ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา “ตลาดงาน” ต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น ดิจิทัลดิสรัปชั่น สภาวะเศรษฐกิจ จนมาถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้รูปแบบการทำงาน และสายอาชีพเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก บางตำแหน่งงานมีความต้องการสูงขึ้น ขณะที่บางสายงานถูกดิสรัปหายไป และเกิดอาชีพใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน แนวโน้มเงินเดือนในสายงานต่างๆ ก็ปรับเปลี่ยนไปด้วย เพื่อให้เห็นภาพตลาดงานชัดเจนขึ้น บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ JobsDB แพลตฟอร์มหางาน ได้เผยข้อมูลอัตราเงินเดือนของพนักงานไทยประจำปี 2565 (Salary Report 2022) พร้อมสายงานที่ตลาดต้องการ
เงินเดือน “ไทย” ปรับขึ้น 43% แม้มีโควิด
จากผลการสำรวจพบว่า ประเทศไทยมีการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเดือนสูงที่สุดอยู่ที่ 43.1% เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และฮ่องกง โดย “คอมพิวเตอร์และไอที” ยังเป็นสายงานที่มียอดตำแหน่งงานเปิดรับสูงสุด โดยมีผู้ประกอบการประกาศรับสมัครงานมากกว่า 12,200 ตำแหน่ง เมื่อเปรียบเทียบกับสายงานอื่นๆ บนแพลตฟอร์มของ จ๊อบส์ดีบี ประเทศไทยในปีที่ผ่านมา
สาเหตุเพราะตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจทั้งภาครัฐ เอกชน รวมถึงธุรกิจ SMEs และธุรกิจขนาดใหญ่ต่างปรับตัวนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ทำธุรกิจมากขึ้น เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงส่งผลให้ความต้องการบุคลากรจากผู้ประกอบการในธุรกิจนี้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
สายงานไหน เปย์เงินเดือนเพิ่มมากที่สุด
จากผลการสำรวจพบว่า มีหลายสายงานได้รับการปรับเพิ่มอัตราเงินเดือน โดย “สายงานไอที” ได้รับการปรับเงินเดือนสูงที่สุดถึง 41% รองลงมาคือ งานขาย งานบริการลูกค้า และงานการตลาด รวมถึงงานการศึกษา และการฝึกอบรม เงินเดือนเพิ่มขึ้น 40% ส่วนสายงานสุขภาพ และความงาม เงินเดือนเพิ่มขึ้น 39% สุดท้ายคือ สายงานธุรการ และทรัพยากรบุคคล เงินเพิ่ม 38%
เมื่อเปรียบเทียบทุกอุตสาหกรรมและแบ่งตามระดับงาน ประกอบด้วย ระดับเจ้าหน้าที่ ระดับหัวหน้างาน ระดับผู้จัดการ และระดับผู้บริหาร พบว่า แต่ละระดับงานมี 3 อุตสาหกรรมที่ได้รับการเสนออัตราเงินเดือนสุงสุด ดังนี้
ระดับเจ้าหน้าที่ (Entry Level) สายงานที่มีฐานเงินเดือนสูงสุด ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมไอที, การธนาคารและการเงิน และ โทรคมนาคม เสนอค่าตอบแทนเฉลี่ยที่ 32,500 บาท 2. อุตสาหกรรมประกันภัย เสนอค่าตอบแทนเฉลี่ยที่ 30,000 บาท 3. อุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เสนอค่าตอบแทนเฉลี่ยที่ 27,500 บาท
ระดับหัวหน้างาน (Manager) สายงานที่มีฐานเงินเดือนสูงสุด ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมประกันภัย เสนอค่าตอบแทนเฉลี่ยที่ 62,500 บาท 2. อุตสาหกรรมไอที, การธนาคารและการเงิน, โทรคมนาคม, น้ำมันและก๊าซ เสนอค่าตอบแทนเฉลี่ยที่ 57,500 บาท 3. อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์, Trading และจัดจำหน่าย, อาหารและเครื่องดื่ม เสนอค่าตอบแทนเฉลี่ยที่ 50,000 บาท
ระดับผู้จัดการ / อาวุโส (Senior Executive) สายงานที่มีฐานเงินเดือนสูงสุด ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมโทรคมนาคม เสนอค่าตอบแทนเฉลี่ยที่ 82,500 บาท 2. อุตสาหกรรมไอที, ประกันภัย, การธนาคารและการเงิน, โรงแรม บริการจัดเลี้ยง เสนอค่าตอบแทนเฉลี่ยที่ 80,000 บาท 3. อุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, อสังหาริมทรัพย์, Trading และจัดจำหน่าย, อาหารและเครื่องดื่ม, ขนส่ง เสนอค่าตอบแทนเฉลี่ยที่ 72,500 บาท
ระดับผู้บริหารระดับสูง (C-level Management) สายงานที่มีฐานเงินเดือนสูงสุด ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เสนอค่าตอบแทนเฉลี่ยที่ 125,000 บาท 2. อุตสาหกรรมไอที, ประกันภัย, การผลิต เสนอค่าตอบแทนเฉลี่ยที่ 120,000 บาท 3. อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ เสนอค่าตอบแทนเฉลี่ยที่ 117,500 บาท
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบการปรับตัวของอัตราเงินเดือนปีล่าสุดเป็นเปอร์เซ็นต์ ผลการสำรวจพบว่า อุตสาหกรรม 3 อันดับแรกที่มีการปรับเงินเดือนเพิ่มสูงสุดแบ่งตามระดับงาน และสายงาน ได้แก่
อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ (Property & Real Estate) ปรับเพิ่มค่าตอบแทนพนักงานระดับผู้จัดการ / อาวุโส (Senior Executive) ในสายงานไอที สูงสุดในปี 2564 โดยปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 34.6%
อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) ปรับค่าตอบแทนให้แก่พนักงานระดับหัวหน้างาน (Manager) ในสายงานไอที เช่นเดียวกัน โดยปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 27.8%
อุตสาหกรรมขนส่ง (Transportation) มีการปรับขึ้นค่าตอบแทนสูงสุดเป็นอันดับ 3 ให้แก่พนักงานระดับผู้จัดการ / อาวุโส (Senior Executive) ในสายงานบริการเฉพาะทาง โดยปรับขึ้นจากปีก่อนเฉลี่ยอยู่ที่ 27.1%
สายงานขาย-ตลาด ยังมาแรง ตลาดต้องการสูง
นอกจากนี้ จ๊อบส์ ดีบี ยังได้สำรวจความต้องการจ้างงานขององค์กรในปี 2564 ทำให้พบว่า เทรนด์สายงานตลาดต้องการมากที่สุด ยังคงเป็นสายงานด้านการขายและการตลาด (Sales/Marketing) เช่นเดียวกับปี 2563 ด้วยจำนวนประกาศรับสมัครงานรวมทุกอุตสาหกรรมมากถึง 26,300 ตำแหน่ง
ปัจจัยหลักมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันที่เปลี่ยนไป เริ่มมีการเปรียบเทียบสินค้ามากขึ้นทั้งในแง่ของคุณภาพ ราคา และประโยชน์ใช้สอยเมื่อซื้อสินค้าออนไลน์ และเมื่อมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงโลจิสติกส์ และระบบจัดส่งมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการเล็งเห็นความสำคัญของการตลาดเพื่อสร้างการรับรู้ สร้าง Brand Loyalty และฐานลูกค้าที่แข็งแกร่ง เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ
SMEs ปรับเงินเดือนสู้บริษัทใหญ่ ดึงคนเก่งพัฒนาองค์กร
ที่ผ่านมาเรามักจะเห็นองค์กรขนาดใหญ่เสนอเงินเดือนสูงกว่าธุรกิจ SMEs เพื่อสร้างแรงจูงใจและดึงดูดพนักงานเข้ามาทำงานในองค์กร ในปีนี้ จ๊อบส์ ดีบี จึงสำรวจว่าขนาดองค์กรมีผลกับอัตราเงินเดือนหรือไม่? และผลสำรวจพบว่า ขนาดองค์กรอาจไม่ใช่สิ่งสำคัญที่จะชี้วัดอัตราเงินเดือนอีกต่อไป บางสายงานที่เป็นที่ต้องการ หรือต้องการความรู้ ความเชี่ยวชาญ ก็มีความเป็นไปได้ที่ธุรกิจ SMEs จะเสนอเงินเดือนที่มากกว่าเพื่อให้เกิดการจ้างงาน
จากการเทียบฐานข้อมูลเงินเดือนธุรกิจ SMEs กับองค์กรขนาดใหญ่ พบว่า อุตสาหกรรม SMEs ที่มีการเติบโตมากที่สุดคือ อุตสาหกรรมประกันภัย (Insurance) โดยมีเปอร์เซ็นต์การขึ้นเงินเดือนสูงสุดอยู่ที่ 33.3% และประเภทงานที่มีการเติบโตมากที่สุดคือ งานท่องเที่ยว โรงแรม และ F&B (Hotel/Restaurant) มีเปอร์เซ็นต์การขึ้นเงินเดือนสูงสุดที่ 18.2% นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบเงินเดือนจากทุกสายงานและทุกระดับงานระหว่าง SMEs และองค์กรขนาดใหญ่ พบว่า SMEs เสนอค่าตอบแทนให้ ผู้จัดการ/อาวุโส (Senior Executive) ในสายงานการผลิต และผู้บริหารระดับสูง (C-Level Management) ในสายงานธุรการและทรัพยากรบุคคล มากกว่าองค์กรขนาดใหญ่อีกด้วย
ที่มา Brand Buffet