ภูเก็ต เปิดโครงการคนภูเก็ตปลูกผักกินเองเพื่อส่งเสริมการเกษตร สร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ส่งเสริมการผลิตพืชปลอดภัยบริโภคในครัวเรือน ลดรายจ่าย และต่อยอดเป็นอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ ให้แก่เกษตรกรและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019

วันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ห้องประชุมมุขหน้า ชั้น 4 ศาลากลางหลังใหม่ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เวลา 14.30 น. คุณณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยคุณพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต/คุณสุบรรณ์ รักษ์ทอง เกษตรจังหวัดภูเก็ต/ คุณเชาว์ เรืองสวัสดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บจก. ซีพีเอฟ เทรดดิ้ง บริษัทในเครือ CP Group และเครือข่ายเกษตรร่วมแถลงข่าวโครงการคนภูเก็ตปลูกผักกินเอง เพื่อส่งเสริมการเกษตร สร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ส่งเสริมการผลิตพืชปลอดภัยบริโภคในครัวเรือน ลดรายจ่าย และต่อยอดเป็นอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ ให้แก่เกษตรกรและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019

คุณณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนทุกภาคส่วน จังหวัดภูเก็ต ได้เล็งเห็นความสำคัญการประยุกต์ใช้ศาสตร์พระราชา วางรากฐานความเป็นอยู่ของประชาชนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประชาชน ให้สามารถปรับตัวได้ต่อภาวะวิกฤตต่าง ๆ และสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งได้มอบหมายสำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ต ดำเนินโครงการคนภูเก็ตปลูกผักกินเองเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางด้านการเกษตร สร้างความมั่นคงทางด้านอาหารในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อส่งเสริมการผลิตพืชปลอดภัยบริโภคในครัวเรือน ลดรายจ่ายและต่อยอดเป็นอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ ให้แก่เกษตรกรและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

คุณสุบรรณ์ รักษ์ทอง เกษตรจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มีผู้ติดเชื้อกระจายไปหลายจังหวัด และจังหวัดภูเก็ตเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดในระดับ

สูงกระจายทุกอำเภอในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ภาคการท่องเที่ยว ภาคการเกษตร ภาคธุรกิจและแรงงานที่เกี่ยวข้องในวงกว้าง โดยจังหวัดภูเก็ต ได้มีมาตรการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และลดผลกระทบของประชาชนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งต้องปรับตัวจากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยวกระแสหลักทางเดียวมาสู่การสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับชุมชน ท้องถิ่น แล้วเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยว กระแสหลักในระยะยาว ประกอบกับจังหวัดภูเก็ตได้รับการประกาศจากยูเนสโก (Unesco) ให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหาร หรือ City of Gastronomy จึงได้มีการฟื้นฟูภาคเกษตรกรรมในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งเกาะแก่งที่มีประชาชนอาศัยอยู่ เพื่อส่งเสริม ให้ประชาชนดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้มีความมั่นคงด้านอาหาร ลดรายจ่าย สร้างรายได้ พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งมีแหล่งอาหารของชุมชนและท้องถิ่นในระยะยาว เป็นการเตรียมความพร้อมช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ต ได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์จากบริษัทเจียไต๋ จำกัด เพื่อดำเนินโครงการคนภูเก็ตปลูกผักกินเอง ดังนี้ เมล็ดพันธุ์คะน้ายอด ขนาด 10 กรัม จำนวน 6,000 ซอง เมล็ดพันธุ์ผักบุ้งจีนเรียวไผ่ ขนาด 20 กรัม จำนวน 6,000 ซองเมล็ดพันธุ์ผักชี ขนาด 10 กรัม จำนวน 6,000 ซอง เมล็ดพันธุ์กะเพรา ขนาด 1 กรัม จำนวน 6,000 ซอง เมล็ดพันธุ์พริกขี้หนู ขนาด 0.5 กรัม จำนวน 6,000 ซอง

การดำเนินโครงการครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจาก ศพก.หลัก ศพก.เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียน วัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการร่วมดำเนินการให้เกิดความสำเร็จ

คุณเชาว์ เรืองสวัสดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทซีพีเอฟ เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า บริษัทเจียไต๋ จำกัด รู้สึกมีความภาคภูมิใจในการมีส่วนร่วมสืบสาน รักษา และต่อยอด รวมทั้งส่งต่อความรู้จากพระราชา สู่ชุมชน ในปีที่ผ่านมา บริษัทได้จัดทำโครงการปันอิ่ม ร้อยเรียงใจ สู้ภัยโควิด – 19 ซึ่งเป็นโครงการตามภารกิจ “ปันน้ำใจ สู่ชุมชน” โดยส่งมอบเมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัวให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด – 19 ดำเนินการในหลายพื้นที่ อาทิ เช่น จุดแจกชุมชนวัดพุทธปัญญา จังหวัดนนทบุรี จุดแจกสำนักงานเขตหนองจอก จุดแจกชุมชนดอนเมือง และสำนักงานเขตพระโขนง เป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้ปลูกผักสวนครัวไว้รับประทาน นอกจากจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังช่วยให้สามารถเข้าถึงแหล่งอาหารที่สด สะอาด ปลอดภัย และสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารในภาวะวิกฤตได้ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว รวมทั้งเป็นการปลูกฝังเยาวชน สมาชิกในครัวเรือน ได้เข้าใจ เข้าถึงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปรับใช้ในการพัฒนาตนเองอย่างสร้างสรรค์