ความเหงาทำให้คนป่วยได้: นักวิจัยฮาวาร์ดพบสาเหตุทำให้คนเหงา พร้อมวิธีแก้เหงา

โดยปกติอาการเหงาก็ทำให้สุขภาพจิตของคนเหงาเปราะบางตามไปด้วย แต่โควิดระบาดยิ่งทำให้อาการเหงาเพิ่มมากขึ้น เพิ่มชนิดที่ว่ามีการแต่งตั้งรัฐมนตรีเพื่อดูแลเรื่องเหงาที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายได้เลย ในอังกฤษมีการแต่งตั้งรัฐมนตรีมาดูแลเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2018 ก่อนจะมีโควิดระบาดเสียอีก ในญี่ปุ่นก็มีการแต่งตั้งรัฐมนตรีเมื่อปี 2021 นี้เอง

lonely, alone lonelinessPhoto by karolina skiścim on Unsplash

ความเหงาทำให้คนป่วย

ความเหงาเป็นความรู้สึกที่ใครๆ ก็ไม่ต้องการมีและยังส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพกายด้วย ความเหงาทำให้คนป่วย โดยเฉพาะผู้คนที่มีความรู้สึกเหงาเป็นเวลานานๆ จะยิ่งเจ็บปวดจากความเศร้า ความกังวลและทำให้การนอนหลับของคนเหงามีปัญหาได้ มันไม่ได้ทำให้จิตใจเจ็บปวดจากอาการเหงาเท่านั้น แต่ร่างกายของคนเหงาก็จะป่วยตามไปด้วย

ความเหงาส่งผลต่อจิตใจไม่พอ ส่งผลต่อร่างกายด้วย ข้อมูลจาก Psychology Today ระบุว่า ความเหงามันไปเพิ่มความเสี่ยง ทำให้คนเหงาเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้ (stroke) เพิ่มความเสี่ยงหัวใจวาย หัวใจล้มเหลว เสี่ยงต่อโรคอ้วน ความเหงาส่งผลให้เกิดอาการป่วยอย่างฉับพลันและป่วยเรื้อรังได้ด้วย ความเหงาเป็นสิ่งที่ผู้คนไม่ต้องการและยังมีผู้คนอีกมากที่ได้รับความเสี่ยงจากอาการป่วยทางกายเพราะความเหงา

นอกจากนี้ จากข้อมูลพบว่าคนส่วนใหญ่จะมีความสุขหรือสนุกกับช่วงเวลาที่อยู่ลำพังบ้าง แต่คนที่รู้สึกมีความสุขกับช่วงเวลานี้ก็เพราะว่าพวกเขารับรู้สภาพแวดล้อมของตัวเองดี เขารู้ว่าสภาพแวดล้อมของตัวเองนั้นมีความมั่นคง แม้จะมีช่วงเวลาอยู่คนเดียวบ้าง แต่ก็รู้ตัวว่ายังมีมิตรภาพ มีครอบครัวเกี่ยวพันกับตัวเองอยู่ แต่สำหรับคนที่ไม่ได้มีความสุขกับช่วงเวลาที่ได้อยู่คนเดียวลำพัง หรือไม่ค่อยมีประสบการณ์เชิงบวกเวลาอยู่ลำพัง ก็เพราะว่ามันยิ่งทำให้เขาเหงากว่าเดิมหรือเพราะว่าเขาไม่มีใครที่รายล้อมเขาอยู่จริงๆ นั่นเอง

สารพัดปัจจัย ทำให้คนเหงา เหงาหนักกว่าเดิม

มันมีหลายเหตุผลที่ทำให้คนอาจจะเริ่มรู้สึกเหงาได้ มันมีทั้งสาเหตุที่มาจากโซเชียลมีเดีย มีทั้งความสามารถในการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนแบบเผชิญหน้ากันน้อยลงเพราะโควิดระบาด รวมถึงการไม่มีเวลาพบเจอกับเพื่อนฝูงเพราะงานยุ่งก็รวมอยู่ในเหตุผลนี้ด้วย และยังมีความกังวลที่จะพบปะผู้คนทั้งการกลัวปฏิเสธไปจนถึงคนที่มีลักษณะ introvert ด้วย

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Harvard, มหาวิทยาลัย Stanford, มหาวิทยาลัย Curtin และมหาวิทยาลัย Western Australia พยายามจะหาคำตอบ พยายามจะทำความเข้าใจการจัดการกับความเหงาของกลุ่มคนเหงา ดังนั้น จึงทำแบบสอบถามขึ้นมาเพื่อทดสอบกลุ่มตัวอย่างจำนวน 501 คน ขณะที่ Psychology Today ก็ทำแบบสำรวจเช่นกัน มีจำนวนกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 5 แสนคน ทำให้สรุปปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงทำให้เหงายิ่งขึ้น ดังนี้

  • ครุ่นคิด คำนึงถึงบางอย่างมากเกินไป
  • การมุ่งตำหนิแต่ผู้อื่นและตัวเองโดยตรงมากไป
  • การเอาแต่หมกมุ่น คิดถึงหรือจินตนาการแต่สถานการณ์ที่เลวร้าย หายนะตลอดเวลา
  • การพยายามสะกดกลั้นความรู้สึกที่เป็นลบเอาไว้ ไม่ระบายออกมา
  • การพยายามถอนตัวออกจากการติดต่อกับสังคมทั่วไป หรือการหลีกเลี่ยงที่จะพบเจอผู้อื่น
  • การปฏิเสธความช่วยเหลือทางด้านอารมณ์ หมายถึงต่อให้ใครยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือก็พยายามปฏิเสธเขา เป็นต้น
alone, lonely, loneliness
ภาพจาก Shutterstock

Self-reflection คือการสะท้อนตัวเอง ช่วยคนเหงา ลดความเหงาลงได้

จากรายงานระบุว่า ผู้คนอาจจะคิดว่า คนที่เหงาต่างก็รู้ว่าจะแก้ปัญหาที่ทำให้เกิดความเหงาอย่างไร แต่จริงๆ แล้วการเอาตัวเองออกมาจากอารมณ์ติดลบเหล่านี้ ไม่สามารถลงมือทำได้ง่ายขนาดนั้น นักวิจัยพบว่า สิ่งที่จะช่วยทำให้คนเหงาไม่เหงาหนักกว่าเดิม หรือทำให้สามารถเผชิญกับความเหงาได้ก็คือการสะท้อนตัวเอง

การทำ Self-reflection หรือการสะท้อนตัวเอง ช่วยให้คนเหงาต่อสู้กับความเหงาได้ แม้ว่ามันจะเป็นหนทางที่ยากแสนยากที่จะทำ แต่มันเป็นไปได้ที่จะทำให้คนเหงารับมือกับความเหงาได้ นี่คือสิ่งแรกที่จำเป็นต้องทำเพื่อที่จะจัดการกับความรู้สึกลบๆ อารมณ์ลบๆ ที่เกิดขึ้นได้

การสะท้อนตัวเองคืออะไร? ทำอย่างไรได้บ้าง? เอาเข้าจริงแล้ว ถ้าอธิบายอย่างง่ายที่สุด การสะท้อนตัวเองก็คือการให้คำ feedback กับตัวเอง เป็นการทบทวนตัวเอง การสะท้อนตัวเองจะต้องเป็นการให้เวลาตัวเองในการครุ่นคิดถึงพฤติกรรมตัวเอง ความคิด ทัศนคติ แรงจูงใจและแรงปรารถนาของตัวเอง ถือเป็นกระบวนการทำความเข้าใจตัวเองอย่างลึกซึ้ง เพื่อขุดสาเหตุให้เจอว่ามีสาเหตุใดซ่อนอยู่เบื้องหลัง

การสะท้อนตัวเองสามารถทำให้วิเคราะห์ชีวิตของตัวเองได้ทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค เราจะสามารถประเมินเส้นทางชีวิตของเราได้ง่ายขึ้น การสะท้อนตัวเองไม่เพียงแก้ปัญหาเรื่องความเหงาหรือความรู้สึกลบที่เผชิญอยู่แต่ยังช่วยแก้ปัญหาหลายมิติภายใต้พฤติกรรมที่ขับเคลื่อนไปได้ด้วย

ที่มา Brand Inside