ทุกวันนี้ยังคงมีคนถามถึงประเด็นของปลาทับทิมว่าเป็นปลาหมันหรือไม่ ขยายพันธุ์ได้หรือเปล่า ในฐานะนักวิชาการสายประมงก็ต้องขอบอกด้วยความมั่นใจว่าปลาทับทิมไม่ได้เป็นหมันอย่างที่สงสัยแต่ประการใด เพราะปลาตัวเมียสามารถตั้งท้องและให้ลูกได้ตามปกติเหมือนสัตว์เพศเมียทั่วไป
ส่วนที่มาของข้อสงสัยน่าจะเกิดจากการที่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาจะนิยมเลี้ยงปลาเพศผู้มากกว่าเพศเมีย ทำให้เกษตรกรที่คิดจะทดลองผสมพันธุ์เองก็จะหาปลาตัวเมียได้น้อย จึงนำไปสู่ข้อสงสัยว่าปลาทับทิมเป็นหมัน เพราะเพาะพันธุ์ไม่ได้
ผศ.ดร.เรืองวิชญ์ ยุ้นพันธ์ ภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายว่า หลายคนคงยังไม่รู้จักธรรมชาติของปลาทับทิม วันนี้จึงต้องขออธิบายก่อนในเบื้องต้นเพื่อประกอบการทำความเข้าใจในเหตุผลและความจำเป็นที่เกษตรกรจะเลือกปลาเพศผู้ไปเลี้ยง
- ธรรมชาติข้อแรก : โครงสร้างของปลาเพศผู้มีความใหญ่โตและแข็งแรงกว่าเพศเมีย ปลาทับทิมเพศผู้โตเต็มที่อาจได้ขนาดถึง 1-1.2 กิโลกรัมต่อตัว ขณะที่เพศเมียเลี้ยงได้โตเต็มที่ อาจมีขนาดได้เพียง 5-6 ขีดเท่านั้น
- ธรรมชาติของปลาทับทิมเพศผู้ก็คือผสมพันธุ์ตลอดเวลา แทบไม่มีว่างเว้น เมื่อใดที่เห็นเพศเมียก็เป็นอันต้องมีกิจกรรมร่วมกัน ทำให้ไม่สนใจที่จะกินอาหาร ขณะที่เพศเมียก็จะต้องอุ้มท้องอยู่ตลอดเวลา แทบไม่ว่างเว้นเช่นกัน นี่จึงเป็นเหตุผลที่เกษตรกรเลือกที่จะไม่เลี้ยงปลาเพศผู้ปนกับเพศเมีย เนื่องจากตัวผู้จะกินอาหารได้มากขึ้น
- โดยปกติปลาเพศเมียจะมีลักษณะตามธรรมชาติคือแม่ปลาจะอมไข่ไว้ในปาก ทำให้ไม่สามารถกินอาหารได้ในระหว่างการดูแลไข่และลูกปลาวัยอ่อน
- เมื่อปลาตัวเมียออกลูกบ่อย ปัญหาจากการเลี้ยงปลาแบบรวมเพศ ก็จะทำให้เกิดจำนวนลูกปลาแน่นบ่อ ปลาที่เลี้ยงทั้งหมดจะเติบโตได้ไม่เต็มที่
หากเรายอมรับว่า ปลาทับทิมเป็นปลาเศรษฐกิจของไทยที่ผู้เลี้ยงต้องการเลี้ยงเพื่อเป็นอาชีพ เพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัว ก็จะเข้าใจในเบื้องต้นทันทีว่า เกษตรกรจะต้องเลือกประสิทธิภาพการผลิตปลาที่จะนำมาซึ่งรายได้สูงสุด โดยต้องพยายามลดความเสี่ยงในด้านผลตอบแทนลง ด้วยการใช้เทคโนโลยีประมงสมัยใหม่เข้ามาช่วย ซึ่งหากบริหารจัดการได้ นั่นหมายถึงการลดต้นทุนและผลตอบแทนที่จะได้มากขึ้นนั่นเอง
เมื่อได้รับข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับธรรมชาติของปลาแล้ว ก็จะเข้าใจได้ว่าการเลี้ยงปลาคละกันทั้งเพศผู้และเพศเมียจะทำให้ผลผลิตของเกษตรกรมีประสิทธิภาพต่ำ ขณะเดียวกันก็รู้ว่าปลาตัวผู้จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า
ดังนั้นแนวทางแก้ปัญหาที่ได้ผลดีที่สุดของเกษตรกรก็คือ ทำอย่างไรจึงจะได้ปลาทับทิมเพศผู้ล้วนๆ ในการเลี้ยง ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถวางแผนการผลิตได้ นำไปสู่การจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลตอบแทนที่สูงแก่เกษตรกร
ลักษณะเด่นอีกข้อหนึ่งของปลานิลหรือปลาทับทิม ก็คือในช่วงปลาวัยอ่อนจะยังไม่ปรากฏเพศซึ่งกลายเป็นช่องว่างให้นักวิทยาศาสตร์สามารถหาวิธีเหนี่ยวนำเพศปลาให้เป็นไปตามต้องการได้
ปัจจุบันเกษตรกรจึงเลือกเทคโนโลยีผลิตลูกปลาเพศผู้ในฟาร์ม ด้วยวิธีผสมฮอร์โมนสังเคราะห์ในอาหารให้ลูกปลากิน เป็นวิธีที่สะดวก ต้นทุนไม่สูงและมีประสิทธิภาพในการเหนี่ยวนำเพศลูกปลาให้เป็นเพศผู้ได้สูงถึงกว่า 95%
รายงานทางวิทยาศาสตร์จากเอกสารทางวิชาการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติที่น่าเชื่อถือ ยืนยันว่าฮอร์โมนเพศผู้ที่ใช้เหนี่ยวนำเพศลูกปลามีปริมาณต่ำมากและไม่ก่ออันตรายผู้บริโภคได้ เนื่องจากใช้ในช่วงเวลาสั้นๆ ในขณะที่เป็นลูกปลาวัยอ่อน เป็นระยะเวลาเพียง 21-28 วัน ตั้งแต่ลูกปลาเริ่มกินอาหารเท่านั้น และจะใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 6-8 เดือนกว่าจะเลี้ยงปลาให้ได้ขนาดที่ตลาดต้องการซึ่งปริมาณฮอร์โมนที่ใช้เพียง 60 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม อาหารในช่วงการเหนี่ยวนำเพศลูกปลาประกอบกับกลไกทางชีวเคมีภายในร่างกายตลอดระยะเวลาที่เลี้ยงทำให้ฮอร์โมนถูกเมตาบอไลท์และจะถูกขับทิ้งไปกับสิ่งขับถ่าย ส่วนปลาเพศเมียก็สามารถนำไปเพาะพันธุ์ตามธรรมชาติได้ต่อไป
ดังนั้นจงเข้าใจว่าปลาทับทิมไม่ได้เป็นหมัน เพียงแต่ปลาส่วนใหญ่ (95%) เป็นเพศผู้เท่านั้นเอง ข้อมูลนี้พิสูจน์ได้จริงในเชิงวิทยาศาสตร์
ด้าน รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอบข้อสงสัยดังกล่าว ในเฟสบุ๊กแฟนเพจ “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์” เกี่ยวกับ “ปลาทับทิม ไม่ได้เป็นหมัน … มันแค่มีแต่ตัวผู้” ว่ากระแสปั่นให้หวาดกลัว “ปลาทับทิม” กลับมาอีกแล้ว คลิป “ปลาทับทิมหมัน ซีผีทำหมัน” นี้ถูกแชร์กันไปในวงกว้าง แต่ไม่ใช่ที่ข้อมูลที่ถูกต้องอะไรครับ เพราะปลาทับทิมไม่ได้เป็นหมัน มันแค่มีแต่ “ตัวผู้” เท่านั้น
การที่เกษตรกรมักจะเข้าใจผิดว่า ปลาทับทิมเป็นหมัน ไม่สามารถเอาไปขยายพันธุ์ต่อได้นั้น จนบางคนนึกว่ามันเป็นปลา GMO ดัดแปลงพันธุกรรม หรือลือกันไปขนาดที่ว่าถ้าคนกินเข้าไป ก็จะเป็นหมันตามไปด้วย … อันนี้ไม่จริงเลย เพราะปลาทับทิมไม่ได้เป็นหมัน แต่พวกมันถูกทำให้เป็นตัวผู้ตั้งแต่เล็กๆ วิธีการทำให้เป็นตัวผู้นั้น ก็ทำด้วยการให้ฮอร์โมนเพศผู้กับลูกปลา ซึ่งตอนที่ยังเล็กๆ จะยังไม่มีเพศชัดเจนและจะพัฒนาขึ้นเป็นเพศได้ก็ขึ้นกับระดับของฮอร์โมนเพศที่มันสร้างขึ้น
ทั้งนี้ ปลาเพศผู้นั้นเหมาะแก่การเพาะเลี้ยงมากกว่า เพราะโตเร็ว เนื้อเยอะ น้ำหนักดี ต่างจากปลาตัวเมียที่โตช้า แถมกินจุอีก ความจริงแล้ว ตอนนี้ปลาทับทิมที่ขายกันอยู่ในท้องตลาด ก็ไมได้มีแต่พันธุ์ของซีพีเท่านั้น มีหลากหลายเจ้ามาก .. แต่ถ้าเป็นของซีพี มันก็จะมีพอมั่นใจได้เกี่ยวกับเรื่องความสมบูรณ์ของสายพันธุ์ ขณะที่แนวทางการเพาะเลี้ยง ที่ดูเหมือนจะมีข้อแนะนำเยอะแยะไปหมด ว่าต้องกินอาหารตามสูตรนี้ของซีพี ต้องทำกระชัง ต้องปรับสภาพน้ำนั้นก้เพราะเค้าวิจัยมาแล้วว่านี้คือได้ผลผลิตดีสุด ซึ่งถ้าไม่ทำตาม ก็ไม่เป็นไร แต่ผลผลิตก็แย่ลงก็เท่านั้น