“ตู้กดซื้อสินค้าอัตโนมัติ” ญี่ปุ่น ในวิถีใหม่ รับชีวิตเปลี่ยนจากโควิด

ที่มาภาพ: https://livejapan.com/en/in-tokyo/in-pref-tokyo/in-shibuya/article-a0000372/

รายงานข่าวช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาอาจจะทำให้หลายคนที่คิดถึงและอยากไปเยือนญี่ปุ่นเริ่มมีความหวังขึ้นมาบ้าง หลังจากนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ให้สัมภาษณ์สื่อระหว่างการไปตรวจพื้นที่คัดกรองและกักตัวผู้ติดเชื้อไวรัส ที่สนามบินนานาชาติฮาเนดะในวันเสาร์ (12 ก.พ.)ที่ผ่านมาว่า มีแผนที่จะพิจารณาผ่อนคลายข้อจำกัดเพื่อเปิดประเทศ หลังจากที่ห้ามชาวต่างชาติเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2021 เมื่อองค์การอนามัยโลก (World Health Organization — WHO) ประกาศว่า ไวรัสกลายพันธุ์สายใหม่โอมิครอนเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล ซึ่งข้อห้ามนี้มีผลไปจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ญี่ปุ่นจะผ่อนปรนจำนวนผู้ที่เดินทางเข้าประเทศจาก 3,500 รายเป็น 5,000 รายต่อวัน รวมทั้งลดระยะเวลากักตัวลงเมื่อเดินทางมาถึงเป็นน้อยกว่า 7 วันหากมีผลตรวจโควิดเป็นลบและได้รับวัคซีนเข็มที่ 3

ญี่ปุ่นมีหลายอย่างที่นักท่องเที่ยวต่างชาติชื่นชอบ รวมทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทย ไม่ว่าจะเป็นอาหารประเภทปลาดิบ อุด้ง ราเมน เค้ก ผลไม้ ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า เกม รองเท้าผ้าใบ สถานที่ท่องเที่ยวที่หลายคนอาจจะนึกถึงออนเซน หลายคนอาจจะนึกถึงฟูจิชั้น 5 และถ้าพูดถึงแหล่งชอปปิง หลายคนอาจจะนึกถึงชิบุยา ฮาราจุกุ และหลายคนอาจจะนึกถึงเอาต์เลต แหล่งรวมสินค้าแบรนด์เนม

แต่ก็อีกหลายคนนึกถึงตู้กดซื้อสินค้าอัตโนมัติ (vending machine) ที่มีสารพัดสิ่งให้เลือก ตั้งแต่กาแฟ เครื่องดื่มร้อนเย็น บุหรี่ ชา กาแฟ ขนม ซุป เบียร์ สาเก ไปจนถึงของใช้ ของเล่นเด็ก

ที่มาภาพ: https://japan-amazing-culture.com/amazing-japanese-vending-machine/

ตู้กดอัตโนมัติมีชื่อในภาษาญี่ปุ่นว่า jidohanbaiki มีจำนวน 5.6 ล้านตู้ หรือมีสัดส่วนประมาณ 1 ตู้ต่อประชากร 23 คน ในปี 2000 จากข้อมูลของ Japan Vending System Manufacturers Association ส่วนปี 2020 ลดลงมาที่ราวกว่า 4 ล้านตู้ แต่ญี่ปุ่นก็เป็นประเทศที่มีความหนาแน่นของตู้กดอัตโนมัติต่อประชากรมากที่สุดในโลก และหาง่าย เดินไปที่ไหนก็เจอ เนื่องจากมีทั้งในเมืองใหญ่ ชานเมือง และพื้นที่ชนบท และแทบไม่มีตู้ไหนเสียหรือใช้งานไม่ได้

ข้อมูลในรายงานของ Japan Vending System Manufacturers Association ระบุว่า ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติเริ่มกระจายในญี่ปุ่นหลังจากโคคา-โคล่า เข้ามาทำตลาดในปี 1962 แต่ที่ต่างจากประเทศอื่น ๆ ซึ่งตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติส่วนใหญ่จะอยู่ในตัวอาคาร คือ ในญี่ปุ่นสามารถวางตู้ไว้ข้างนอกได้ เพราะอัตราการเกิดอาชญากรรมที่ค่อนข้างต่ำ

ตัวแทนจาก Japan Vending System Manufacturers Association กล่าวว่า “ญี่ปุ่นยังมีความก้าวหน้าที่ไม่เหมือนใคร” ในการเสิร์ฟอาหารร้อนและเย็นจากตู้

ตู้กดส่วนใหญ่ขายเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้ เครื่องดื่มชูกำลัง ชา และกาแฟในราคาที่เหมาะสม 100 ถึง 200 เยน รวมทั้งมีเครื่องดื่มร้อนและเย็น ตู้จำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และบุหรี่นั้นหายาก นอกจากนี้ยังมีตู้กดอัตโนมัติที่ขายสินค้าอื่นๆ เช่น ไอศกรีม ข้าว กล้องถ่ายรูปแบบใช้แล้วทิ้ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แซนด์วิช แกงกระหรี่กระป๋อง พิซซ่า และแม้แต่ omikuji กระดาษเสี่ยงเซียมซีจากศาลเจ้าและวัด

ตู้กดสินค้าอัตโนมัติรับชำระเงินด้วยเหรียญ 10, 50, 100 และ 500 เยน รวมถึงธนบัตร 1,000 เยน และมีบางตู้รับบัตร

ตู้กดสินค้าอัตโนมัติของญี่ปุ่นมีพัฒนาการมาเป็นระยะ สินค้าในตู้มีให้ประหลาดใจและกล่าวถึงเสมอ แต่ในปี 2020 ตู้กดเครื่องดื่มและอาหารมีจำนวน 2.35 ล้านตู้ ลดลง 20% จากระดับสูงสุดในปี 1985 เพราะมีร้านสะดวกซื้อและร้านขายยาเปิดมากขึ้น

แต่ตู้กดกลับมาได้รับความนิยมมากขึ้นจากที่ซาไป อีกทั้งมีสินค้าประเภทใหม่เข้ามามากขึ้นในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยมีตู้กดสินค้าชนิดใหม่ออกมาเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่ต้องปรับเปลี่ยนไปตามมาตรการเพื่อสกัดการแพร่ระบาด เริ่มจากการตู้กดสำหรับจำหน่ายหน้ากากอนามัยป้องกันโควิด ไปจนถึงตู้จำหน่ายอาหารทะเลสด ธุรกิจค้าปลีกเองหันมาใช้ตู้กดเป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้ามากขึ้น เพื่อเลี่ยงการสัมผัสโดยตรง เพราะผู้บริโภควิตกต่อการซื้อสินค้าแบบเดิม รวมไปถึงเพื่อการทำยอดขายชดเชยผลกระทบจากไวรัส

ตู้กดสินค้าอัตโนมัติที่ออกสินค้าใหม่ในช่วงโควิดระบาดมีอะไรกันบ้าง มาดูกัน

ตู้ขายเส้นหมี่อบแห้ง

ตู้กดสินค้าอัตโนมัติใหม่ที่แนะนำอยู่ที่โกเบ ในเดือนกันยายน 2021 Kenmin Foods บริษัทจากโกเบซึ่งขึ้นชื่อเรื่องเส้นหมี่ในยี่ห้อ Be-fun ได้ทดลองติดตั้งตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมงไว้ด้านหน้าอาคารสำนักงานใหญ่ในเมืองโกเบ ซึ่งในตู้บรรจุอาหารประเภทเส้นหมี่แช่แข็ง 5 แบบ ทั้งเส้นหมี่แบบอบแห้งขนาดรับประทาน 2 คน ราคา 500 เยน เส้นหมี่พร้อมกุ้งและไข่ เต้าหู้ทอดสไตล์เกาหลี ปรากฏว่าได้รับการตอบรับดีกว่าที่คาดถึง 3 เท่า ทำเงินได้ถึง 23 ล้านเยน บริษัทได้ทยอยการติดตั้งตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติออกไปในหลายพื้นที่

 

ตู้กดเส้นหมี่อบแห้ง ที่มาภาพ:https://grapee.jp/en/182471

ตู้ขายเนื้อปลาแช่แข็ง-สวิสโรลที่ซัปโปโร

ในภาคเหนือของญี่ปุ่นตู้กดสินค้าอัตโนมัติที่จำหน่ายอาหารแช่แข็งตั้งแต่ชิ้นปลาไปจนถึงสวิสโรลได้รับความนิยม และยังเป็นแหล่งรายได้ใหม่ให้กับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่ ขณะที่ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าได้โดยไม่ต้องเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19

Chibasuisan ผู้ค้าส่งปลาให้กับโรงเรียนและสถานรับเลี้ยงเด็กในเขตที่อยู่อาศัยของซัปโปโร ในทางตอนเหนือสุดของฮอกไกโด ได้ติดตั้งตู้จำหน่ายปลาอัตโนมัติ เพื่อจำหน่ายเนื้อปลาที่แล่และเลาะก้างแล้ว เช่น ปลาแซลมอนและปลาแมกเคอเรล ในราคาตั้งแต่ 300 เยน (2.70 ดอลลาร์) ถึง 1,500 เยน เนื่องจากโรงพยาบาลและสถานรับเลี้ยงเด็กที่บริษัทเคยจัดส่งปลาเพื่อใช้เป็นอาหารกลางวันให้เด็กได้ปิดบริการชั่วคราวจากการระบาดใหญ่

ตู้จำหน่ายเนื้อปลา ของ Chibasuisan ในซัปโปโร ที่มาภาพ: https://english.kyodonews.net/news/2021/10/43464c485ff5-feature-variety-of-frozen-food-vending-machines-proving-a-hit-amid-pandemic.html

บริษัทขนมและของขบเคี้ยว Climb Inc. ที่อยู่ในซัปโปโรเช่นกัน ได้ติดตั้งตู้กดอัตโนมัติเพื่อจำหน่ายเค้กแช่แข็งหลากหลายชนิด เช่น สวิสโรล ที่สามารถซื้อได้ในราคา 500 เยน ทำให้มียอดขายจากตู้คิดเป็น 1 ใน 4 ของยอดขายรวมของบริษัท

ส่วนในเมืองโอตารุของฮอกไกโด สามารถหาซื้อเนื้อแช่แข็งได้ประมาณ 40 ชนิดในตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติที่โรงงานของ Itoshoji โดยที่เนื้อแกะที่หั่นเพื่อทำบาร์บีคิวสูตรพิเศษของท้องถิ่นได้รับความนิยมมากที่สุด

จากฮอกไกโดข้ามมาที่ตัวเมืองนาโกยาบ้าง บริษัท 3 แห่งได้ร่วมมือกันในการขายของกินของใช้และของชำ ที่มีทั้งขนมปัง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่ใกล้วันหมดอายุผ่านตู้กด โดยคิดราคาเพียง 50% ของราคาปกติ

ตู้ราเม็งแช่แข็ง

ในช่วงการระบาดหนักๆ ของโควิด ตู้กดยังเป็นแหล่งอาหารและเครื่องดื่มให้กับผู้คนในช่วงค่ำ เพราะร้านอาหารปิดเร็วขึ้น คนหันมาพึ่งอาหารแช่แข็งมากขึ้น ขณะเดียวกันร้านก็หันมาใช้ตู้กดอัตโนมัติเป็นช่องทางขายทดแทนยอดขายในร้านที่สูญเสียไป

ร้าน Ringer Hut ร้านราเม็งต้นตำหรับชื่อดัง(มีร้านในไทยด้วย)เป็นหนึ่งในร้านค้ากลุ่มแรกๆที่หันมาจำหน่ายผ่านตู้กดอัตโนมัติ โดยได้ติดตั้งแล้วกว่า 1,000 เครื่องเพื่อให้บริการลูกค้าหลังร้านปิด

ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติสีเหลืองสดใสของ Ringer Hut ในโตเกียวจำหน่ายชุดอาหารแช่แข็ง 6 ประเภทที่มีตราสินค้าของร้าน นางาซากิจัมปงราคา 500 เยน (4.33 เหรียญสหรัฐฯ) พร้อมรับประทานใน 2 นาทีหลังจากเติมส่วนผสมในน้ำเดือด

ตู้จำหน่ายนาวาซากิจัมปง Ringer Hut ที่มาภาพ: https://mainichi.jp/english/articles/20220114/p2a/00m/0bu/021000c

ร้าน Ringer Hut เคยเปิดตลอดเวลาหรือจนถึง 01.00 น. แต่การระบาดของโรคโคโรนาไวรัสทำให้ต้องเลื่อนเวลาปิดเป็น 23.00 น. รายได้ในรอบปีบัญชีสิ้นสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ลดลง 28%

ก่อนการระบาดใหญ่ Ringer Hut มีจำหน่ายเมนูแช่แข็งอยู่แล้ว แต่หลังจากวางตู้กดสินค้าอัตโนมัติใน 5 จุด ยอดขายอาหารแช่แข็งในเดือนธันวาคมเพิ่มขึ้น 2.5 เท่าเมื่อเทียบกับเดือนกันยายน

ด้าน Matsuya Foods Holdings ร้านข้าวหน้าเนื้อ ได้ติดตั้งตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติตามร้านในโตเกียวในเดือนพฤศจิกายน

ขณะที่ Yo-Kai Express สตาร์ตอัพจากสหรัฐฯที่เข้ามาทำตลาดในญี่ปุ่นก็ได้ติดตั้งตู้กดอัตโมัติเครื่องแรกในย่านชิบูย่า ในเดือนพฤศจิกายนเช่นเดียวกัน ตู้ของ Yo-Kai Express ใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเฉพาะ ซึ่งจะทำให้อาหารแช่แข็งร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อให้รับประทานได้ทันที ราเม็งหนึ่งชามใช้เวลาประมาณหนึ่งนาที

ในสหรัฐอเมริกา ตู้จำหน่ายสินค้าของ Yo-Kai มีวางตามอาคารสำนักงานและมหาวิทยาลัย หลังจากที่เริ่มต้นด้วยการวางตู้ที่โรงงานแห่งหนึ่งของเทสลา

นอกจากนี้ ยังมีบริษัท Maruyama Seimen ที่ขายราเม็งและเกี๊ยวซ่าแช่แข็งผ่านตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติถึง 30 แห่ง และมีแผนจะขยายเป็น 100 แห่งภายในเดือนเมษายน 2566 ซึ่งในช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่ในญี่ปุ่น ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติขายได้มากกว่า 10,000 ห่อต่อเดือน ในขณะที่ยอดขายจากการจำหน่ายแบบเดิมลดลง 1 ใน 5

ตู้กดราเม็งของ Maruyama Seimen ที่มาภาพ: https://asia.nikkei.com/Business/Food-Beverage/From-cookies-to-noodles-Japan-s-vending-machines-have-it-all

ตู้กดราเม็งแช่แข็งของ Maruyama Seimen มีชื่อว่า Noodle Tours จำหน่ายราเม็งจากร้านที่มีชื่อเสียงทั่วประเทศ

ตู้จำหน่ายสแนกแมลง

ซัปโปโรน่าจะเป็นจังหวัดที่มีการติดตั้งตู้จำหน่ายสินค้าแปลกใหม่แห่งหนึ่ง เพราะในปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีการเปิดตัวตู้ขายของขบเคี้ยว (snack) ที่ทำจากแมลง เป็นรายแรก

ตู้นี้เป็นของ ร้าน “Jihanki-Land” ตั้งอยู่ริมถนน National Route 12 ที่ Shiroishi Ward ในซัปโปโร โนบุยาสึ ฮิมุโร วัย 46 ปี กรรมการผู้จัดการ Hacienda International เปิดเผยว่า ร้านไม่เพียงนำเสนอสิ่งใหม่ แต่ยัง “มีส่วนสนับสนุนต่อสังคม” โดยมุ่งหวังที่จะแก้ปัญหาขยะอาหาร

ที่มาภาพ: https://mainichi.jp/english/articles/20220129/p2a/00m/0li/020000c

ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติทั้ง 8 เครื่องของ Jihanki-Land จำหน่าย “สินค้าที่หาซื้อได้ยากในซูเปอร์มาร์เกตหรือร้านสะดวกซื้อ” รวมถึงราเม็งแนะนำจากมิชลิน ชีสจากฮอกไกโดตะวันออก และลูกอม สินค้ามีราคาตั้งแต่ 400 เยน (ประมาณ 3.50 เหรียญ) ถึง 2,800 เยน (ประมาณ 25 เหรียญ) และมีจำหน่ายตลอดเวลา

สแนกแมลงเป็นสินค้าแนะนำของทางร้าน แมลงมีโปรตีนและสารอาหารอื่นๆ ที่เข้มข้นกว่าเนื้อสัตว์และปลา แม้สำหรับบางคนจะดูแปลกๆ

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติได้ให้ความสำคัญกับสุขภาพของแมลงและข้อได้เปรียบด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสามารถใช้อาหารที่ใกล้หมดอายุซึ่งจะถูกโยนทิ้งไปมาเพาะเลี้ยงแมลงได้

ก่อนเปิดร้านอย่างเป็นทางการ Hacienda International ได้ติดตั้งตู้ขายสแนกแมลงที่ซัปโปโร ทำยอดขายได้กว่า 100 ชิ้นต่อเดือน

ในซัปโปโรอีกเช่นกัน เดือนกันยายนปี 2021 ร้านปิ้งย่างบางแห่งได้ติดตั้งตู้จำหน่ายอาคารแช่แข็งอัตโนมัติไว้หน้าร้าน เพื่อให้ลูกค้าเลือกซื้อกลับไปย่างเองที่บ้านหรือจุดตั้งแคมป์ เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด

Sanden Retail Systems Corp ผู้ผลิตตู้กดอัตโนมัติสำหรับอาหารแช่แข็ง เปิดเผยว่าได้ติดตั้งตู้แล้วใน 41 เขตทั่วประเทศจากทั้งหมดที่มี 47 เขต ในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว

ตู้อาหารแช่แข็งหน้าร้าน ที่มาภาพ: https://mainichi.jp/english/articles/20210528/p2a/00m/0li/020000c

 

ตู้กดซื้อสลัดผักสด

กลับมาที่โตเกียว ตู้กดใหม่ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชิบุยะมีชื่อว่า Salad Stand ที่สีสันภายนอกของตู้ได้รับแรงบันดาลใจจากดิน หญ้า ท้องฟ้า และดวงอาทิตย์ เมื่อมองผ่านกระจกใสเข้าไปข้างในจะเห็นสลัดหลากสีสัน หน้าตาเหมือนกับที่เสิร์ฟในร้านอาหาร

เมนูสลัดไก่นึ่งและเมล็ดควินัว (ธัญญพืชที่จัดว่าเป็นอาหารชั้นเลิศ) ที่มีผักคอส ฟิลเลย์ ไอซ์เบิร์ก ผักโขม ถั่วอัลมอนด์ ส้ม ส่วนผสมอื่นเพื่อสุขภาพ มาพร้อมน้ำสลัดสูตรพิเศษและดอกไม้ที่รับประทานได้ ช่วยเพิ่มสีสัน จำหน่ายในราคา 980 เยน

โนบุอากิ อาราอิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Kompeito เจ้าของ Salad Stand ได้ทดลองติดตั้งตู้ในเดือนพฤศจิกายน 2020 และขยายเต็มรูปแบบในเดือนพฤศจิกายน 2021 และมีแผนที่จะขยายไปยังอาคารสำนักงานในใจกลางเมือง

ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติเต็มรูปแบบ และรับการชำระงินแบบไม่ใช้เงินสดอีกด้วย

ตู้จำหน่ายสลัด ที่มาภาพ:https://japantoday.com/category/features/food/japan-now-has-a-fresh-salad-vending-machine

นอกจากนี้ Salad Stand ยังติดตั้งเทคโนโลยีล่าสุดโดยใช้ AI เพื่อลดการสูญเสียอาหาร โดย เซ็นเซอร์ AI ที่ด้านบนของตู้จะวัดจำนวนคนที่สัญจรไปมาและผู้ที่หยุดอยู่ข้างหน้าตู้ AI ของเครื่องจะทำการวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงวันหมดอายุของสลัด ทำให้บริษัทสามารถปรับจำนวนกล่องสลัดที่จะเติมและเวลาในการลดราคา ส่งผลให้สลัดเหลือขายน้อยลง

ในอนาคต บริษัทมีแผนที่จะปรับปรุงความแม่นยำของระบบเพิ่มเติม ตามข้อมูลสภาพอากาศและปัจจัยอื่นๆ

ถ้าญี่ปุ่นเปิดประเทศอีกครั้ง ใครที่ได้ไปเดินย่านชิบุยะต้องไปลองกดตู้จำหน่ายสลัดผักที่เลาจ์ชั้นสองของอาคารสำนักงาน SHIBUYA SOLASTA

ตู้กดลูกเล่นใหม่ฉายวิดีโอเสมือนจริง

ยัง ยังไม่หมด ตู้กดสินค้าอัตโนมัติของญี่ปุ่นยังมีลูกเล่นดึงคนใช้ ล่าสุด วันที่ 17 กุมภาพันธ์ สำนักข่าว mainichi รายงานว่า ตู้กดขายของอัตโนมัติในเมืองไซตามะ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของโตเกียวญี่ปุ่นดึงดูดลูกค้าให้นั่งรถไฟเสมือนจริงจากห้องคนขับรถไฟขณะที่รถไฟแล่นไปตามราง

ด้านหน้าของตู้อัตโนมัติที่จำหน่ายชาซายามะ ที่ขึ้นชื่อของท้องถิ่น ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ระหว่างประตูทางเข้าช่วงกลางและทางใต้ของสถานีโตโกโรซาวะ ได้ฉายภาพวิดีโอจากมุมมองของคนขับบนเส้นทางรถไฟของบริษัท Seibu Railway Co.

ที่มาภาพ: https://mainichi.jp/english/articles/20220216/p2a/00m/0bu/018000c

บริษัท Preno Inc. จากโตเกียว ซึ่งวางแผน ผลิต และจำหน่ายตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ได้ออกแบบและมีแนวคิดในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่ไม่เหมือนใคร “เพื่อให้ผู้คนรู้สึกเหมือนกำลังเดินทาง” Seibu Railway Co. จึงเข้าร่วมโครงการ และติดตั้งตู้เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์

ด้านนอกของตู้จำลองมาจากรถไฟสายสีเหลืองอันเป็นเอกลักษณ์ของ Seibu Railway Co. ส่วน “หน้าต่าง” คือจอภาพขนาด 32 นิ้ว ฉายวิดีโอที่ถ่ายใน 4 พื้นที่ของเส้นทางรถไฟ และยังมีเสียงของคนขับด้วย ซึ่งเด็กๆ เพลิดเพลินกับวิดีโอ ขณะที่คนอื่นๆ ใช้สมาร์ทโฟนเก็บภาพ

จอภาพจะสลับไปที่หน้าจอการซื้อสินค้าเมื่อมีคนเข้าใกล้เครื่อง โดยมีสินค้า 2 ​​รายการให้เลือก ได้แก่ ชุดใบชา “เซนฉะ” และใบชาคั่ว “โฮจิฉะ” และชุดชาเขียวแบบถุง แต่ละรายการจำหน่ายในราคา 1,080 เยน (ประมาณ 9.30 ดอลลาร์) และตู้รับชำระเงินหลายวิธีรวมถึงบัตรเครดิต แต่ไม่รับเงินสด

เที่ยวญี่ปุ่นครั้งหน้า เตรียมเหรียญให้พร้อม ไปทดลองตู้กดใหม่

ที่มา ไทยพับลิก้า