1. AI จะต่อยอดศักยภาพ 5G
5G มีศักยภาพมหาศาลในการพัฒนาขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ตั้งแต่การสตรีมมิ่ง การสื่อสาร ไปจนถึงเรื่องของหุ่นยนต์ก้าวล้ำและงานสายการผลิต
5G เป็นจุดที่พลังสองอย่างมาบรรจบกัน คือการสื่อสารภายใต้แบนด์วิดธ์สูงที่มีความเสถียร และการกระจายพลังคอมพิวติ้งอย่างรวดเร็วทั่วทั้งเครือข่าย
ความสลับซับซ้อนของระบบเครือข่ายโทรคมนาคมในปัจจุบันและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การจัดการและควบคุมระบบโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก เห็นได้ชัดว่าเครื่องมือ ระบบ และวิธีการจัดการเครือข่ายในปัจจุบันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ตอบโจทย์ระบบเครือข่ายในอนาคต
เพื่อผลักดันให้เกิดการเชื่อมต่อระบบ 5G ทั่วโลก ผู้ให้บริการด้านการสื่อสาร (CSP) จะหันมาใช้ระบบออโตเมชันที่ขับเคลื่อนด้วย AI และ network orchestration เพื่อช่วยเสริมการควบคุมและบริหารจัดการเครือข่าย อันจะนำสู่การมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น นวัตกรรมอย่างการแบ่งส่วนเครือข่าย จะช่วยให้องค์กรสามารถกำหนดระดับการให้บริการสำหรับอุปกรณ์แต่ละอย่างได้เหมาะสมกับการใช้งานในเครือข่ายของตน ตัวอย่างเช่น รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติสามารถใช้เครือข่ายที่มีเวลาแฝงต่ำมากได้ ในขณะที่กล้องวิดีโอ HD ต้องการแบนด์วิดธ์ที่สูง
2. AI จะสร้างอนาคตที่เชื่อถือได้และยั่งยืน
ในทางหนึ่ง ผู้บริโภค หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล และผู้ถือหุ้น ต่างกำลังกดดันให้บริษัทต่างๆ ทำผลกำไรภายใต้ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม และในอีกทาง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาพอากาศอันเลวร้ายก็กำลังสร้างแรงกดดันให้กับระบบซัพพลายเชนและการดำเนินธุรกิจ ความตึงเครียดเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2565 และ AI จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ธุรกิจผ่านเกณฑ์ชี้วัดด้านความยั่งยืน ทั้งในแง่การวัดผล การรวบรวมข้อมูล และการทำบัญชีคาร์บอน รวมถึงการทำให้การคาดการณ์และความยืดหยุ่นฟื้นตัวไวของระบบซัพพลายเชนเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
42% ของ CIO ที่สำรวจในการศึกษา CIO Study ล่าสุด มองว่า AI และเทคโนโลยีขั้นสูงอื่นๆ จะส่งผลต่อความยั่งยืนมากที่สุดในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งสูงที่สุดเมื่อเทียบกับปัจจัยกระทบอื่นๆ ที่สำรวจ ทั้งระบบบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ที่ช่วยลดความจำเป็นในการเปลี่ยนชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ระบบ AI ที่วิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมของพายุและไฟป่า และอื่นๆ อีกมากมาย จะเข้ามีบทบาทสำคัญในการช่วยองค์กรรับมือกับเหตุสภาพอากาศเลวร้ายที่จะเพิ่มขึ้น
บริษัทต่างๆ จะหันมาให้ความสนใจกับการลดปัญหาการหยุดชะงักของซัพพลายเชนมากขึ้น โดยจะลงทุนในระบบอัตโนมัติที่ขับเคลื่อนด้วย AI เพื่อทำให้ระบบพื้นฐานที่รองรับระบบคอมเมิร์ซต่างๆ สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ข้อมูลจากเซ็นเซอร์,แท็ก RFID, มิเตอร์, แอคทูเอเตอร์, GPS ฯลฯ จะช่วยให้ระบบ inventory สามารถตรวจสอบสินค้าคงคลังได้เอง ขณะที่ตู้คอนเทนเนอร์จะสามารถตรวจดูของที่อยู่ด้านในได้ และพาเลทต่างๆ ก็จะรายงานแจ้งได้เองหากว่าถูกวางผิดที่
3. ธุรกิจจะลดต้นทุน โดยใช้ AI ช่วยคาดการณ์ปัญหาระบบไอทีก่อนที่ปัญหาเหล่านั้นจะเกิด
ในปี 2564 ผู้บริหารด้านไอที ในฐานะผู้ดูแลระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลขององค์กร มีภารกิจสำคัญในการบริหารจัดการการทำงานระยะไกลของพนักงานและรับมือกับปัญหาด้านซิเคียวริตี้รูปแบบใหม่ๆ ไปพร้อมๆ กับการทำความเข้าใจข้อมูลมหาศาลที่เกิดขึ้นจากแอพพลิเคชันยุคใหม่ รวมถึงการมอนิเตอร์โซลูชันและการใช้ช่องทางดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นของพนักงานและผู้บริโภค ปัจจัยเหล่านี้ทำให้องค์กรเริ่มมองถึงการนำออโตเมชันมาใช้มากขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มความสนใจในการนำ AI เข้ามาช่วยคาดการณ์ปัญหาของระบบไอทีมากขึ้น อันนำสู่เทคโนโลยีที่เรียกว่า AIOps
AIOps ช่วยให้ฝ่ายไอทีขององค์กรสามารถบริหารจัดการสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีความซับซ้อนได้ในเชิงรุก และอาจช่วยให้องค์กรรักษาเงินหลักล้านที่ต้องสูญเสียหากเกิดปัญหาขึ้น ในปี 2565 AIOps จะช่วยให้ทีมไอทีสามารถวินิจฉัยปัญหาได้อย่างรวดเร็วและมั่นใจ มากกว่าการทำแบบแมนวลแบบเดิมที่ทีมต้องเสียเวลามากมาย ซึ่งจะทำให้ทีมไอทีสามารถหันมามุ่งเน้นที่งานที่สร้างคุณค่ามากขึ้นได้ นอกจากนี้ AIOps ยังจะช่วยให้ทีมไอทีสามารถระบุแพทเทิร์นของข้อมูลเพื่อบ่งชี้และคาดการณ์ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ ทำให้สามารถทราบปัญหาระบบไอทีล่วงหน้าก่อนที่ปัญหาเหล่านั้นจะเกิดขึ้น
4. งาน Customer Care จะใช้ AI เพื่อให้ตอบโจทย์เฉพาะบุคคลยิ่งขึ้น
ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปีที่ผ่านมา ผู้ช่วยเวอร์ชวลได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญขององค์กรขนาดใหญ่และหน่วยงานภาครัฐ ไม่เพียงเฉพาะในแง่การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเท่านั้น แต่เรายังเริ่มเห็นการผสานรวมออโตเมชันเข้าด้วยกัน ซึ่งทำให้ผู้ช่วยเวอร์ชวลเหล่านี้สามารถจัดการเวิร์คโฟลว์และงานต่างๆ ได้จนเสร็จสมบูรณ์ ดังตัวอย่างของการจองนัดหมายเพื่อรับวัคซีน เป็นต้น ในปี 2565 ผู้บริโภคจะเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับร้านค้าและผู้ให้บริการที่พวกเขาชื่นชอบมากขึ้น ในลักษณะที่มีความเฉพาะบุคคลมากขึ้น
อีกสาเหตุสำคัญที่จะทำให้ AI เข้ามามีบทบาทในงานดูแลลูกค้ามากขึ้น คือการที่ AI สามารถเข้าถึงข้อมูลที่มีความครอบคลุมได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากบริษัทและหน่วยงานภาครัฐเริ่มหันมาใช้สถาปัตยกรรม data fabric เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีมากขึ้น
5. การโฟกัสเรื่องซิเคียวริตี้อย่างต่อเนื่อง
ก่อนที่จะสามารถนำ AI เข้ามาช่วยขับเคลื่อนธุรกิจได้ บริษัทและองค์กรต่างๆ จำเป็นต้องได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภค การต่อสู้เพื่อแย่งชิงความไว้วางใจของผู้บริโภคจะเกิดขึ้นในหลายมิติ ตั้งแต่ความสามารถในการอธิบายที่มาของการตัดสินใจของ AI ได้ ไปจนถึงการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค ว่าข้อมูลส่วนบุคคลของพวกเขาจะได้รับการปกป้องจากภัยไซเบอร์ต่างๆ ในขณะที่บริษัทและหน่วยงานภาครัฐยังคงเดินหน้าลงทุนในด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้อย่างต่อเนื่อง AI เองก็จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการวิเคราะห์และตอบสนองต่อภัยคุกคาม ภายใต้ก้าวย่างสู่แนวทาง “zero trust” ที่จะเข้ามาช่วยลดความเสี่ยงต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น
ที่มา MarketingOops