ประเมินทิศทางกันจนเลือดตาแทบกระเด็นสำหรับสถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยในปีนี้ เพราะเดิมทีคาดหมายกันว่า การท่องเที่ยวไทยกำลังเริ่มกลับมาฟื้น แต่เพียงชั่วข้ามคืนเท่านั้น หลังจากเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนกระจายไปถ้วนทั่วทั้งประเทศ ดับความหวังการกลับมารีสตาร์ตธุรกิจกันตั้งแต่วันเริ่มต้นศักราชใหม่ จนตอนนี้หลายคนมองทิศทางของการท่องเที่ยวของไทยจะกลายเป็นหลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี และหนีไม่พ้น ไร้หนทางกลับมาเป็นปกติได้อีกครั้งภายในระยะเวลาอันใกล้
หนทางช่างมืดมนแล้วคนในอุตสาหกรรมจะอยู่กันได้อย่างไร คำถามนี้คงตอบได้ค่อนข้างยากในปัจจุบัน ภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยที่ผ่านมาหลายคนคงเห็นภาพกันชัดเจนว่า คนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต้องตกงานและหลุดออกจากวงจรไปหลายล้านคน ส่วนใหญ่เปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่นเพราะน่าจะมีอนาคตมากกว่า และเมื่อสถานการณ์เริ่มกลับมาปกติแล้ว ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะมีคนกลับเข้ามาทำอาชีพนี้เหมือนเดิมอีกหรือไม่
อย่างไรก็ตามแม้สถานการณ์ยังเต็มไปด้วยความเสี่ยง แต่ชีวิตก็ยังคงต้องเดินต่อไป ที่ผ่านมาเราคงได้เห็นแอ๊คชั่นทั้งจากเอกชน และหน่วยงานรัฐ ที่พยายามหาทางประคับประคองสถานการณ์กันอย่างหนัก หวังว่าเมื่อฟ้าเปิด สถานการณ์เริ่มดีขึ้น การท่องเที่ยวจะได้กลับมาเป็นพระเอกให้กับเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง
ลุ้นท่องเที่ยวปีนี้ฟื้น
จากการประเมินสถานการณ์ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยังคงมองโลกสวย ไม่ได้ปรับตัวเลขอะไรมากนัก เพราะ “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รมว.การท่องเที่ยวฯ เคยยอมรับว่าประเทศไทย ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วตั้งแต่ปลายปี 64 และตอนนี้หวังอยู่ลึก ๆ ว่า จะผ่านช่วงเวลาแห่งความท้าทายกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ไปได้…ไม่ ซ้ำรอยคลัสเตอร์การระบาดใหญ่ที่จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อกลางปี 64
ดังนั้นตัวเลขตลอดทั้งปี 65 จึงประเมินเอาไว้ว่า หากสถานการณ์เป็นไปตามคาด ประกอบกับระบบสาธารณสุขของประเทศไทยเอาอยู่ จะทำให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 1.3-1.8 ล้านล้านบาท
ตัวเลขข้างต้น อยู่ภายใต้สมมุติฐานจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างชาติเดินทางเข้ามาอยู่ที่ระหว่าง 5-15 ล้านคน ซึ่งความเป็นไปได้มากที่สุด หากสถานการณ์ต่าง ๆ เป็นใจ รมว.การท่องเที่ยวฯ เชื่อว่า ทั้งปีน่าจะมีต่างชาติเข้ามาอย่างน้อย 8 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศประมาณ 4.8 แสนล้านบาท ส่วนการเดินทางเที่ยวในประเทศ น่าจะอยู่ที่ 160 ล้านคน-ครั้ง หรือสร้างรายได้ประมาณ 7-8 แสนล้านบาท สูงกว่าที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศ ไทย (ททท.) ประเมินเอาไว้ในเบื้องต้น เพราะจากที่ดูตัวเลขในปีที่ผ่านมาแม้เจอโควิดกระทบหนัก แต่คนไทยเที่ยวไทยก็ไม่ได้ลดลงอย่างน่าใจหาย
ไฟเขียวเปิดเทสต์แอนด์โก
ล่าสุดพอได้มีข่าวดีบ้างแล้ว ในส่วนของต่างประเทศ หลังจากที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ชุดใหญ่ ไฟเขียวให้กลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากต่างประเทศในรูปแบบ เทสต์ แอนด์ โก อีกครั้ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 65 โดยการเปิดรับรอบนี้จะไม่กำหนดประเทศต้นทาง แต่ต้องอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมโรคของทางกระทรวงสาธารณสุขอย่างเข้มงวด
นอกจากนี้ ศบค. ยังอนุมัติการรับลงทะเบียนไทยแลนด์ พาส ในพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว (แซนด์บ็อกซ์) เพิ่มเติมในอีก 2 พื้นที่ เพื่อเป็นทางเลือกสำคัญ คือ จังหวัดชลบุรี ครอบคลุมเฉพาะอำเภอบางละมุง เมืองพัทยา ศรีราชา เกาะสีชัง และสัตหีบ ที่กำหนดเฉพาะตำบลนาจอมเทียน และตำบลบางเสร่ เท่านั้น ส่วนอีกพื้นที่คือ จังหวัดตราด บริเวณเกาะช้าง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.นี้เช่นกัน รวมไปถึงเปิดให้เดินทางเชื่อมโยงในกลุ่มพื้นที่ จังหวัดภูเก็ต กระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี เฉพาะ เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า ได้ในช่วง 7 วันแรก
หวังดึงต่างชาติไม่สะดุด
แน่นอนว่า หลังจากรัฐบาลตัดสินใจกลับมาเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวแบบเทสต์ แอนด์ โก อีกครั้ง ก็น่าจะพอทำให้คนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีความหวังขึ้นมาบ้าง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ โรงแรม ที่พัก และบริษัททัวร์ ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า ธุรกิจทั้ง 2 นี้กอดคอกันช้ำมาตลอด เพราะไม่มีนักท่องเที่ยว การจะหวังพึ่งนักท่องเที่ยวในประเทศอย่างเดียวอาจไม่รอด ดังนั้นการเปิดให้ต่างชาติเข้ามาได้อีกครั้งก็น่าจะเป็นใบเบิกทางสำคัญกับการฟื้นฟูการท่องเที่ยวในอนาคตที่น่าจะค่อย ๆ ฟื้นกลับมาแบบค่อยเป็นค่อยไป
เช่นเดียวกับบิ๊กเอกชนอย่าง “สุพันธุ์ มงคลสุธี” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. แสดงความเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลควรเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยให้มากขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร็ว เพราะการแพร่ระบาดไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เริ่มบ่งชี้ว่า ไม่ได้รุนแรงถึงขั้นอันตรายต่อชีวิตและในที่สุดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ดังนั้นหากเปิดเร็วจะส่งผลดีต่อการรักษาระดับการจ้างงาน และเพิ่มรายได้เข้าระบบเศรษฐกิจ เพราะธุรกิจท่องเที่ยวและบริการมีจำนวนแรงงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก สุดท้ายก็ส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจ
คาดในประเทศฟื้นเร็ว
ด้านการท่องเที่ยวภายในประเทศ จากเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ 160 ล้านคน-ครั้ง นับว่ามีความท้าทายสูง แต่ก็มีแนวโน้มว่ามีความเป็นไปได้ เพราะหากเทียบกับตัวเลขในปี 64 ซึ่งต้องยอมรับว่า แม้สถานการณ์การท่องเที่ยวไทยจะสาหัสที่สุด และเป็นจุดตกต่ำที่สุดแล้ว แต่ตัวเลขทั้งปีที่ออกมาในเบื้องต้น ตามที่ รมว.การท่องเที่ยวฯ ประเมินก็พบว่ามีคนไทยเที่ยวไทยเฉลี่ยอยู่ถึงประมาณ 100 ล้านคน/ครั้ง นับเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างเซอร์ไพร้ส์อยู่ไม่น้อย ส่วนในปี 65 ยังมีโครงการสำคัญเข้ามาช่วยหนุน นั่นคือ เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4 ถือเป็นแรงส่งที่สำคัญที่อาจพาตัวเลขไปถึงฝันได้ไม่ยากนัก หากไม่มีเหตุการณ์ที่เหนือความคาดหมายเข้ามากระทบเหมือนอย่างปีก่อน
พร้อมชงมาตรการกระตุ้น
ล่าสุดในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน กระทรวงการท่องเที่ยวฯ พร้อมชงครม. สัปดาห์นี้ ไฟเขียวเริ่มต้นโครงการ โดยเตรียมเปิดให้คนที่สนใจเริ่มเข้าไปจองที่พักต่าง ๆ ที่ร่วมโครงการอีก 2 ล้านสิทธิ โดยรัฐบาลพร้อมช่วยจ่ายค่าที่พักให้ 40% สูงสุดไม่เกินคืนละ 3,000 บาทต่อห้องต่อคืน รับคูปอง 600 บาทต่อวัน และเงินคืนค่าตั๋ว เครื่องบิน 40% เบื้องต้นหาก ครม.ไม่ขัดข้องก็น่าจะเปิดให้ประชาชนจองสิทธิได้ภายในเดือน ก.พ.นี้ เพื่อใช้สิทธิยาวไปถึงเดือน ก.ย. 65 ครอบคลุมช่วงเทศกาลและวันหยุดยาวหลายครั้ง
ขณะเดียวกันในการประชุมครม.ครั้งนี้ ยังเสนอโครงการทัวร์เที่ยวไทย ที่รัฐช่วยจ่ายค่าแพ็กเกจทัวร์ 40% ของราคาเต็ม แต่สูงสุดไม่เกิน 5,000 บาทต่อสิทธิ ใส่ไปในวาระ ครม.พร้อมกันในคราวเดียวด้วย โดยขอขยายเวลาจากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ม.ค. 65 ออกไปจนถึงในวันที่ 30 เม.ย. 65 พร้อมปรับลดสิทธิจากเดิมที่กำหนดไว้ 1 ล้านสิทธิ ลดลงเหลือเพียง 2 แสนสิทธิ เพราะที่ผ่านมามีคนใช้น้อย แต่ก็ยังคงเหลือเผื่อเอาไว้เป็นอีกตัวเลือกกระตุ้นคนเดินทางช่วงเทศกาล และหากพบว่า มีคนใช้หมด 2 แสนสิทธิได้เร็วกว่าคาด กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ก็เตรียมขอให้สำนักงานสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์เจียดเงินมาทำรอบใหม่เพิ่มเติมอีก
อย่างไรก็ตาม การปั๊มชีพจรท่องเที่ยวของไทยนับจากนี้ ยังมีโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายอีกมาก และต้องฝากความหวังเอาไว้กับนโยบายภาครัฐ ซึ่งน่าจะเป็นกลไกสำคัญที่สุดกับการขับเคลื่อนมาตรการออกมาช่วยประคับประคองสถานการณ์ท่องเที่ยวให้เดินต่อไปได้ แม้ว่าในขณะนี้รัฐบาลผจญศึกอยู่รอบทิศ โดยเฉพาะไฟทางการเมืองที่กำลังโหมกระหน่ำอย่างร้อนแรงอยู่ก็ตาม
ต่างชาติมาไทยต้องตรวจเข้มข้น
หลังจาก ศบค. เห็นชอบการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวแบบเทส แอนด์ โก อีกครั้ง แน่นอนว่าการเข้ามารอบนี้เต็มไปด้วยความหวังของการฟื้นการท่องเที่ยวให้กลับมาโดยเร็ว ซึ่งในการเปิดรับนั้น ได้กำหนดแนวทางเอาไว้ค่อนข้างละเอียด “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ขยายความว่า รูปแบบของเทสต์ แอนด์ โก ครั้งนี้ ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวเสนอ ศบค.ไป ได้กำหนดให้เริ่มลงทะเบียนอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 65 โดยอนุญาตเข้ามาได้ทุกประเทศ แต่ต้องมีการปรับการตรวจหาเชื้อโดยวิธี RT-PCR รวม 2 ครั้ง คือวันแรกที่เข้ามาถึง และในวันที่ 5 ซึ่งคนที่เดินทางเข้ามาต้องมีหลักฐานการจองโรงแรมที่พักในวันแรก และในวันที่ 5 โดยเป็นโรงแรมที่มีโรงพยาบาลคู่ปฏิบัติการ (SHA++, AQ, OQ หรือ AHQ) และยังต้องมีหลักฐานการชำระเงินการตรวจหาเชื้อจำนวน 2 ครั้งด้วย
ทั้งนี้ยังได้มีการจัดระบบการตรวจสอบ และการกำกับการเข้าที่พัก และตรวจหาเชื้อให้ครบทั้ง 2 ครั้ง โดยต้องอยู่รอในที่พัก หรือสถานที่ที่กำหนดจนได้รับผลการตรวจ พร้อมกับกำหนดระบบประกันสังคมให้ชัดเจน ส่วนกรณีประกันไม่ครอบคลุม ผู้เดินทางจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของโฮสพิเทล หรือ โฮเทล ไอโซเลชั่นเอง ส่วนในกรณีที่มี การระบาดมากขึ้น หรือสถานการณ์เปลี่ยนแปลง ก็อาจต้องปรับมาใช้ระบบพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว หรือ แซนด์บ็อกซ์ แทนรูปแบบ เทสต์ แอนด์ โก ซึ่งทุกหน่วยงานจะติดตามสถานการณ์ต่อไป
ส่วนเงื่อนไขการเดินทางอื่น ๆ เช่น การประกันภัย ยังคงกำหนดวงเงินคุ้มครองไม่น้อยกว่า 5 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ ยกเว้นผู้มีสิทธิรักษาพยาบาลของไทย หรือนายจ้างรับผิดชอบ และต้องมีการแสดงผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง ยกเว้นกรณีที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ ที่เดินทางมาพร้อมกับผู้ปกครองที่มีผลตรวจแจ้งเอาไว้ และสิ่งที่สำคัญสำหรับการเดินทางเข้ามาในประเทศไทย จะต้องแสดงรายละเอียดของการได้รับวัคซีนครบตามกำหนด หรือแสดงประวัติการติดเชื้อ และการตรวจหาเชื้อให้ชัดเจนมาแสดง พร้อมกับให้โหลดแอพพลิเคชั่นหมอชนะ 100% ด้วยเช่นกัน เพื่อติดตามตัวได้
ขณะที่ในขั้นตอนการอนุมัติการเดินทางเข้าประเทศในระบบเทสต์ แอนด์ โก ในระบบไทยแลนด์ พาส สามารถตรวจสอบการจองค่าที่พัก และการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR จำนวน 2 ครั้งได้จากการบูรณาการทุกระบบเข้าด้วยกัน ซึ่งระบบจะมีการอนุมัติเร็วขึ้น และทุกหน่วยงานมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการดำเนินงาน พร้อมทั้งสามารถรายงานผลใน Dashboard จากข้อมูลต่าง ๆ ได้ ขณะที่การกำกับและควบคุมการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค โรงแรมต่าง ๆ ต้องกำกับติดตามการเข้าพัก และการตรวจ RT-PCR ของผู้เดินทางในวันแรก และวันที่ 5 พร้อมทั้งรายงานผลในระบบ ซึ่งโรงแรมที่พักในวันแรก และวันที่ 5 สามารถเป็นต่างโรงแรมต่างพื้นที่ได้ เชื่อว่าในไตรมาสแรกนี้ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ กว่า 3.38 แสนคน สร้างรายได้กว่า 2.6 หมื่นล้านบาท.
ที่มา: นสพ.เดลินิวส์