เครือซีพี-ซีพีเอฟ ผนึกพลังเพิ่มพื้นที่สีเขียว โครงการ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง”

เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าใน “โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” จ.ลพบุรี โชว์ความสำเร็จเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ประเทศไทย 6,971 ไร่ เป็นต้นแบบการฟื้นฟูผืนป่า สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สร้างงาน สร้างอาชีพ สู่ชุมชน พร้อมกันนี้ ร่วมปลูกต้นจำปาป่า และปล่อยปลา 1 แสนตัว มุ่งมั่นสร้างความมั่นคงทางอาหาร

คุณสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการเครือซีพี- ซีพีเอฟ ลงพื้นที่โครงการ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำลุ่มน้ำป่าสัก ที่เกิดจากความร่วมมือ 3 ประสาน คือ กรมป่าไม้ ชุมชนรอบเขาพระยาเดินธง และซีพีเอฟ เป็นต้นแบบการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ และเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการฟื้นฟูสภาพป่าไม้ โดยมีผู้บริหารระดับสูงของซีพีเอฟ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงเครือซีพีและบริษัทในเครือ อาทิ คุณอดิเรก ศรีประทักษ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร คุณพงษ์ วิเศษไพฑูรย์ รองประธานคณะกรรมการบริหาร นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ และยังได้รับเกียรติจาก มล.อนุพร เกษมสันต์ รองกงสุลกิตติมศักดิ์รัสเซีย คุณศิริชัย มาโนช ที่ปรึกษาอาวุโส เครือซีพี ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ โดยมี คุณสุรพล กลิ่นพันธุ์ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการปลูกป่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 5 สระบุรี คุณถนอมพงษ์ สังข์ธูป หัวหน้าโครงการเขาพระยาเดินธง ชุมชน และคณะทำงานยุทธศาสตร์ ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง ให้การต้อนรับ

คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า โครงการ ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง เป็นความภูมิใจและเป็นความมุ่งมั่นของเครือซีพี และซีพีเอฟ ในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูผืนป่า ซึ่งในวันนี้ท่านประธานกรรมการ สุภกิต เจียรนนท์ และคณะผู้บริหารได้มาติดตามความคืบหน้าการฟื้นฟูป่าจากที่ดำเนินการในระยะแรก (2559-2563) 5,971 ไร่ ช่วยพลิกฟื้นสภาพป่าที่มีสภาพรกร้างสู่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ และในระยะที่สอง (2564-2568) ซีพีเอฟมีแผนที่จะอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าเพิ่มเติมอีก 1,000 ไร่ นอกจากนั้นในทุกๆ ปีจะมีการติดตามดูแลผืนป่าแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย และยังเชื่อมโยงกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ รวมทั้ง เป็นต้นแบบที่กรมป่าไม้จะนำมาใช้พัฒนาผืนป่าพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ และเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับหน่วยงานราชการ ภาคเอกชนอื่นๆ เข้ามาศึกษารูปแบบการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่า

“สิ่งที่สำคัญของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน สามารถทำให้บริษัท สังคม สิ่งแวดล้อม เติบโตอย่างสอดคล้องไปด้วยกัน โครงการนี้ เป็นความตั้งใจของเครือซีพีและซีพีเอฟที่ทำประโยชน์ให้กับสังคม และประเทศ” คุณประสิทธิ์กล่าว

สำหรับกิจกรรมในวันนี้ ซีพีเอฟได้รับความอนุเคราะห์จากที่ปรึกษาอาวุโส เครือซีพี มอบต้นจำปาป่า 1,000 ต้น ซึ่งจะนำมาปลูกเพิ่มเติมในพื้นที่ของโครงการฯ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมปล่อยปลา 1 แสนตัวเพื่อเป็นแหล่งอาหารของชุมชนที่อยู่รอบข้างเยี่ยมชมพื้นที่โครงการ ฯ โรงเพาะชำกล้าไม้ แหล่งรวบรวมเมล็ดพันธุ์ไม้ป่าในโครงการฯ นำมาเพาะอนุบาลให้เป็นกล้าที่แข็งแรง ซี่งซีพีเอฟมีการจ้างงานชุมชนในการติดตามดูแลต้นไม้ในพื้นที่โครงการ เพาะกล้าไม้ กำจัดวัชพืช ฯลฯ เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพสู่ชุมชน ชมแปลงปลูกป่าพิถีพิถัน ซึ่งปลูกในปี 2560 และเตรียมขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.

คุณสุรพล กลิ่นพันธุ์ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการปลูกป่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 5 สระบุรี กล่าวว่า ซีพีเอฟเข้ามาช่วยฟื้นฟูผืนป่าเขาพระยาเดินธงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไป ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่ากลับคืนมา มีแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น ชาวบ้านมีแหล่งอาหาร สามารถเป็นต้นแบบอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าในหลายพื้นที่ จากการที่ซีพีเอฟได้นำรูปแบบต่างๆ มาใช้ รวมทั้งประสานความร่วมมือกับนักวิชาการเข้ามาช่วยจนได้ผืนป่ากลับคืนมา ซึ่งกรมป่าไม้จะใช้โครงการนี้เป็นต้นแบบในการฟื้นฟูป่า ขอขอบคุณ ซีพีเอฟ ที่เข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานของกรมป่าไม้สู่เป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว

ซีพีเอฟดำเนินโครงการ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” มาตั้งแต่ปี 2559 โดยผลสำเร็จจากการดำเนินการระยะที่หนึ่ง (ปี 2559 -2563) ช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูป่ารวม 5,971 ไร่ ช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินโครงการฯ ระยะที่สอง (ปี 2564 -2568 ) เพิ่มเติมอีก1,000 ไร่ รวมเป็น 6,971 ไร่ รวมทั้งต่อยอดจากการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า สู่การสร้างความมั่นคงทางอาหารระดับชุมชน ส่งเสริมชุมชนปลูกผักปลอดภัยไว้บริโภคเอง รวมถึงนำไปจำหน่ายในตลาดของชุมชน และยังได้สนับสนุนชุมชนทำโครงการเพาะพันธุ์และอนุบาลปลาอีกด้วย ทำให้หลายครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้น และสร้างอาชีพเสริม อาทิ นำปลามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ปลาส้ม ปลาร้า เพื่อจำหน่าย เป็นต้น สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) และมุ่งสู่การเป็นองค์กรลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emission)

เครือซีพีและซีพีเอฟ ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และในโอกาสที่เครือซีพีก้าวสู่การดำเนินงานครบรอบ 100 ปี มุ่งมั่นทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ตามปรัชญา 3 ประโยชน์ของเครือ คือ ประโยชน์ต่อประเทศ ประโยชน์ต่อประชาชน และประโยชน์ต่อบริษัท

 

ที่มา ซีพีเอฟ