ภาพโดย Tumisu, จาก Pixabay
บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป เปิดผลสำรวจผู้นำ 50 องค์กรชั้นนำของประเทศไทย ที่อยู่ในระบบนิเวศผู้นำองค์กร (Ecosystem Leadership) ช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 “THE Q1/2022 SLINGSHOT TOP 50 CEOS SURVEY” โดยประเด็นสำคัญคือ “อะไรคือสิ่งที่ CEO คาดหวังในปี 2565” ซึ่งรายงานได้ระบุสิ่งที่ CEO เห็นว่าเป็นเทรนด์หลักทั้งหมดเกี่ยวกับ “กลยุทธ์เรื่องการบริหารคนและองค์กร” ที่ผู้นำองค์กรและผู้เชี่ยวชาญในเมืองไทยควรคำนึงถึงในปี 2565 ภายใต้การดำเนินธุรกิจที่ยังมีภัยคุกคาม ความไม่แน่นอนและความตึงเครียดมากมาย ทั้งสงคราม ต้นทุนที่สูงขึ้น ความท้าทายทางด้านซัปพลายเชน และตลาดแรงงานที่กำลังร้อนแรง
ดร. สุทธิโสพรรณ ช่วยวงศ์ญาติ หุ้นส่วนและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มสลิงชอท เปิดเผยว่า ภายใต้การต่อสู้เพื่อให้ธุรกิจรอดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการมองมนุษย์เป็นศูนย์กลางมากขึ้น ด้วยการเอาใจใส่ ดูแลความเป็นอยู่ที่ดีในการทำงาน และสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ ได้รู้จักคุณค่าที่แท้จริงของเทคโนโลยีดิจิทัลที่ไม่เป็นเพียงเทรนด์ แต่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับบุคลากร ทีมงาน องค์กร ลูกค้าและสังคม ซึ่งผู้นำหลายองค์กรพบว่าบริบทการบริหารหลังจากนี้เปลี่ยนไปอย่างแน่นอน และวิกฤตโรคระบาดเป็นเพียงสนามซ้อมใหญ่ ที่ต่อไปนี้การบริหารบนความไม่แน่นอนจะกลายเป็นความปกติใหม่ ดังนั้น ช่วงเวลานี้คือ รอยต่อสำคัญที่ต้องเริ่มกลับมาทบทวนกลยุทธ์อย่างจริงจัง ผ่านการถอดบทเรียนที่ผ่านมา กับการอยู่ให้ชนะอย่างยั่งยืนบนความไม่แน่นอนในอนาคต
จากผลสำรวจ CEO พบ 7 เทรนด์สำคัญ ด้าน “กลยุทธ์เรื่องการบริหารคนและองค์กรที่ผู้นำและผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทยควรคำนึงในปี 2565 ดังนี้
1. เศรษฐกิจจะเติบโตด้วยกำลังและทักษะแรงงานที่จำกัด
ผลสำรวจ 51% ของ CEO คาดว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะดีขึ้น แต่ยังมีความท้าทายภายใต้ปัญหาการบริหารบนความไม่แน่นอน การฟื้นตัวในแต่ละอุตสาหกรรมไม่เท่ากัน และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ยิ่งกว่านั้น ยังต้องเผชิญกับความท้าทายด้านต้นทุนที่สูงขึ้น ภายใต้ข้อจำกัดด้านแรงงาน ซึ่งการบริหารธุรกิจบนความไม่แน่นอน ส่งผลให้ธุรกิจต้องการแรงงานที่มีทักษะขั้นสูงและมีทักษะหลากหลาย (Multi-skill) ซึ่งไม่ได้หาง่ายและสร้างไม่ทัน ทำให้เกิดการแย่งแรงงานและซื้อตัวแรงงานที่มีฝีมือข้ามอุตสาหกรรม
2. ยุทธศาสตร์ที่ผู้นำต้องโฟกัสจริงจัง คือ “ทรานส์ฟอร์มองค์กรให้สำเร็จเสียที”
ผลสำรวจพบว่า 47% ของ CEO ชัดเจนกับเป้าหมายหลักในการนำเทคโนโลยีมาช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง บทเรียนที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าองค์กรต้องใช้คนน้อยลงบนเงื่อนไขที่ประสิทธิภาพประสิทธิผลไม่กระทบ ดังนั้น จุดโฟกัสเรื่องทรานส์ฟอร์มต่อจากนี้ไปคือ “การสร้างองค์กรให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล” ซึ่งต้องทำทั้งกระบวนการ ทั้งนี้ การสรรหาและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถและมีทักษะที่จำเป็นต่ออนาคตขององค์กร จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญที่ช่วยให้การทรานส์ฟอร์มประสบผลสำเร็จ
3. การทำงานแบบไฮบริดจะกลายเป็นวิธีการทำงานหลัก แต่ผู้นำหลายคนยังคาดหวังให้คนกลับมาสำนักงาน
CEO ทั้งหมดเชื่อว่าการทำงานแบบไฮบริดได้กลายเป็นวิธีการทำงานหลักที่เป็นที่ยอมรับ แต่ในเชิงลึกผู้นำหลายคนยังคาดหวังให้คนมาที่ออฟฟิศ ภายใต้การสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่เตรียมความพร้อมสำหรับการทำงานแบบไฮบริด เน้นยืดหยุ่น ปรับตัวทันในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน เพื่อให้คนปรับแผนการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกประเด็นที่กลุ่ม CEO ให้ความสนใจคือ การสร้างความพร้อมทางเทคโนโลยี ไม่ตกเทรนด์กับเครื่องมือใหม่ ๆ
4. การสร้างประสบการณ์ให้พนักงาน (Employee Experience) จะเป็นตัวขับเคลื่อนการทำงานแบบไฮบริดให้สำเร็จ
Employee Experience ถือเป็นหัวข้อที่มีความซับซ้อน เพราะครอบคลุมหลายเรื่อง โดยผลสำรวจพบว่า 30% ของ CEO มองว่า การเห็นคุณค่าของงานที่ทำ (Meaningful Work) เป็นสิ่งที่สร้างประสบการณ์ที่สำคัญให้กับพนักงาน
5. กลยุทธ์เรื่อง “คน” จะถูกทบทวนครั้งใหญ่อีกครั้ง และธุรกิจยังถูกขับเคลื่อน โดย “คน” เป็นหลัก
แม้เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทสำคัญ แต่ CEO ถึง 70% มองว่าไม่มีทางจะแทนคนได้ทั้งหมด กลยุทธ์สำคัญยังถูกขับเคลื่อนด้วย “คน” และ “คนเป็นเป้าหมายของธุรกิจ” ซึ่งหนึ่งในปัญหาด้าน “คน” ที่ร้อนแรงที่สุดคือ เรื่อง Power Skills ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นทำให้ทุกคนต้องสามารถเป็นผู้นำ ตัดสินใจได้เองอย่างมีกลยุทธ์ รวมถึงทำงานเป็นทีม สื่อสาร เล่าเรื่องเป็น ซึ่งทักษะเหล่านี้คือสิ่งที่ทรงพลังและยั่งยืนในธุรกิจ
6. People Analytic จะถูกใช้ในทุกแง่มุมของธุรกิจ
ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ได้มีการปรับเอาเทคโนโลยีและการขับเคลื่อนด้วยข้อมูลมาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ดี ข้อมูลด้านคน (People Analytic) กลับถูกมองว่าล้าหลังในการใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์และตัดสินใจ ซึ่งในปี 2565 เป็นปีที่ CEO อยากเห็นการมุ่งเน้นที่จะทำให้เกิดประโยชน์จากข้อมูลเกี่ยวกับคนเกิดขึ้นจริง
7. Diversity and Inclusion ยังเป็นจุดบอดในองค์กรและสังคมไทย
CEO ถึง 49 คนจาก 50 คน เชื่อว่าองค์กรทำเรื่องความหลากหลายเท่าเทียมและการมีส่วนร่วมในองค์กร (Diversity and Inclusion) ได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อเจาะลึกพบว่า 99% ทำเรื่องนี้อยู่ในระดับผิว ๆ เท่านั้น โดยมาจากเหตุผลหลัก ๆ คือ มองว่าองค์กรไม่ได้มีปัญหาในเรื่องนี้ และเชื่อว่าได้ดูแลพนักงานทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งหากไม่ปรับปรุงในอนาคตปัญหานี้จะกลายเป็นปัญหาของสังคมในที่สุด
“ช่วง 3 ไตรมาสหลังจากนี้ มีความท้าทายใหม่รออยู่ เราหวังว่ารายงานเทรนด์เหล่านี้จะให้ข้อมูลเชิงลึกและมุมมองในการรักษาทีม ในปีนี้ถือเป็นรอยต่อสำคัญที่องค์กรต้องหันมาให้ความสำคัญกับปัจจัยภายในที่ถูกละเลย ซึ่งการทบทวนกลยุทธ์ด้านคนและเทคโนโลยีคือ สิ่งที่องค์กรต้องทำในการทำ Transformation โดยทักษะความเป็นผู้นำที่เป็น Power Skills ยิ่งทวีความสำคัญ และการให้ความสำคัญกับ Employee Experience กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการทำงานแบบไฮบริด รวมทั้งธุรกิจจะใช้ People Analytic เพื่อการตัดสินใจในทุกด้านของธุรกิจ สิ่งเหล่านี้จะเป็นการปรับตัวขององค์กรในการรับมือความท้าทายครั้งต่อไป” ดร. สุทธิโสพรรณ กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา Marketeer