CPF ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางการดำเนินธุรกิจเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ในการสัมมนาออนไลน์ “โลกร้อน ….ธุรกิจนำเข้า-ส่งออกร้อนตาม?” โดยมีตัวแทนจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ และภาคเอกชน CPF โดยคุณจีระณี จันทร์รุ่งอุทัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สำนักพัฒนาความยั่งยืนองค์กร ร่วมด้วย จัดโดยสมาคมผู้นำเข้าและผู้ส่งออกระดับมาตรฐานเออีโอ (Thai AEO Importer & Exporter Association : TAA)
CPF นำเสนอข้อมูลการดำเนินธุรกิจเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ว่า บริษัทฯ ได้ประกาศแผนปฏิบัติการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการมุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และได้ประกาศเป้าหมายกลยุทธ์ความยั่งยืน CPF 2030 Sustainability in Action รับทศวรรษใหม่ (ปี 2021-2030) ซึ่งจะตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ได้ครบทั้ง 17 เป้าหมาย และภายใต้กลยุทธ์ใหม่ได้ให้ความสำคัญกับการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สอดรับตามเป้าหมาย SDGs ถึง 8 ข้อ
CPF มุ่งมั่นมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่คุณค่า ล่าสุด ในปี 2565 นี้ บริษัทฯ มีเป้าหมายยกเลิกใช้ถ่านหินสำหรับกิจการในไทย ภายใต้การดำเนินโครงการ “CPF Coal Free 2022” ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 70,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ และส่งเสริมให้ฟาร์มและโรงงานเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ใช้พลังงานหมุนเวียน ทั้งในรูปแบบของไบโอแก๊ส ไบโอแมส และโซลาร์เซลล์เพื่อลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยปัจจุบันสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 26% ของการใช้พลังงานทั้งหมด เช่น การใช้พลังงานชีวภาพหรือไบโอแก๊สในฟาร์มสุกรและคอมเพล็กซ์ไก่ไข่ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ รวม 490,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ขณะที่โครงการคอนแทรคฟาร์มมิ่งของเกษตรกร 3,900 ราย ที่ใช้พลังงานจากก๊าซชีวภาพ (ไบโอแก๊ส) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 168,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี
บริษัทฯ ยังได้ประกาศความมุ่งมั่นว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่าเป็นศูนย์ (Biodiversity and Zero Deforestation) จัดหาวัตถุดิบทางการเกษตรที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับข้อมูลได้อย่างโปร่งใส นำระบบอัตโนมมัติ (Automation) Smart Farm และ Smart Factory มาใช้เพิ่มประสิทธิการผลิต รวมไปถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
สำหรับการดำเนินกิจกรรมและโครงการด้านสิ่งแวดล้อมที่มีส่วนช่วยลดก๊าซเรือนกระจก CPF มีโครงการปลูกป่าต้นน้ำและป่าชายเลน ทั้งโครงการ ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง จ.ลพบุรี และ โครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน ที่ตั้งเป้าหมายภายในปี 2030 สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 200,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์จากการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าในพื้นที่ยุทธศาสตร์และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในสถานประกอบการ นอกจากนี้ บริษัทฯ จัดกิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานในองค์กร “Sustainability in Action ยั่งยืน ได้ด้วยมือเรา” กับ 2 กิจกรรมคือ “กล้าจากป่า พนาในเมือง” แจกต้นไม้ให้พนักงานไปปลูกที่บ้าน และกิจกรรม “กินเกลี้ยง เลี้ยงโลก” โพสต์ภาพถ่ายบริโภคไม่มีอาหารเหลือทิ้ง ช่วยรณรงค์ใม่ให้เกิดขยะอาหาร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาหตุของปัญหาก๊าซเรือนกระจก
เวทีสัมมนาออนไลน์ครั้งนี้ คุณอโณทัย สังข์ทอง ผู้อำนวยการ สำนักส่งเสริมตลาดคาร์บอนและนวัตกรรม อบก. ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความสำคัญของคาร์บอนเครดิต รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลผลการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ที่เรียกร้องให้แต่ละประเทศมุ่งมั่นสู่ Net Zero ซึ่งปัจจุบันมี 81 ประเทศทั่วโลกที่ประกาศเป้าหมาย Net-zero emissions ในปี 2050 แล้ว พร้อมทั้งให้คำแนะนำว่าภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะเป็นเรื่องที่นักลงทุน หน่วยงานที่กำกับดูแล ให้ความสนใจและตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์สีเขียว ขณะที่ คุณสุกัญญา ใจชื่น คณะอนุกรรมการกฎระเบียบการค้าและพหุภาคี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ นโยบายปฏิรูปสีเขียวของสหภาพยุโรป (European Green Deal) อาทิ การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานที่ปลอดการทำลายป่า Farm to Fork Strategy ยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานอาหาร ตั้งแต่กระบวนการผลิต การแปรรูป การตลาด ไปจนถึงผู้บริโภค เช่น การลดขยะอาหาร 50% ภายในปี 2573 เป็นต้น
Cr.PR CPF