คลื่นดิจิทัลลูกที่สาม คำว่า “เมตาเวิร์ส” กำลังพัดเข้ามากระทบพฤติกรรมและความเป็นอยู่ของผู้คนในทุกกลุ่มและทั้งโลก ถึงเวลาที่จะต้องเรียนรู้และเตรียมพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
โลกกำลังถูกพัดด้วยคลื่นดิจิทัลลูกที่สาม และคำว่า “เมตาเวิร์ส” เป็นอีกหนึ่งคำใหม่ ที่ได้ถูกนำมาใช้เป็นตัวแทนของการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลใหม่ ในปี ค.ศ.2021 เป็นต้นมา
คลื่นดิจิทัลลูกแรก เป็นยุคของอินเทอร์เน็ต ที่มีการเริ่มต้นใช้งานในเชิงพาณิชย์ครั้งแรก ในปี ค.ศ.1995 โดยมี “คอมพิวเตอร์” เป็นอุปกรณ์พื้นฐานในการใช้งานเชื่อมต่อ
คลื่นดิจิทัลลูกที่สอง เป็นยุคของโซเชียลมีเดีย ที่เครือข่ายสังคมออนไลน์หลากหลายค่ายเกิดขึ้น ในปี ค.ศ.2005 โดยมี “สมาร์ตโฟน” เป็นอุปกรณ์พื้นฐานในการใช้งานเชื่อมต่อ
เมตาเวิร์ส กำลังเข้ามาเป็นเครือข่ายที่จะพาผู้ใช้งานเข้าสู่โลกความจริงเสมือน (Virtual Reality) และโลกความจริงเสริม (Augmented Reality) ได้ตามแต่ที่ผู้ใช้ต้องการ
ราชบัณฑิตฯ ได้อธิบายขยายความคำสองคำนี้ โดยคำว่า Virtual Reality เป็นสภาวะจำลองที่สร้างขึ้นด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อให้เหมือนสภาวะจริง ซึ่งผู้ใช้สามารถมีปฏิกิริยาโต้ตอบกับสภาวะจำลองนี้ได้ เช่น การจำลองสภาพเรือนไทยเพื่อให้ผู้ชมสามารถเข้าไปดูห้องต่าง ๆ ภายในได้เสมือนกับเข้าไปดูจริง ๆ
ส่วนคำว่า Augmented Reality เป็นสภาวะจริงที่แต่งเติมขึ้นด้วยเทคโนโลยี เช่น ผู้ใช้กำลังดูรถยนต์อยู่และต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับรถยนต์ ก็อาจจะใช้แว่นตาชนิดพิเศษซึ่งสามารถแสดงข้อมูลรถยนต์ซ้อนลงบนภาพรถยนต์ที่กำลังมองอยู่ได้
ทั้งสองโลกในเมตาเวิร์ส จำเป็นต้องอาศัยอุปกรณ์พื้นฐานในการใช้งานเชื่อมต่อชนิดใหม่ เช่น อุปกรณ์สวมศีรษะ แว่นหรือเลนส์สร้างภาพเคลื่อนไหว มิใช่แค่คอมพิวเตอร์ ที่ใช้กันในยุคอินเทอร์เน็ต และสมาร์ตโฟน ที่ใช้กันในยุคโซเชียลมีเดีย
การประยุกต์ใช้เมตาเวิร์สที่เริ่มเห็นกันในปัจจุบัน เช่น เล่นเกม ชมคอนเสิร์ต ปาร์ตี้สังสรรค์ เล่าเรียน ประชุมงาน ออกกำลังกาย ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นการใช้เพื่อความบันเทิง สันทนาการ และการทำงาน โดยเจาะไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ใช้ทั่วไปซึ่งมีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีอยู่แล้ว
การใช้เมตาเวิร์ส มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ขึ้นอยู่กับมนุษย์ว่าจะใช้ไปในทางสร้างสรรค์จรรโลงสังคม หรือไปในทางเสื่อมทรามและบ่อนทำลาย (การพนัน ล่อลวง สื่อลามก ฟอกเงิน ฯลฯ เป็นด้านมืดทึบของเมตาเวิร์ส)
ถ้าสามารถขยายโอกาสการใช้เมตาเวิร์สในเชิงสังคมกับกลุ่มเป้าหมายที่ด้อยโอกาส ก็จะเป็นประโยชน์ได้ไม่น้อย
เนื่องจากเมตาเวิร์ส สามารถช่วยจำลองให้บุคคลไปอยู่ในสถานที่ต่างๆ ได้ โดยอาศัยการสวมใส่อุปกรณ์ที่สร้างการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสในรูปแบบของภาพและเสียง และมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่อยู่ในเมตาเวิร์สเดียวกันผ่านการเชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จึงเป็นการเปิดโอกาสให้คนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย และผู้สูงอายุที่อยู่ติดบ้านและติดเตียง แต่ประสาทสัมผัสทั้งห้ายังเป็นปกติ สามารถใช้ประโยชน์จากเมตาเวิร์ส มาทดแทนข้อจำกัดในการทำกิจกรรมที่ต้องเดินทางหรือต้องออกจากบ้าน
จากรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทย โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 ระบุว่า จำนวนของคนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกายในประเทศไทย มีอยู่ราว 1 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 50 ของคนพิการทั้งหมด
และในปี พ.ศ.2565 นี้ ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) มีจำนวนผู้สูงอายุราว 13.2 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งหมายถึง ประชากร 1 ใน 5 คือผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุกลุ่มที่เกษียณจากการทำงาน มีรายรับอยู่ในช่วง 1-3 แสนบาทต่อเดือน เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง มีอยู่ราวร้อยละ 18 ของประชากรผู้สูงอายุทั้งหมด ขณะที่ข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าในปี 2562 ตลาดของสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุ มีมูลค่า 1.07 แสนล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าสินค้าเกือบ 7 หมื่นล้านบาท และมูลค่าบริการกว่า 3 หมื่นล้านบาท โดยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 5-10 ต่อปี
นับเป็นกลุ่มเป้าหมายขนาดใหญ่ ที่ธุรกิจสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อตอบสนองความต้องการและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของผู้คนในกลุ่มดังกล่าว
ตัวอย่างบริการที่ใช้ประโยชน์เมตาเวิร์สในเชิงสังคม ได้แก่ บริการนำเที่ยวในกลุ่มผู้สูงอายุรวมทั้งคนพิการทางการเคลื่อนไหว ไปยังสถานที่และประเทศต่างๆ ในรูปแบบ “เมตาทัวร์” เสมือนจริง ทั้งในแบบส่วนบุคคลหรือแบบเป็นหมู่คณะ บริการตรวจสุขภาพและให้คำปรึกษาทางการแพทย์ ในรูปแบบ “เมตาแคร์” โดยไม่ต้องเดินทางมายังโรงพยาบาล หรือกระทั่งบริการเลือกซื้อสินค้าและจำลองใช้สินค้าโดยไม่ต้องไปที่ร้านค้า ในรูปแบบ “เมตาชอปปิง” พร้อมส่งสินค้ายังจุดหมายที่ระบุ ทั้งให้กับตนเอง หรือให้กับญาติๆ ที่อยู่ห่างไกล
คลื่นดิจิทัลลูกที่สาม กำลังพัดเข้ามากระทบพฤติกรรมและความเป็นอยู่ของผู้คนในทุกกลุ่มและทั้งโลก ถึงเวลาที่จะต้องเรียนรู้และเตรียมพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
เขียนโดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ