หลังจากที่สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (ดีซีที) ยื่นข้อเสนอในที่ประชุม ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) เรื่องการยกเว้นภาษีกำไรจากเงินลงทุน หรือที่เรียกกันว่า “Capital Gain Tax” สำหรับการลงทุนในสตาร์ตอัพไทย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันที่ต้องการผลักดันมาหลายปี
⦁เว้นภาษีหนุน‘สตาร์ตอัพ’ลงทุน
ล่าสุด อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงความคืบหน้าว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหลักการมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น หรือสตาร์ตอัพ ให้สิทธิยกเว้นภาษีสำหรับการลงทุนในสตาร์ตอัพสัญชาติไทยที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งการลงทุนโดยตรง และการลงทุนโดยอ้อม ผ่านธุรกิจเงินร่วมลงทุน หรือ Venture Capital (VC) โดยระยะเวลาการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ตั้งแต่วันถัดจากวันที่พระราชกฤษฎีกาประกาศในราชกิจจานุเบกษา จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2575
โดยยืนยันประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนสตาร์ตอัพครั้งนี้ ว่าจะช่วยสนับสนุนให้สตาร์ตอัพไทยสามารถระดมทุนจากนักลงทุนได้เพิ่มขึ้น และง่ายขึ้น ซึ่งสภาดิจิทัลฯได้คาดการณ์ว่าจากมาตรการภาษีนี้ จะทำให้ภายในปี 2569 มีเงินลงทุนในสตาร์ตอัพไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 3.2 แสนล้านบาทและก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 4 แสนตำแหน่ง และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวม 7.9 แสนล้านบาท
ส่วนรายละเอียดมาตรการ ประกอบด้วย 1.ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ผู้ลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศสำหรับกำไรจากการขายหุ้นในสตาร์ตอัพ
2.ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทขนาดใหญ่ที่เน้นการลงทุนในสตาร์ตอัพ หรือ Corporate Venture Capital (CVC) ทั้งไทยและต่างประเทศ และสินทรัพย์ประเภทตราสารทุนนอกตลาด หรือ PE Trust ต่างประเทศสำหรับกำไรจากการขายหุ้นในสตาร์ตอัพ 3.ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ผู้ลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ สำหรับกำไรจากการขายหุ้นใน CVC ไทยและจากการที่ CVC ไทยเลิกกิจการ และกำไรจากการขายหน่วยทรัสต์ใน PE Trust ไทยและจากการที่ PE Trust ไทยเลิกกิจการ โดย CVC และ PE Trust ไทยดังกล่าวเป็น CVC และ PE Trust ที่ลงทุนในสตาร์ตอัพ
สำหรับการลงทุนที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามข้อ 1-3 ต้องเป็นการลงทุนในสตาร์ตอัพไทยที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย และต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หรือสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ (เอ็นไอเอ) และมีรายได้จากอุตสาหกรรมเป้าหมายไม่น้อยกว่า 80% ของรายได้ทั้งหมดใน 2 รอบระยะเวลาบัญชีก่อนการขายหุ้น ส่วน 4. ผู้ลงทุนต้องถือหุ้น หรือหน่วยทรัสต์ไม่น้อยกว่า 24 เดือนก่อนการขายหุ้นหรือหน่วยทรัสต์ และ 5.CVC ไทยและ PE Trust ไทยต้องมีทุนไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท และจดแจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย โดย ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานดีซีที เปิดเผยว่า ความสำเร็จดังกล่าวเป็นการจูงใจให้นักลงทุนไทยและต่างประเทศ เข้ามาลงทุนในสตาร์ตอัพไทยมากขึ้น เป็นโอกาสที่ดีในการสร้างระบบนิเวศให้เข้มแข็งทั้งด้านนโยบายและกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งจะเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สร้างไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ในปัจจุบันหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน อาทิ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย มีนโยบายยกเว้นภาษีแบบเดียวกัน ทำให้ดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้จำนวนมาก ซึ่งหลังจากการแก้ไขมาตรการภาษีดังกล่าว จะทำให้ไทยสามารถเร่งขยายโอกาสการเติบโตของสตาร์ตอัพ และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยตั้งเป้าดึงเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 20% ของมูลค่าการลงทุนใน Tech Companies ในภูมิภาคอาเซียน เข้ามาลงทุนกับธุรกิจสตาร์ตอัพไทย
⦁ชี้อยู่รอดได้!รัฐต้องเอื้อเกิดกำไร
ศรัณย์ สุตันติวรคุณ นายกสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (ทีวีซีเอ) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาจะเห็นวลีนี้บ่อยๆที่ว่า “สตาร์ตอัพเกิดในเมืองไทย แต่ไปเปิดบริษัทที่เมืองนอก” ทั้งสิงคโปร์ ฮ่องกง โดยหนึ่งในเหตุผลที่ไปเปิดเมืองนอก คือ มีการบริหารจัดการภาษีคล่องตัวกว่า ทั้งนักลงทุนและผู้ก่อตั้งเอง โดยมติ ครม.ล่าสุดที่ออกมาสนับสนุนมาตรการทางภาษี ข้อดีคือสตาร์ตอัพสัญชาติไทยจะไปจดทะเบียนต่างประเทศน้อยลงจะหันกลับมาจดทะเบียนบริษัทในไทยมากขึ้น ต่อมา VC ต่างประเทศ จะนำเงินลงทุนเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะสิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เนื่องจากมีมาตรการยกเว้นทางภาษีแล้ว มีการจ้างบุคลากรในประเทศ พัฒนาความรู้ความสามารถให้สตาร์ตอัพไทยเติบโตต่อได้ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาไม่ได้เห็นผลใน 3-6 เดือน แต่ในระยะยาวเห็นผลแน่นอน
เขาระบุอีกว่า มาตรการยกเว้นภาษีอย่างเดียว ไม่ได้ช่วยส่งเสริมให้สตาร์ตอัพไทยเติบโตได้ทั้งหมด เพราะก่อนที่จะมีมาตรการยกเว้นภาษี สตาร์ตอัพต้องมีกำไรก่อน โดยสตาร์ตอัพไทยส่วนมากยังไม่สามารถสร้างกำไรได้ การจะปลดล็อกตรงนี้ ต้องมีมาตรการตัวอื่นๆ เสริมเข้าไปด้วย ต้องมีการปลดล็อกทั้งระบบ โดยเฉพาะต้องทำให้คนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานในสตาร์ตอัพมากขึ้น แทนการทำงานบริษัทขนาดใหญ่ ตัวอย่างเช่น รัฐบาลสิงคโปร์ ได้มีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับบุคลากรที่ทำงานในสตาร์ตอัพ พร้อมช่วยสนับสนุนงบประมาณในด้านต่างๆ เพื่อให้สตาร์ตอัพเกิดขึ้นให้ได้ อีกทั้งมาตรการเพิ่มเติมที่อยากให้ภาครัฐช่วยคือ ต้องดึงดูดคนเก่งเข้าทำงานในสตาร์ตอัพด้วยการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อให้คนเก่งเหล่านี้ช่วยสร้างผลกำไรให้กับสตาร์ตอัพที่ตัวเองทำ เบื้องต้นทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีโปรแกรมจับคู่ ที่จะช่วยสนับสนุนงบประมาณด้านบุคลากรให้
“ถ้าเทียบมาตรการส่งเสริมสตาร์ตอัพของไทย คิดเป็น 20% เมื่อเทียบกับของสิงคโปร์ แต่ก็อย่าพึ่งได้ท้อ อย่าพึ่งได้ยอมแพ้ เพราะหนทางข้างหน้ายังอีกยาวไกล ไม่ใช่ว่าทำแล้วจะได้ผลดีเหมือนกับสิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา ในเร็ววัน ยังต้องใช้เวลาอีกนาน” ศรัณย์กล่าว
⦁ลดเข้มงวดรับต่างชาติเสริมทีม
นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การทำธุรกิจสตาร์ตอัพในช่วงแรกไม่ได้สร้างผลกำไร การลดภาษีอย่างเดียวจึงไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าไหร่นัก ถ้าจะมีประโยชน์ต้องไปดูการสนับสนุนสตาร์ตอัพด้านอื่นๆ อย่างการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ที่ปัจจุบันมีต้นทุนในการขออนุญาตต่างๆ ที่มีราคาแพง รวมไปถึงกฎระเบียบที่มีการกำหนดมาตรฐานต่างๆ ซึ่งบริษัทขนาดใหญ่รู้อยู่แล้ว และต้นทุนศึกษามีราคาแพง ถ้าลดความเคร่งครัดได้ก็จะสร้างผลดีกับสตาร์ตอัพมากทีเดียว
“ต่อมาต้องให้แต้มต่อ โดยภาครัฐต้องเป็นผู้สนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างกับสตาร์ตอัพเหล่านี้ แต่ต้องเป็นสินค้าที่ต้องใช้งานอยู่แล้ว ต่อมาต้องมีการใช้แรงงานคนเก่ง มีทักษะความรู้ความสามารถ โดยเฉพาะชาวต่างชาติ ซึ่งมีความพยายามแก้ไขกฎระเบียบอยู่ แต่จะดึงคนเก่งได้แบบประเทศสิงคโปร์หรือไม่ซึ่งจะไปไกลกว่าแค่การอนุญาตให้เข้ามาทำงานอย่างเดียวแต่ต้องมีการจัดแพคเกจให้ เช่น การต่อวีซ่า การถือครองอสังหาริมทรัพย์ ที่ต้องทำได้ง่าย สภาพสังคมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิต ถ้ามีการอุดหนุนคนเก่งให้เข้าประเทศได้ ก็จะมาช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนคนเก่งได้” นณริฏกล่าว
เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องนำกลับไปพิจารณาเพิ่มเติม เพื่อให้สตาร์ตอัพไทยสามารถยืนหยัดอยู่ได้
ที่มา มติชน