โลกเปลี่ยน คนปรับ…กุญแจ 9 ดอก ยกเครื่อง-ปรับภูมิทัศน์ประเทศใหม่ สู่การเป็น Hub of Asia

“โลกเปลี่ยน”

ทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะคน องค์กร สังคม ประเทศ ก็ต้องปรับตัวตาม ecosystem (ระบบนิเวศ) ของโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นทุกวัน เปรียบเทียบง่ายๆ หากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเปลี่ยนไป 1.5 องศา พืชและสัตว์ประมาณ 80,000 ชนิดจะสูญพันธุ์ ฉันใดฉันนั้น เมื่อสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยน หากธุรกิจปรับตัวไม่ได้ก็อาจจะต้องสูญพันธุ์เช่นเดียวกัน ใครปรับได้ก็รอด ใครปรับตัวไม่ได้ ก็หายไปจากวัฏจักรการแข่งขัน ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุค นำมาซึ่งสภาพแวดล้อมใหม่ ที่สร้างความได้เปรียบและความเสียเปรียบในเวลาเดียวกัน เก้าอี้แชมป์มักจะเปลี่ยนมือ ตอนที่เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ยากที่ใครจะรักษาความเป็นผู้นำได้ตลอดไป อยู่ที่ใครมองเห็น และต้องปรับให้เร็ว ไม่เร็วก็ไม่รอด และหากปรับสำเร็จก็ไม่ได้หมายความว่าจะยืนพื้นในการเป็นผู้นำไปได้ยาวนาน

ในแต่ละยุคสมัย เราอาจได้เห็นผู้ที่ประสบความสำเร็จทั้งระดับประเทศที่ขึ้นมาเป็นผู้นำ และประเทศที่เสียความเป็นผู้นำ ผู้นำด้านเทคโนโลยี ผู้นำด้านความมั่นคง ผู้นำด้านการเงินโลก เกิดการสลับขั้วในแต่ละยุค และระดับของธุรกิจ ในอดีตเราได้เห็นอายุเฉลี่ยของบริษัทสามารถยืนพื้นได้มากกว่าชั่วอายุคน แต่ในปัจจุบัน อายุเฉลี่ยของธุรกิจไม่สามารถอยู่ได้ถึง 20 ปี ยังไม่ทันได้ส่งมอบให้ลูกหลานก็ล้มหายตายจากไปก่อน

การเปลี่ยนแปลงในเชิงเศรษฐกิจของโลกเกิดขึ้นตั้งแต่ยุค 1.0 ที่เป็นเรื่องเกษตรกรรม ที่คนไทยกว่า 45% เป็นเกษตรกร เราเป็นประเทศที่ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เรามีการส่งออกสินค้าเกษตร ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านยังปรับตัวไม่ทันประเทศไทย ยุค 2.0 เป็นยุคของการผลิตและอุตสาหกรรม ซึ่งประเทศไทยก็ได้อานิสงส์เชิงบวกกับการเป็นเสือตัวที่ 5 ในยุคที่แรงงานของประเทศไทยที่มีราคาไม่สูง ไทยเป็นฐานการผลิตในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น อุตสาหกรมการผลิตรถยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ในขณะยุค 3.0 เป็นยุคที่เข้าสู่ดิจิทัลอินเทอร์เน็ต เกิดการไหลเวียนของเงินทุน ประเทศไหนสร้างความได้เปรียบจากการเติบโตแบบ dynamic growth ผ่านการลงทุนก็จะสร้างความได้เปรียบจากการเติบโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งเป็นจุดที่ประเทศไทยเริ่มติดหล่ม ในการก้าวสู่สังคมความรู้และเทคโนโลยี จนถึงทุกวันนี้ที่อยู่ในยุค 4.0 ซึ่งเป็นยุคดาต้า เทคโนโลยี และนวัตกรรมเต็มตัว และการสร้างคนที่มีความเชี่ยวชาญใหม่ 4.0 และดึงดูดการลงทุน ซึ่งประเทศไทยมีประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพและมีความพร้อมไม่แพ้ประเทศไทย

ดังนั้น ฉากทัศน์ใหม่ของประเทศไทย นอกจากจะพัฒนาตัวเองแล้ว เรายังต้องมองว่า เราจะแข่งกับเพื่อนบ้าน หรือจะโตไปด้วยกัน ทำให้ภูมิภาคอาเซียนเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจใหม่

ในระดับองค์กร เราได้ศึกษาจากโลกตะวันตกถึงการสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ แต่ในฝั่งตะวันออก การทำธุรกิจคือการถ้อยทีถ้อยอาศัย การเติบโตไปพร้อมๆ กัน การเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ ต้องมองให้ครบห่วงโซ่คุณค่า หากเราเปลี่ยนแปลงทัน คู่ค้าเราเปลี่ยนแปลงไม่ทันก็เกิดปัญหา ดังนั้น การปรับตัวขององค์กรในยุคนี้จึงได้พูดถึงเรื่องของความยั่งยืน คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม และมองให้ครบมิติ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และหากทำสำเร็จแล้ว พรุ่งนี้สิ่งที่เราเคยทำสำเร็จอาจไม่สำเร็จเหมือนเดิมก็ได้ ตามที่คุณธนินท์ เจียรวนนท์ เคยพูดไว้ในหนังสือว่า “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว”

ดังนั้น สัจจธรรม แชมป์ในวันนี้ก็อาจไม่ได้เป็นแชมป์ในวันพรุ่งนี้ มันอาจมีคนมาล้มแชมป์ได้ทุกวัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องปรับตัวตลอดเวลา

“โต้คลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลง”

สิ่งที่เห็น คือ จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง ในหลายครั้งที่คนเก่ง พอไปอยู่ในระบบที่ไม่เอื้อด้วยขั้นตอนที่ซับซ้อน กฎระเบียบมากมาย ทำให้เรามักจะมีความคิดว่ามันเปลี่ยนไม่ได้หรอก หรือเคยลองมาแล้วไม่สำเร็จ ทำให้ด่านแรกที่สำคัญคือ กรอบความคิด mindset หรือ ทัศนคติ หมายถึง เราเห็น และเรามี mindset ที่ถูกต้องหรือเปล่า? สิ่งที่เห็น คือ จุดเริ่มต้นว่าเรามองตัวเราเป็นอย่างไร? และเราเห็นบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลกหรือไม่ เราเห็นภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) เราเห็นมิติระดับโลกหรือไม่? การเคลื่อนย้าย หรือ flow ของสิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ไม่ว่าจะเป็น flow ของคนเก่ง flow ของการลงทุน flow ของ leader ของโลกก็กำลังเปลี่ยนจากซีกโลกตะวันตกมาสู่ซีกโลกตะวันออก

ดังนั้น คนที่มองเห็น และมีกรอบความคิด mindset ที่ถูกต้องจะสามารถปรับตัวได้ วางตำแหน่ง (positioning) ของตนเองได้ในจุดที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกมาสู่คลื่นแห่งยุคปัจจุบัน หลายประเทศปรับฮวงจุ้ยของประเทศตนเอง สร้างจุดขายเพื่อดึงดูดนักลงทุน เอาธุรกิจ 4.0 มาสร้าง GDP ให้กับประเทศ สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างโครงสร้างพื้นฐาน แต่ประเทศจะมีอะไรไปดึงดูดจะต้องมีเรื่องราว ให้คนเชื่อว่ามาลงทุนในประเทศไทยนั้นถูกต้อง ประเทศไทยมีความพร้อม และจะเป็น HUB ของเทคโนโลยีในระดับภูมิภาคได้

หนึ่งในเรื่องราวของประเทศไทย ที่พอจะดึงดูดนักลงทุนได้คือ โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นฮวงจุ้ยใหม่ เป็นอนาคตของประเทศที่จะดึงเม็ดเงินลงทุน ทรัพยากร บุคลากรเก่งๆ จากต่างประเทศ มาสร้างเกิดเป็นธุรกิจใหม่ สร้างต้นไม้เล็ก กลาง ใหญ่ และต้องทำให้ต้นไม้ทุกต้นเติบโตอยู่ร่วมกันได้ ออกดอกออกผล และสร้างผลประโยชน์ให้เศรษฐกิจประเทศไทย หรือ GDP ให้เติบโต ซึ่งต้องทำให้เป็นรูปธรรม และต้องออกไปเชิญชวนนักลงทุน เพราะยุคนี้กางมุ้งรออยู่ในบ้านให้เขามาเคาะประตูคงหมดยุคแล้ว

ทุกประเทศจึงพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับบริบทใหม่ของโลก และออกไปแย่งธุรกิจใหม่ คนเก่งในยุคใหม่ มาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงตลาดใหม่ของโลก จึงไม่ได้จำกัดเพียงในระดับประเทศแต่ต้องมองให้ใหญ่ไปถึงระดับภูมิภาคและระดับโลก

นอกจากเรื่องของเทคโนโลยีแล้ว สิ่งที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือ คน เราจะทำให้คนในองค์กรพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร? เราจะมีคนรุ่นใหม่มาเติมขีดความสามารถใหม่อย่างไรให้เพียงพอ? เราจะดูแลคนรุ่นก่อนที่ปรับตัวได้ และไม่ได้อย่างไร คำถามเหล่านี้จะมีความสำคัญ

เราจะ upskill, reskill คนในองค์กรของเราอย่างไร?

เราจะ digital transformation องค์กรอย่างไร?

เราจะ ดึงดูดคนเก่ง หรือ talent ได้อย่างไร?

เราจะ mix generation ของคนในองค์กรได้อย่างไร?

ที่สำคัญ เราจะพัฒนาประเทศไทยของเราให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของเอเชีย (hub of Asia) ได้อย่างไร

การจะเป็น hub หรือศูนย์กลางเศรษฐกิจ ไม่ว่าในระดับภูมิภาคหรือระดับโลก เราต้องมีแม่เหล็กเพื่อดึงดูด เราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง เปลี่ยนความคิด เปลี่ยนการกระทำ อย่างไรบ้าง เพื่อดึงเม็ดเงิน ดึงการลงทุน ดึงคนเก่งเข้ามาสร้างการเติบโต สร้างอนาคตให้กับประเทศไทยของเรา

กุญแจ 9 ดอก… นำประเทศไทยสู่การเป็น Hub of Asia

ประเทศไทยต้องทำอะไรบ้างถึงจะเติบโตไปได้อีก 20 ปี ประเทศไทยต้องสร้างเครื่องจักรเศรษฐกิจใหม่ เพราะในสภาพแวดล้อมใหม่ในการแข่งขัน ประเทศไทยต้องขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี คน และสังคมที่มีความพร้อม กฎ กติกาโลกที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ประเทศไทยต้องคิดใหม่ ทำใหม่ ไทยต้องปลดล็อกตัวเอง ด้วย “กุญแจ 9 ดอก” เพื่อนำประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางในระดับภูมิภาค hub of Asia ทั้งด้านของการเป็นฮับของอุตสาหกรรม 4.0 เป็นฮับของเทคโนโลยี เป็นฮับของการขนส่ง โลจิสติก การเป็นฮับของการเงิน และเป็นฮับด้านการศึกษาในระดับภูมิภาค ซึ่งหากฟังดูแล้วอาจมองว่าประเทศไทยจะทำได้หรือ? ทำให้ต้องกลับมามองว่า ที่เราคิดว่าประเทศไทยทำไม่ได้ หรือจะเป็นแค่กรอบความคิดที่เราคิดไปเองว่าทำไม่ได้ แต่จริง ๆ แล้วประเทศไทยมีความพร้อมทั้งตำแหน่งที่ตั้ง วัฒนธรรมไทย ภูมิประเทศ และคนไทยที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก

  • กุญแจดอกที่ 1 แรงงงานทักษะสูง มีสิทธิประโยชน์ที่ดีกว่าประเทศอื่น

ด้วยเป้าหมายที่ไทยต้องการพัฒนาเป็นประเทศ 4.0 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี ดังนั้น คนเก่งจึงเป็นหัวใจสำคัญของโจทย์นี้ เราต้องการคนเก่งด้านเทคโนโลยี คนเก่งมาทำสตาร์ทอัปไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน หากไทยจะสร้างเองก็ไม่ทัน ทั้งลงทุนสูง คนเก่งหนึ่งคนใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท การดึงคนเก่งในด้านที่ประเทศไทยผลิตผู้ชำนาญการทัน ก็นำเข้าธุรกิจใหม่ๆ 4.0 ที่เราทำไม่เป็น เราก็ดึงดูดธุรกิจเทคโนโลยีเข้ามาคนไทยก็เก่งไปด้วย แต่ทั้งนี้จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายและสิทธิประโยชน์ และวีซ่า ที่ต้องดีกว่าและง่ายกว่า เพื่อดึงคนเก่งจากต่างประเทศเข้ามาชดเชยแรงงานทักษะสูงซึ่งไทยกำลังขาดแคลน และคนไทยก็จะเก่งตามไปด้วย เหมือนฟุตบอลไทยลีกที่พอมีนักเตะต่างชาติ นักเตะไทยก็เก่งตามไปด้วยนั่นเอง

  • กุญแจดอกที่ 2 กลุ่มแรงงานทักษะต่ำ และแรงงานต่างด้าว

การขยายตัวของอุตสาหกรรม ความต้องการแรงงานจากต่างประเทศของไทย มีเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากโครงสร้างประชากรไทยซึ่งกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรเร่งดำเนินแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน และยั่งยืน ทำให้แรงงานจากเพื่อนบ้านมาทำงานอย่างภาคภูมิ ไม่ต้องหลบซ่อน ตัดตัวกลาง ลดปัญหาแรงงานเถื่อน ก็จะทำให้แก้เรื่องสิทธิมนุษยชนไปด้วย เพราะจะเป็นกฎ กติกาของโลก ซึ่งมีหลายสิ่งที่ไทยควรทำอย่างจริงจัง เช่น

1. การทำฐานข้อมูลแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้อยู่ในสารบบที่ถูกต้อง และออกแบบให้สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ เช่น การสร้างโอกาสในการจับคู่งานระหว่างผู้ประกอบการและแรงงานข้ามชาติ เพื่อเพิ่มความเร็ว และหลีกเลี่ยงการติดต่อระหว่างนายจ้างกับนายหน้า เพื่อป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์

2. การลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายในการนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ และทุกขั้นตอนต้องโปร่งใส ใช้เวลาน้อยกว่า 15 วัน เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อทำการยืนยันตัวตน การขึ้นทะเบียนแรงงาน พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนขั้นตอนในการยืนยันตัวตนให้เป็นระบบออนไลน์ เพื่อเพิ่มความสะดวก ความรวดเร็ว และลดค่าใช้จ่าย

3. การจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (one stop service) ในประเทศแรงงงานต้นทาง และผลักดันการนำเข้าแรงงานให้ถูกกฎหมาย ผ่านบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐต่อรัฐ เพื่อให้สามารถลดระยะเวลาและขั้นตอนได้ทั้ง 2 ฝั่ง เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ปัญหาการค้ามุนษย์ รวมถึงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

4. การจัดสร้างพื้นที่เศรษฐกิจใหม่เป็นเขตเศรษฐกิจแรงงานราคาถูก เพื่อดึงดูดทั้งนายจ้างและแรงงานต่างด้าวมาลงทะเบียนอย่างถูกต้องตามฎหมาย

5. การปรับปรุงข้อกำหนดการพิจารณาการออกใบอนุญาตให้สอดคล้องกับประเภทงานตามหลักอุปสงค์และอุปทานตลาดแรงงาน เช่น การผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติสามารถทำงานที่เป็นข้อบังคับให้เฉพาะคนไทย แต่คนไทยไม่นิยม

  • กุญแจดอกที่ 3 การพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (smart grid)

หลายประเทศ เวลาต้องการย้ายฐานการผลิต จะตั้งคำถามว่า ประเทศนั้นมีพลังงานสะอาดหรือไม่ และเปิดโอกาสให้เอกชนผลิตพลังงานสะอาดมากน้อยเพียงใด ดังนั้น ไทยต้องเร่งดำเนินนโยบายการเปิดเสรีพลังงานสะอาด เพื่อให้เอกชนเข้ามาลงทุน และบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ (net zero) ตามข้อตกลงในภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP 26) ซึ่งจะเป็นปัจจัยดึงดูดนักลงทุนที่สำคัญเข้าสู่ไทย ควบคู่ไปกับแผนแม่บทพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ

  • กุญแจดอกที่ 4 การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

คงไม่มีใครอยากมาลงทุนในไทย หากยังมีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เราอยากจะเป็นประเทศ creative economy ประเทศไทย เริ่มเห็นความสำคัญของ soft power ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองสิทธิทางปัญหา และการให้บริการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยเพิ่มความคล่องตัวและรวดเร็วขึ้น ปัญหาขั้นพื้นฐาน เช่น การเพิ่มบุคลากร ผู้ตรวจสอบสิทธิบัตร และการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ยื่นขอจดทะเบียน

ลดขั้นตอนการตรวจสอบที่ซ้ำซ้อนและกินระยะเวลายาวนาน จากปัจจุบันการขึ้นทะเบียนคุ้มครองสิทธิทางปัญญาใช้เวลาการอนุมัตินานถึง 5 ปี การอนุมัติสิทธิบัตรออกแบบผลิตภัณฑ์ 2-4 ปี และอนุสิทธิบัตรใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี กระทบขีดความสามารถการแข่งขันของไทยบนเวทีโลก

ทั้งนี้ ข้อมูลของสถาบัน International Institute for Management Development (IMD) พบว่า ในปี 2563 การยื่นขอสิทธิบัตรภายในประเทศของไทยอยู่อันดับที่ 54 จาก 63 ประเทศ โดยมีจำนวนคำขอจดสิทธิบัตรเพียง 2.5 คำขอต่อจำนวนประชากร 100,000 คน เทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน มาเลเซียอยู่ที่ 6 คำขอต่อประชากร 100,000 คน และสิงคโปร์อยู่ที่ 131 คำขอต่อประชากร 100,000 คน รวมทั้งรัฐบาลจะต้องเร่งปราบปรามการละเมิดลิขสิทธ์ทุกรูปแบบ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ธุรกิจ เรื่องนี้ต้องทำอย่างจริงจัง

  • กุญแจดอกที่ 5 การขอสิทธิประโยชน์การลงทุนแบบ one stop service

ประเทศไทยมักมีนโยบายออกมาเป็นชิ้นๆ และมีความซับซ้อน ความง่ายในการทำธุรกิจ (ease of doing business) คือ ปัจจัยหลักในการเลือกประเทศที่จะไปลงทุน ดังนั้น ภาครัฐต้องเร่งทำนโยบายการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ หรือ one stop service อำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนในการขอสิทธิประโยชน์การลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้สามารถรับบริการ ณ ที่แห่งเดียวจะล้าสมัยไปแล้ว ซึ่งสะดวกในอดีตแต่ยังสู้บริการจุดเดียวแบบยืดหยุ่นของประเทศคู่แข่งไม่ได้ ในประเทศไทย ปัจจุบันการขอสิทธิประโยชน์ต้องใช้ระยะเวลายาวนานถึง 40-90 วัน หรือมากกว่านั้น และไม่ยืดหยุ่น

ประเทศไทยต้องเลือกเลยว่าจะออกไปเชิญชวนใครมาลงทุน แต่หากมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข หรือกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ก็ต้องใช้มีวิธีการที่รวดเร็วในการขออนุมัติ กระบวนการที่ขาดความต่อเนื่อง และไม่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุน กลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขว้างการพัฒนาประเทศ เพื่อการประหยัดเวลา และลดต้นทุนการเดินทาง ขณะเดียวกันควรนำระบบการบริการภาครัฐผ่านช่องทางออนไลน์มาใช้ หากประเทศไทยทำสำเร็จจะทำให้มีคนอยากมาลงทุนในประเทศไทยอีกมาก

  • กุญแจดอกที่ 6 การผนึกกำลังของทูตพาณิชย์ เชิญชวนบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ 100 อันดับแรกของโลกลงทุนไทย

เหมือนประเทศอิสราเอลหรือสิงคโปร์ ที่ทูตเป็นเหมือนเซลส์ของประเทศ ที่หาตลาดในต่างประเทศให้ธุรกิจไทย หากไทยจัดตั้งทีมเฉพาะกิจ ช่วยธุรกิจไทยในการขยายตลาดไปต่างประเทศ ในขณะเดียวกันเชิญชวนธุรกิจต่างประเทศมาลงทุนในประเทศไทย ต้องมีการเลือกบริษัทต่างชาติชั้นนำด้านเทคโนโลยี 100 อันดับแรกของโลกที่ไทยอยากดึงเขาเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และต้องออกไปเชิญชวน มีข้อเสนอแบบ “วัดตัวตัดสูท” ยืดหยุ่นตรงใจ เช่นเดียวกับประเทศเดนมาร์ก รวมทั้งการออกนโยบายจูงใจแบบยึดหยุ่น เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์การลงทุนด้านต่างๆ เช่นเดียวกับประเทศเลบานอน ให้สิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับข้อตกลงการลงทุนแบบแพกเกจ หรือการลงทุนขนาดใหญ่ ขณะที่อินโดนีเซีย ประกาศนโยบายภาษีแบบยืดหยุ่น และจัดทำมาตรการจัดทำโครงการชดเชยคาร์บอน เพื่อดึงดูดการลงทุน เป็นต้น

  • กุญแจดอกที่ 7 การขยายผลอีอีซีสู่เขตเศรษฐกิจภูมิภาคทั่วประเทศ

หากประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางภูมิภาคต้องเชื่อมโยงเพื่อนบ้านให้ได้ สร้างระบบโลจิสติกส์ สนับสนุนการจัดตั้งระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภูมิภาค ถึงแม้ว่ารัฐจะได้มีการศึกษาไปบ้างแล้ว เช่น ภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี และหนองคาย ภาคกลาง-ตะวันตก ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี และภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช แต่การผลักดันให้เกิดขึ้นจริงควรมีแผนที่เป็นรูปธรรม ยิ่งเวลาผ่านไป ประเทศไทยยิ่งเสียโอกาส

เมื่อเกิดระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค จะเป็นโครงข่ายที่สำคัญเชื่อมต่อกับอีอีซี ซึ่งถูกวางให้เป็นศูนย์กลางลงทุนอาเซียน สร้างความน่าสนใจและดึงดูดการลงทุนสู่ประเทศได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งยังเป็นการเปิดสู่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเชื่อมต่อโครงการรถไฟจีน-ลาวมาถึงเวียงจันทน์ ซึ่งมีชายแดนติดกับจังหวัดหนองคาย ส่งผลต่อมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ในอนาคต เมื่อโครงการรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเฉียงเหนือของไทยแล้วเสร็จ จะส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว นำนักท่องเที่ยวจากจีน และลาวมายังอีอีซีด้วยรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน

  • กุญแจ ดอกที่ 8 การให้วีซ่าระยะยาว long – term resident visa (LTR Visa)

เศรษฐกิจสร้างด้วยคน อเมริกาใหญ่กว่าไทยหลายเท่า ก็ยังไม่หยุดการดึงดูดคนเก่งไปอยู่ในอเมริกา บริษัทชั้นนำด้านดิจิทัลในประเทศสหรัฐอเมริกามีคนต่างชาติทำงานมากมาย เป็นการเอาสมองของคนทั่วโลกไปเป็นมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น ประเทศไทยควรนำแนวคิดของอเมริการและสิงคโปร์ในการดึงดูดคนเก่งมาอยู่ มาสร้างงาน มาสร้างเศรษฐกิจ โดยเบื้องต้นต้องสร้างการเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านวีซ่าระยะยาวแก่ชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง 4 กลุ่ม

เชิญเขามาอยู่แบบภาคภูมิใจ มิใช่การดูแลแบบไม่อบอุ่น ควรยกเลิกการรายงานตัวทุก 1 ปี ใช้วิธีใครทำผิดก็ยกเลิกวีซ่า แต่ไม่จำเป็นต้องให้ชาวต่างชาติทุกคนมารายงานตัว เพราะเป็นกระบวนการที่ล้าสมัย

นอกจากนี้ ควรปลดล็อกผู้ที่ถือวีซ่าระยะยาว ไม่ต้องเข้าเกณฑ์การจ้างงาน 4 ต่อ 1 คือ จ้างคนไทย 4 คนต่อชาวต่างชาติ 1 คน เพราะงานบางประเภทการสร้างเงื่อนไขเช่นนี้จะเป็นอุปสรรค หากแก้ไขได้จะเป็นการลดภาระให้แก่นายจ้าง นอกจากนี้ ผู้ถือวีซ่าระยะยาวสามารถนำผู้ติดตามเข้ามาได้ และยังให้สิทธิถือครองที่ดินได้ ทั้งนี้ เพื่อใช้ดึงดูดและสร้างแรงจูงใจกลุ่มชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย

  • กุญแจดอกที่ 9 รัฐบาลควรการจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุน (matching fund)

ประเทศไทย ควรมีธุรกิจดิจิทัล สตาร์ทอัป เกิดขึ้นใหม่เยอะๆ และธุรกิจใหม่ๆ ก็มีความเสี่ยงสูง ดังนั้น การดึงดูดนักลงทุนมาลงทุนในสตาร์ทอัปไทย รัฐควรช่วยลดความเสี่ยง และช่วยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัปในประเทศ โดยสร้างกองทุน matching fund ให้กับ VC ที่ได้รับการยอมรับ หาก VC ที่ขึ้นทะเบียนเหล่านี้ลงทุนกับบริษัทสตาร์ทอัปใดรัฐก็ลงด้วยเลยอัตโนมัติ รัฐสมทบเงินลงทุนในสัดส่วนที่เท่าๆ กันของเอกชนผู้เข้ามาร่วมลงทุนดังกล่าวด้วย และภายหลังรัฐบาลอาจจะพิจารณาเปลี่ยนซอฟต์โลนเป็นหุ้น หรือขายให้กับนักลงทุนรายอื่นที่สนใจ กรณีนี้จะช่วยให้นักลงทุนมีความมั่นใจในการร่วมลงทุน ส่วนภาครัฐก็ลดความเสี่ยงในการคัดกรองการลงทุน แนวทางนี้ก็จะช่วยส่งเสริมสตาร์ทอัปไทยให้แข็งแกร่ง และเกิดผู้ประกอบการรุ่นใหม่เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เป็นการเร่งการเติบโตนักรบทางเศรษฐกิจใหม่

ทั้งหมดนี้เป็นกุญแจ 9 ดอก ที่อยากเห็นประเทศไทยขับเคลื่อนด้วยความรวดเร็ว ไม่ตกขบวนภูมิทัศน์และบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไปทุกขณะ ในขณะที่การเติบโตของประเทศเพื่อนบ้าน ไม่คอยท่า ประเทศไทยควรเติบโตไปคู่กับประเทศอื่นๆ แบบพึ่งพา พันธมิตร และเชื่อมโยงเศรษฐกิจ ทำให้ภูมิภาคอาเซียนเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในภาพรวม ภาพประเทศไทยที่อยากเห็น ด้วยกุญแจ 9 ดอกนี้ เป็นสิ่งที่ต้องทำวันนี้ จึงจะเห็นผลในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และแน่นอนว่าเมื่อมีโจทย์ใหม่เข้ามา กลยุทธ์และวิธีรับมือก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปเพื่อประสิทธิผลที่สมบูรณ์กว่า แต่สิ่งสำคัญคือการไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ ควบคู่กับการพัฒนาให้ทันยุคสมัย ผู้นำต้องเป็นผู้เห็นก่อน เข้าใจก่อน และปรับตัวให้ทัน เพื่อนำเศรษฐกิจไทยโต้คลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้นได้อย่างยั่งยืน

สนับสนุนซี่รี่ส์ “สิ่งที่เห็นและอยากให้ ‘ประเทศไทย’ เป็น จะต้องทำอย่างไร?

โดย…