรงกับกำไรของบริษัท

เช่น แบรนด์ X เปิดตัวรองเท้าทำจากพลาสติกรีไซเคิล 100% แต่ทำออกมา Limited 100 คู่ และไม่ได้มีการลงทุนหรือคิคค้นเอานวัตกรรมนี้มาใช้อีกเลยในรองเท้าอีก 10,000 รุ่นที่ออกมาทุกปี ถ้าแบรนด์ X จะบอกว่าตัวเองมุ่งหน้าสู่การเป็นแบรนด์แห่งความยั่งยืน ก็ดูจะเกินจริงไปหน่อย

2.ไม่ได้บอกเป้าหมายที่จัดเจน

การรักโลกที่แท้จริงต้องวัดผลได้ เพราะถ้าวัดไม่ได้ก็เท่ากับไม่ได้ทำจริง ๆ ฉะนั้นบริษัทที่จริงจังกับสิ่งแวดล้อม มักจะประกาศเป้าหมายว่า ในปี 2030 หรือ 2040 จะลดการใช้น้ำ ลดการปล่อยคาร์บอน หรือใช้วัสดุรีไซเคิล 100% แต่ระวังให้ดี การบอกเป้าหมายแบบนี้บางครั้งก็มี * ตัวเล็ก ๆ อยู่ด้วย และเมื่อไปดูจริง ๆ สิ่งที่บริษัทอ้างอาจจะไม่ถึง 1% ของการผลิตทั้งหมดด้วย

เช่น บริษัทเราจะนำพลาสติกรีไซเคิลมาใช้ในการผลิตทั้งหมดภายใน 5 ปี แต่เมื่อไปดูในไส้ในแล้ว พบว่าพลาสติกเป็นส่วนเล็ก ๆ ในการผลิตเท่านั้น มีน้ำมัน น้ำ สารเคมีอื่น ๆ อีกมากมาย เป็นต้น

3.ไม่มีการติดตามผล และรายงานต่อเนื่อง

หากแบรนด์ไหนที่ทำทั้งข้อ 1 และข้อ 2 แล้ว พวกเขาก็ควรต้องทำข้อ 3 ด้วยเพราะผู้บริโภคไม่สามารถมานั่งไล่ดูรายงานประจำปีของทุกแบรนด์ได้

ฉะนั้นแบรนด์ที่จริงใจ ก็ควรต้องรายงานผลทุกปีว่าสิ่งที่ริเริ่มในปีก่อน ปัจจุบันไปถึงไหนแล้ว ได้ผลมากน้อยขนาดไหน และจะบรรลุเป้าได้จริงไหม เพื่อให้ผู้บริโภครับรู้ว่าบริษัทยังคงให้ความสำคัญกับสิ่งที่ลั่นวาจาไว้  ไม่ได้เอา ‘ความรักโลก’ มาใช้เป็นเครื่องมือการตลาดเพียงอย่างเดียว

ที่เล่ามาทั้งหมด ไม่ได้ต้องการให้มองว่าแบรนด์ที่พูดเรื่องเหล่านี้ เป็นแบรนด์ที่ไม่ดี หรือหลอกลวง

เพียงแต่ก่อนที่คุณจะปักใจเชื่อว่าแบรนด์ใส่ใจสิ่งแวดล้อมจริง ๆ คุณควรจะศึกษาทุกแง่มุมให้ดีเสียก่อน เพราะถ้าคุณตกเป็นเหยื่อของการฟอกเขียวแล้ว บางทีการไม่ซื้อสินค้าอะไรเลย อาจจะเป็นการช่วยโลกที่ดีสุดก็ได้

ที่มา : https://marketeeronline.co

อ้างอิง : https://goodonyou.eco/how-can-you-tell-when-a-fashion-brand-is-greenwashing/

https://remake.world/stories/style/how-to-tell-if-a-brand-is-greenwashing-what-to-do-about-it/

https://www.investopedia.com/terms/g/greenwashing.asp

https://www.greenpeace.org/thail