คนไทยพร้อมแค่ไหนกับสังคมโลกดิจิทัลในอนาคตอันใกล้
เซลฟอร์ซ (Salesforce) เผยผลสำรวจบุคลากรคนทำงานกว่า 23,000 ราย ใน 19 ประเทศทั่วโลก เกี่ยวกับมุมมองและทัศนคติที่มีต่อทักษะดิจิทัลที่สำคัญกับการทำงานในยุคปัจจุบัน และในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยในการสำรวจครั้งนี้มีคนไทยเข้าร่วมตอบแบบสอบถามด้วยจำนวนกว่า 1,400 ราย และได้ผลออกมาว่าเราติดอันดับ 3 ของประเทศที่บุคลากรมีความพร้อมด้านดิจิทัล
สำหรับประเทศไทย ผู้ตอบแบบสำรวจให้คะแนนความพร้อมต่อทักษะทางดิจิทัลของตนเองสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 3 (48 จาก 100 คะแนน) โดย 51% ของผู้ตอบแบบสำรวจคนไทยลงความเห็นว่า ตนเองมีความพร้อมด้านทักษะทางดิจิทัลสำหรับการทำงาน และ 39% พร้อมต่อการเรียนรู้ทักษะดิจิทัลใหม่ ๆ
กิตติพงษ์ อัศวพิชยนต์ รองประธานประจำภูมิภาคและกรรมการผู้จัดการ เซลส์ฟอร์ซ ประเทศไทย กล่าวว่า จากผลการศึกษา ชี้ให้เห็นว่าคนไทยประเมินความพร้อมและทักษะทางด้านดิจิทัลเพื่อการทำงานของตนเองสูงกว่าผู้ร่วมการศึกษาจากหลากหลายประเทศทั่วโลก โดยเห็นได้จากผลคะแนนที่สูงกว่าประเทศทั่วโลก ทว่าผลการประเมินตนเองนี้ก็ยังห่างจากคะแนนเต็มอยู่อีกมาก ภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ ต้องร่วมมือกันให้เกิดการส่งเสริมทักษะทางดิจิทัลที่จำเป็นให้แก่พนักงานและคนในวัยทำงาน รวมถึงว่าที่แรงงานทั่วประเทศอย่างจริงจัง
คนไทยมองว่าสกิลด้านดิจิทัลไหนบ้างที่ต้องมี
จากการสำรวจ ได้จัด 5 ลำดับสกิลที่สำคัญในสายตาคนไทย ดังนี้
- Encryption and cybersecurity (การเข้ารหัสและความปลอดภัยไซเบอร์)
- E-commerce and digital trade (อีคอมเมิร์ซและการลงทุนดิจิทัล)
- Digital administration (การบริหารงานดิจิทัล)
- Digital marketing (การตลาดดิจิทัล)
- Collaboration technology (การทำงานร่วมกันด้วยระบบดิจิทัล)
เล่นโซเชียลมีเดียบ่อย ไม่ได้หมายความว่าจะเก่งดิจิทัล
ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากระบุว่าตนมีทักษะและความถี่ในการเล่นโซเชียลมีเดียค่อนข้างสูง แต่ไม่มั่นใจการใช้ทักษะดิจิทัลในการทำงาน โดยแบบสำรวจจากกลุ่มคนในอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชียแปซิฟิกระบุว่า
อเมริกาเหนือ คนที่มองว่าทักษะด้านโซเชียลมีเดียสูง 83% : 31% รู้สึกพร้อมในการใช้ทักษะด้านดิจิทัลทำงาน
ยุโรป คนที่มองว่าตนมีทักษะด้านโซเชียลมีเดียสูง 82% : 24% รู้สึกพร้อมในการใช้ทักษะด้านดิจิทัลทำงาน
เอเชียแปซิฟิก คนที่มองว่าตนมีทักษะด้านโซเชียลมีเดียสูง 70% : 34% รู้สึกพร้อมในการใช้ทักษะด้านดิจิทัลทำงาน
ช่องว่างด้านทักษะทางดิจิทัลเป็นปัญหาควรได้รับการแก้ไข และธุรกิจองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกล้วนมีบทบาทที่สำคัญในการปิดช่องว่างดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแนวความคิดด้านการศึกษา และการฝึกอบรมบุคลากร การลงทุนที่ยั่งยืน และการเป็นพันธมิตรที่มีความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือ เพียงเท่านี้ธุรกิจต่าง ๆ ก็จะสามารถเป็นแพลตฟอร์มเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงได้
ที่มา Marketeer